Daily Market Outlook (26 มิ.ย.60)

Daily Market Outlook (26 มิ.ย.60)

สัญญาณตลาดโลกดูหลากหลาย

คาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบวันนี้จากสัญญาณตลาดโลกที่ผสมผสานกัน ในระหว่างที่อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำของสหรัฐกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและช่วยลดความกังวลที่เงินทุนจะไหลออกจากเอเชีย แต่ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินในเอเชีย รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อภาคส่งออก พรบ.สาธารณสุขของสหรัฐคาดว่าจะเป็นจุดสนใจหลักในสัปดาห์นี้และสัปดาห์ต่อไป ว่าสมาชิกวุฒิสภาจะอนุมัติกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะกระทบต่อสถานะประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของเขา แม้ราคาน้ำมันจะเด้งกลับเมื่อวันศุกร์ แต่อุปสงค์ที่ลดลงในตลาดผู้นำเข้าหลักในเอเชียอาจส่งผลต่อความพยายามในการฟื้นสมดุลของตลาดน้ำมัน นอกจากนี้ Markitรายงานตัวเลข PMI ของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น เติบโตช้าลงเล็กน้อยในเดือน มิ.ย. ปัจจัยภายในประเทศวันนี้ไม่ค่อยมีผลต่ออารมณ์ตลาดเท่าใดนัก

หุ้นเด่นวันนี้: SCB(ราคาปิด 154.00 บาท; ซื้อ; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 185.00 บาท)

บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหุ้นเด่นในวันนี้จากสินเชื่อของธนาคารที่ปรับตัวดีขึ้นและแนวโน้มที่ดีในอนาคตหนุนโดยเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้น ในเดือน พ.ค. สินเชื่อ SCB เติบโต 0.8% MoM 5.2% YoYและ 1.1% จากสิ้นปี 59 เราคาดตัวเลขดังกล่าวจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งปีหลังและหลังจากนั้น หนุนโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยที่รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวในช่วงระหว่างงาน Thailand’s Big Strategic Move ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมูลค่ากว่า 2.4 ล้านล้านบาทจะถูกเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม. ภายในปีนี้ และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปีหน้า และประมาณ 9 แสนล้านบาทจากมูลค่าทั้งหมดคาดว่าจะเริ่มลงทุนได้ภายในปี 60 นอกจากนั้นแล้ว สภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ซึ่งรวมถึงตัวเลขส่งออกเดือน พ.ค.ที่เติบโต 13.2% YoYเร็วที่สุดในรอบ 4 ปี น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่มธนาคารเช่นกัน รัฐบาลคาดเศรษฐกิจปี 60 จะเติบโตในช่วง 3.3-3.8% ดีขึ้นจาก 3.2% ในปี 59 เราคาดสินเชื่อ SCB จะเติบโต 8% ในปี 60 และ 10% ในปี 61 ในแง่ของคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage ratio) ณ ไตรมาส 1/60 ยังอยู่ในระดับที่ 133.4% สูงกว่าเป้าของธนาคารที่ 130% ทำให้ธนาคารมีแรงกดดันน้อยลงในการตั้งสำรอง เราคาดอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นปี 60 ที่ 14.6% สูงเป็นอันดับสองจากธนาคารทั้งหมด 9 แห่งที่เราศึกษา เราคาดกำไรจะเติบโต 8.1% ในปี 60 และ 8.4% ในปี 61 อีกทั้ง หุ้นดังกล่าวให้อัตราเงินปันผลตอบแทนที่เหมาะสมที่ 3.9% Price Pattern ของ SCB มีแนวโน้มหลักอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) จากการเกิดทั้ง Daily, Weekly, & Monthly Buy Signal โดยเมื่อพิจารณา Price Pattern ของ SCB มีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 155 บาท ซึ่งหาก Price Pattern ของ SCB มีความแข็งแกร่งที่มากพอด้วยการปิดตลาดเหนือ 155 บาท จะมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ 165 บาท ทั้งนี้ SCB มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 153 บาท (Resistance: 154.50, 155.00, 155.50; Support: 153.50, 153.00, 152.50)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• รัฐบาลผ่านนโยบายกองทุนหมู่บ้าน มูลค่ารวม 1.5 หมื่น ลบ. สำหรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยภายใต้แผนประชารัฐ เงินกองทุนจะดึงมาจากงบกลางปีงบประมาณ 60 เพิ่มเติมของรัฐ 1.9 แสน ลบ. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ (Bangkok Post)

• ปล่อยกู้นาโนฯโตสูง 600% เดือนเม.ย. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานยอดให้บริการปล่อยกู้ของบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (นาโนไฟแนนซ์) ล่าสุด ณ สิ้นเดือน เม.ย. 2560 ว่า มีวงเงินปล่อยกู้รวม 2,386 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,045 ล้านบาท หรือ 600% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ ถือว่าเติบโตดีต่อเนื่อง ส่วนจำนวนบัญชีผู้ใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้น 470% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (โพสต์ทูเดย์)

• GL (ราคาปิด 21.30 บาท; ขาย; ราคาเป้าหมายปี 60 ของ AWS 16.00 บาท) ได้รับหลักประกันเพิ่มเติมจากผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์เป็นที่ดิน 2 แปลงและอาคาร 1 หลังมูลค่า 17.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (SET)ความเห็น: จากธุรกรรมนี้ มูลค่าหลักประกันทั้งหมดจากผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ รวมถึงหุ้น GL จะคิดเป็น 148% ของจำนวนเงินให้กู้ยืมแก่ผู้กู้กลุ่มดังกล่าว แต่หากไม่รวมหุ้น GL จำนวนหลักประกันจะคิดเป็นเพียง 79% ของจำนวนเงินกู้ยืมทั้งหมด เรายังคงแนะนำ “ขาย” หุ้น GL

ต่างประเทศ:

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อวันศุกร์ หลังจากนายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค และนายเอริค โรเซนเกรน ประธานเฟดสาขาบอสตันได้ให้ความเห็นหนุนการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด โดยระบุว่าการหยุดการกระชับทางการเงินเป็นการชั่วคราวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้ ความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อในสัปดาห์ก่อนส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 10 ปี เมื่อวันพฤหัส อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างผลตอบแทนพันธบัตรล่าสุดอยู่ที่ 97 bps หลังนจากแบนราบลงอยู่ที่ 95 bps เมื่อวันพฤหัส อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 2.17% จาก 2.15% เมื่อวันพฤหัส (Reuters)

• ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับสกุลเงินหลักเมื่อวันศุกร์ อ่อนค่ามากที่สุดในรอบวันในช่วง 3 สัปดาห์ เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ในปีนี้เนื่องจากข้อมูลเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลง ดัชนีค่าเงินดอลลาร์ลดลง 0.37% อยู่ที่ระดับ 97.232 ถอยจากระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนเมื่อวันอังคาร ส่วนเงินยูโรแข็งค่า 0.45% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐสู่ระดับ 1.1200 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับเงินเยนสู่ระดับ 111.22 เยน (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดผสมผสานเมื่อวันศุกร์ โดยดัชนีดาวโจนส์ปิดลบ ส่วนดัชนี S&P500 และแนสแดคปิดบวกเนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นหลังจากที่ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบหลายเดือนและหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ปรับตัวขึ้นชดเชยกับหุ้นกลุ่มการเงินที่ปรับตัวลง การปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสุขภาพได้จางหายไปเนื่องจากนักลงทุนพยายามจะตีความว่าร่างกฎหมายสุขภาพของพรรครีพับลิกันที่จะทดแทนโอบามาแคร์นั้นจะได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอที่จะผ่านการพิจารณาในสภาหรือไม่ หลังจากมีวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันกล่าวว่าเขาจะไม่สนับสนุนร่างกฎหมายประกันสุขภาพของพรรค (Reuters)

• ภาคเอกชนสหรัฐเติบโตชะลอตัวในเดือนมิ.ย. ภาคเอกชนสหรัฐยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในเดือนมิ.ย. แต่ลดลงจากเดือนพ.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) เบื้องต้นรวมภาคการผลิตและบริการของสหรัฐร่วงลงจากระดับ 53.6 สู่ระดับ 53.0 ในเดือนมิ.ย. ดัชนี PMI เบื้องต้นภาคการผลิตอยู่ที่ระดับ 52.1 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนและลดลงจากที่ระดับ 52.7 ในเดือนพ.ค. ดัชนี PMI เบื้องต้นภาคบริการอยู่ที่ระดับ 53.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนและลดลงจากระดับ 53.6 ในเดือนพ.ค. (IHS Markit)

ยุโรป:

• หุ้นยุโรปปรับตัวลงเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ ฉุดโดยหุ้นกลุ่มการเงิน หุ้นเกี่ยวข้องกับเภสัชกรรม และหุ้นกลุ่มพลังงาน นอกจากนี้ ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังเป็นวันครบรอบ 1 ปีนับตั้งแต่ที่อังกฤษมีการทำประชาพิจารณ์ Brexit (Reuters)

• ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี ถึงแม้ดัชนี Flash Eurozone PMI Composite Output เดือน มิ.ย.จะอยู่ที่ 55.7 จุด (56.8 จุดในเดือน พ.ค.) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และดัชนี Flash Eurozone Services PMI Activity อยู่ที่ 54.7 (56.3 จุดในเดือน พ.ค.) ต่ำสุดในรอบ 5 เดือนเช่นกัน แต่ดัชนี Flash Eurozone Manufacturing PMI Output เดือน มิ.ย.อยู่ที่ 58.5 จุด (58.3 จุดในเดือน พ.ค.) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 74 เดือน และดัชนี Flash Eurozone Manufacturing PMI อยู่ที่ 57.3 จุด (57.0 จุดในเดือน พ.ค.) สูงสุดในรอบ 74 เดือนเช่นกัน (IHS Markit)

เอเชีย:

• ความต้องการพันธบัตรเอเชียกำลังอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือนและดูเหมือนว่าจะยังคงแข็งแกร่งในปีนี้ เนื่องจากผลตอบแทนที่สูงขึ้นของภูมิภาค ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อต่ำสุดในสหรัฐอเมริกา นักลงทุนต่างชาติเทขายพันธบัตรรัฐบาลและเอกชนของเอเชีย 9 พันล้านเหรียญฯ ใน เดือนพ. ค.มากกว่า 8.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. เป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย.59 ความหวังเบื้องต้นคือประธานาธิบดีสหรัฐฯโดนัลด์ ทรัมป์จะยกระดับเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (Reuters)

• การเติบโตของญี่ปุ่นชะลอตัวในเดือนมิถุนายน: PMI ญี่ปุ่นร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือนที่ 52.0 จุดในเดือน มิ.ย. (53.1 ในเดือน พ.ค.) ดัชนีผลผลิต Nikkei Flash Manufacturing Output ออกมาที่ 52.1 (54.0 ในเดือน พ.ค.) ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบ 9 เดือน (IHS Markit)

• จีนและสหรัฐฯ เห็นพ้องกันในความพยายามที่จะทำให้นิวเคลียร์ในคาบสมุทรเกาหลีต้องเป็น "สมบูรณ์ ตรวจสอบได้ และไม่สามารถย้อนกลับได้" สื่อของรัฐจีน Xinhua กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาถึงรายงานผลการเจรจาระดับสูงในวอชิงตันในสัปดาห์นี้(Reuters)

• ความกลัวเพิ่มขึ้น กรณีแผ่นดินถล่มฝังหมู่บ้านภูเขาในมณฑลเสฉวนทางตะวันตกเฉียงใต้ในวันเสาร์ ทำให้ 141 คนสูญหายในประเทศจีน หลังจากที่โดยมีรายงานว่ามีผู้รอดชีวิตเพียงสามรายที่ถูกดึงออกมาจากโคลนและก้อนหินนับจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ (Reuters)


สินค้าโภคภัณฑ์:

• ราคาน้ำมันบวกวันศุกร์ ได้ดอลลาร์ที่อ่อนค่าช่วยหนุน แต่รายสัปดาห์ยังคงเป็นลบเพราะน้ำมันดิบโลกยังล้นเกินแม้ว่า OPEC จะร่วมกันลดกำลังการผลิตก็ตาม น้ำมันดิบเบรนท์บวก 32 เซนต์ (0.7%) ปิดที่ 45.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้าบวก 27 เซนต์ (0.6%) ปิดที่ 43.01 ดอลลาร์สหรัฐบาร์เรล รายสัปดาห์ ราคาน้ำมันอ้างอิงทั้งสองร่วงไป 3.9% โดยอยู่เหนือจุดต่ำสุดรอบ 10 เดือนเพียงเล็กน้อย ราคาน้ำมันเป็นบวกลดลงจากก่อนหน้านี้ เพราะ Baker Hughes ชี้ว่าสหรัฐเพิ่มจำนวนแท่นขุดเจาะอีก 11 แท่นสำหรับสัปดาห์สิ้นสุด 23 มิ.ย. เป็นการเพิ่มรายสัปดาห์มากสุดในรอบสามสัปดาห์ (Reuters)

• ผู้นำเข้าน้ำมันหลักในเอเชียมีความต้องการน้ำมันลดลงทำให้สมดุลราคาน้ำมันยิ่งยาก ปัจจัยลบนี้ได้แก่ น้ำมันในจีนที่ล้นเกิน การเปลี่ยนเงินที่ใช้ในอินเดียที่ยังคงมีผลลบ และสังคมอายุรวมถึงจำนวนประชากรที่ลดลงในญี่ปุ่น ล้วนทำให้ความต้องการน้ำมันในสามประเทศผู้ซื้อน้ำมันหลักลดลงทั้งสิ้น โดยสามประเทศใช้น้ำมันรวมกัน 1 ใน 5 ของการใช้น้ำมันทั้งโลกที่ 97 ล้านบาร์เรลต่อวัน (Reuters)

• ทองคำบวกสูงสุดรอบสัปดาห์วันศุกร์ หนุนโดยดอลลาร์ที่อ่อนค่า เศรษฐกิจที่อ่อนแอ และความไม่แน่นอนทั่วโลก ทองคำตลาดจรบวก 0.44% ปิด 1,255.7 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทองคำสหรัฐล่วงหน้าส่งมอบ ส.ค. บวก 0.6% ปิดที่ 1,256.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทองคำบวกรายสัปดาห์เป็นเปอร์เซ็นต์ครั้งแรกในรอบสามสัปดาห์ (Reuters)