สจล. ปั้นวิศวกรรับยานยนต์ไฟฟ้า

สจล. ปั้นวิศวกรรับยานยนต์ไฟฟ้า

ผู้ผลิตไมโครอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ขยายฐานเข้าไทย สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบายการส่งเสริมของรัฐบาล เผยจับมือ สจล.ตั้งศูนย์ถ่ายทอดความรู้ด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ให้กับคณาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษา

รศ.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยถึงความร่วมมือจัดตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์” (KIAEC) กับบริษัทอินฟิเนียน เทคโนโลยีส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำสำหรับยานยนต์ เพื่อสร้างงานวิจัยด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะครบถ้วน รองรับการพัฒนารถยนต์ประหยัดพลังงานและรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยานยนต์ยุคหน้า ภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้วยไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล


ด้านนายแอนโตนีโอ โมเน็ตติ ผู้อำนวยการการตลาด แผนกยานยนต์ และผู้อำนวยการส่วนการพัฒนาธุรกิจประเทศไทย บริษัทอินฟิเนียน เทคโนโลยีส์ฯ กล่าวว่า ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ทั้งปิกอัพ รถยนต์โดยสารและจักรยานยนต์ นับเป็นโอกาสถึงสองชั้นทั้งในเรื่องการจำหน่ายภายในประเทศ และยังเป็นฐานในการสรรหาวัตถุดิบ (Sourcing Base) เพื่อการส่งออก
“อิเล็กทรอนิกส์จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อมองประเทศไทยที่รัฐบาลเดินหน้าอย่างเต็มที่ โดยกำหนดยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์เป็น 1 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคตหรือ New S-Curves จึงควรเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากรและระบบนิเวศวิจัย” นายแอนโตนีโอกล่าว


ประเทศไทยมีศักยภาพสำหรับการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากรด้านนี้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา ขณะที่ความร่วมมือที่มีทั้งภาครัฐและภาคการศึกษา ทางอินฟิเนียนฯ มุ่งหวังที่จะพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างวิศวกรคนรุ่นใหม่ด้านยานยนต์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต่อยอดความร่วมมือระหว่างกันต่อไป


สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ บริษัทจะสนับสนุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้ให้กับทีมฝึกอบรมของคณะฯ มีเป้าหมายที่จะช่วยให้ไทยสามารถพัฒนา ผลิตและประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าได้ภายในปี 2564 เริ่มจากเฟสแรก ส.ค.ที่จะถึงนี้ จะนำเสนอเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และไมโครคอนโทรลเลอร์ เพื่อให้นักศึกษามีความคุ้นเคย นอกจากรายวิชาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กำลัง ซึ่งเป็นพื้นฐานของอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์


ส่วนเฟส 2 ปลายปี 2560 บุคลากรทั้งสองฝ่ายทั้งอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาได้ปฏิบัติการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งทำมินิโปรเจคหรือร่วมวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์เพื่อยานยนต์ โดยบริษัทจะสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับเฟส 3 จะเปิดรับภาคเอกชนเข้ามาร่วมวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านอิเล็กทรอนิกส์เพื่อยานยนต์ให้ไปถึงขั้นอุตสาหกรรม ขณะที่ศูนย์ฝึกอบรมฯ จะแล้วเสร็จและเปิดบริการได้ในปี 2561 เป็นต้นไป โดยให้การอบรมแก่นักศึกษาหรือวิศวกรจากหน่วยงานภายใน และองค์กรหรือบุคลากรจากภายนอก