ฟรีและดี มีอยู่จริง ‘พีโอเอส วิชั่น’

ฟรีและดี มีอยู่จริง  ‘พีโอเอส วิชั่น’

เพราะมองว่าโลกกำลังเดินเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ( Cashless society) ดังนั้นโลกของการค้าขายหนีไม่พ้นต้องพึ่งพาเทคโนโลยี

แต่ในความเป็นจริงก็คือมีผู้ประกอบการไทยถึง 90% ยังไม่ได้ใช้และไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยี


นี่คือปัญหาที่ “สิทธิวัจน์ เวชยาพันธุ์” (บอย) ได้พบเจอตลอดเวลาที่เขาเป็นซีอีโอของ อินเตอร์ วิชั่น เป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ ,โมบายแอพ ,ระบบต่างๆ และรวมถึงพัฒนาซอฟท์แวร์อีอาร์พี ให้กับบริษัททั้งขนาดเล็กและใหญ่


ในอีกแง่มุมหนึ่งก็คือ เพราะต้องการ “กระจายความเสี่ยง” ถึงแม้ อินเตอร์ วิชั่นอาจยังไปได้สวย แต่เขาอธิบายว่า ธุรกิจนี้คล้ายคลึงกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง คือเมื่อจบโปรเจ็คหนึ่งก็ต้องไปหาโปรเจ็คใหม่ แน่นอนแต่ละโปรเจ็คสร้างรายได้เป็นเงินก้อนโต ทางตรงข้ามกลับไม่มีอะไรการันตีได้ว่า อนาคตข้างหน้าจะมีโปรเจ็คเข้ามาหรือไม่ ทำให้ในระยะยาวบริษัทเลยอาจไปได้ไม่สวยนัก


"วงการธุรกิจเรากำลังแย่ เพราะแข่งกันที่ราคา ลูกค้าก็ไม่เข้าใจขอเอาราคาถูกไว้ก่อน พอมีปัญหาเขาก็ถึงรู้ ลูกค้าอาจต้องพลาดถึงสองสามครั้งมาก่อน จ้างแล้วงานออกมาไม่เคยดี กว่าเขาจะรู้และหมุนรอบมาเจอเราก็ต้องอาศัยเวลา"


และอย่างที่รู้ว่าโลกปัจจุบันมีสตาร์ทอัพเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ สิทธิวัจน์จึงพัฒนา “พีโอเอส วิชั่น” (POS Vision) ขึ้นมาเพื่อเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยทำให้เอสเอ็มอีที่เป็นรายย่อยจริงๆได้มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี


"แพลตฟอร์มของเราจะทำเป็นอินโฟกราฟฟิกเพื่อให้ดูง่ายๆ ใช้ง่ายๆ เปิดมาถ้าอยากขายของก็ไปที่ขายของ อยากดูสต็อกก็ไปดู อยากไปไหนก็ไป ดูยอดขายว่าได้เท่าไหร่ ทำให้รู้ว่าสินค้าไหนขายดีไม่ดี ตัวไหนต้องสั่งเพิ่ม หรือถ้าจะใส่สินค้าขายเพิ่มก็อัพโหลดรูปเข้าไปได้เลย ไม่ต้องสอนการใช้ เพราะคนเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ตราบใดที่เขาใช้เฟสบุ๊คเป็น เขาก็จะใช้ระบบเราได้"


ไม่ว่าผู้ประกอบการทั้งคนใหม่หรือรุ่นลายครามก็สามารถใช้ระบบนี้ได้ทั้งหมด


" ที่คิดทำแพลตฟอร์มตัวนี้ขึ้นมา เพราะรู้ว่าผู้ประกอบการรายเล็กก็อยากได้เทคโนโลยีมาช่วยทำการค้า แต่เขามีงบที่จำกัด ที่ผ่านมาเคยมีลูกค้าหลายรายมาให้อินเตอร์ วิชั่นทำเว็บให้ แล้วเขาก็อยากได้ระบบขายหน้าร้านเพิ่ม อยากได้ระบบสต็อกที่ลิงค์กันด้วย ซึ่งมันมีโซลูชั่นที่ทำได้ แต่ราคามันสูงเป็นหลักล้านบาท ซึ่งเขาเองก็ยังไม่รู้เลยว่าที่ขายของไปในแต่ละวันจะคุ้มกับค่าใช้จ่ายไหม"


นอกจากมีปัญหาเรื่องเงินทุนไม่หนาพอแล้ว ผู้ประกอบการยังมองว่า ระบบต่างๆส่วนใหญ่มีการใช้งานยาก ทั้งยุ่งยาก คือต้องไปซื้ออุปกรณ์โน่นนี่อีกหลายอย่างเพิ่มเติม ในขณะเดียวกันพื้นที่ของร้านซึ่งบางทีก็เป็นลักษณะของบูธนั้นมีขนาดเล็ก ถ้าจะต้องใช้ระบบหรือแค่ต้องวางเครื่องเก็บเงินเพียงอย่างเดียวพื้นที่ก็คงไม่พอ ยิ่งต้องมีการเชื่อมต่อสายไฟก็ยิ่งยุ่ง ยิ่งถ้าเครื่องเกิดเสียแล้วจะไปเรียกให้ใครมาซ่อม ฯลฯ


"แพลตฟอร์มของเราเขาไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่ม มีแค่มือถือหรือมีแค่แท็บเล็ต ไม่ต้องดาวน์โหลด ไม่ต้องติดตั้งแอพ ก็ใช้ได้เลย เพราะมันเป็นเว็บเบสแอพพลิเคชั่น แค่ล็อกอินเข้าพีโอเอส วิชั่นโดยใช้เฟสบุ๊คหรือกูเกิลก็ได้ ก็ขายของได้แล้ว"


แต่ที่เรียกว่าเป็นทีเด็ดก็คือ จะให้ผู้ประกอบการได้ใช้กันแบบฟรีๆ


"ไอเดียเราอยากให้ธุรกิจเล็กๆมีโอกาส และช่วงแรกๆผมอยากให้ทุกคนใช้งานฟรี ให้ลองใช้งานก่อน แต่เราจะให้ฟรีแค่สาขาเดียวตลอดชีพ เพราะเชื่อว่าสักวันเขาจะเติบโตขึ้น มีสาขาเพิ่มขึ้น วันนั้นค่อยมาคิดค่าใช้จ่าย ซึ่งจะคิดเพียงแค่ 399 ต่อเดือนต่อสาขา"


วางสเต็ปการเติบโตไว้อย่างไร? ได้คำตอบว่าแพลตฟอร์มเวลานี้เสร็จพร้อมใช้ และเพิ่งเปิดตัวซึ่งใช้เวลาเพียงสัปดาห์เดียวก็มีผู้ประกอบการทดลองใช้แล้วหลักร้อยราย


“ถือว่ายังอยู่ในเฟสแรก เราต้องการเทสต์ระบบ ให้ผู้ประกอบการที่ใช้ฟีดแบ็คกลับมาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้น”


แต่เป้าหมายที่วางไว้ในระยะสั้น (ใน 6 เดือน) ก็คือการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ขึ้นเป็น 1 พันราย ถามว่ามีวิธีอย่างไร สิทธิวัจน์บอกว่า นอกจากการโปรโมทหลักๆจะใช้ช่องทางของกูเกิลแอด เฟสบุ๊คแอดแล้วก็ต้องหาทางจับมือกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งหลักๆก็คงหนีไม่พ้น “คอมเซเว่น” เจ้าของร้านค้าปลีกไอที “บานาน่า ไอที” องค์กรที่เขาเคยร่วมงาน


เมื่อให้มองในแง่ของคู่แข่งในตลาด แน่นอนมีอยู่เยอะ แต่ก็ยังไม่เห็นมีรายใดสามารถทำระบบเป็นออโต้ได้ครบจบแบบพีโอเอส วิชั่น และส่วนใหญ่ก็ยังไม่ต้องโจทย์ ยังใช้งานยาก


"เราไม่ได้เบนซ์มาร์กกับผู้เล่นในประเทศไทย แต่มีระบบของอเมริกาก็เห็นว่าดีชื่อว่า ช้อบปี้ไฟน์ เขาเป็นระดับโลก แต่เรามองกลับกันกับเขาคือมองที่ออฟไลน์ก่อน มองรีเทลก่อนจากนั้นก็จะเป็นอีคอมเมิร์ซ ซึ่งกว่าจะเทียบเขาได้จริง เราก็ต้องทำอีกเยอะ แต่ในไทยแล้วเวลานี้เชื่อว่าเราเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ง่ายสุด แต่มันยังใหม่มาก ผู้ประกอบการยังไม่รู้จัก แต่ถ้าได้รู้จักแล้วผมเชื่อว่าเขาจะมาใช้ของเรา"


ส่วนในเฟสถัดไปเขามีโจทย์อยู่ว่า จะทำอย่างไรให้ยั่งยืน และมองว่ามันเป็นเรื่องของอีโคซิสเต็มส์อี-คอมเมิร์ซที่ต้องครบวงจร มีความสมบูรณ์


"ตอนนี้เราไปคุยกับสกู๊ตตาร์ กับลาซาด้า กับโอมิเซะ ไปคุยกับแอพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเพื่อให้มาเชื่อมโยงกัน ตอนนี้เราต่อกับเพย์พาลแล้ว และจะต่อกับชิปป๊อปด้วย ถ้าเราต่อเสร็จระบบจะแข็งแกร่งขึ้น พาร์ทเนอร์เองจะได้ลูกค้าจากเราไปด้วย ทั้งเรายังจะเพิ่มในเรื่องแชทบอทโดยต่อเฟสบุ๊คแมสเซนเจอร์ให้สามารถคุยอัตโนมัติและขายของได้เลย"


และเมื่อพีโอเอส วิชั่น เข้มแข็งในตลาดไทยแล้วจากนั้นก็คิดจะขยายไปตลาดประเทศในแถบเอเชีย เพราะยังมองไม่เห็นคู่แข่งที่โดดเด่นในเรื่องนี้


"เราจะพัฒนาแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่อง เพราะเรามีทีมงานของเราเอง ทั้งหมดมี 16 คน แต่เราแบ่งออกเป็นครึ่งๆ ครึ่งหนึ่งทำงานธุรกิจเดิม อีกครี่งมาทำพีโอเอส วิชั่น แต่สุดท้ายมองว่าคงต้องย้ายคนมาทำสตาร์ทอัพ 100% "


อย่างไรก็ตาม การทำสตาร์ทอัพต้องอาศัยใจที่มุ่งมั่น สิทธิวัจน์บอกว่าตั้งแต่มาทำพีโอเอส วิชั่น (ทำคู่ขนานไปกับอินเตอร์ วิชั่น) ทำให้เวลานี้เขาก็เหมือนเครื่องยนต์ที่ไม่ได้พัก เพราะต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน


“แต่เราต้องเป็นที่หนึ่ง ของโซลูชั่นที่เป็นระบบขายให้ได้”

ไม่มีผิดครั้งที่สาม


กรณีของสิทธิวัจน์ ไม่ใช่การผิดซ้ำสอง ต้องไม่ผิดซ้ำสาม เชื่อหรือไม่ว่าเขาเคยผ่านความผิดพลาดมาถึงสองครั้ง


แต่มันไม่ใช่ความผิดซ้ำในเรื่องเดิม ครั้งแรก เกิดจากการบริหารเงิน บริหารธุรกิจผิดธุรกิจก็เลยขาดทุน ครั้งที่สอง เพราะบริหารคนไม่เก่งที่สุดก็เฟลอีก


"เมื่อกว่าสิบปีก่อน ผมไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ คนอื่นก็จะไปทำงานพิเศษกันที่ร้านอาหาร ล้างจาน เป็นเด็กเสิร์ฟ แต่ผมมองงานพวกนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเรา อาจได้ตังค์ก็จริงแต่คิดว่างานอื่นน่าจะได้เงินด้วยและช่วยให้มีประสบการณ์ที่ดีด้วย ผมเลยเริ่มขายของทางอีคอมเมิร์ซ ผ่านทางอีเบย์และอะเมซอน"


พอกลับมาเมืองไทย แม้จบทางด้านวิศวะแต่รู้ว่าตัวเองสนใจอีคอมเมิร์ซเลยพยายามเสาะหางานด้านนี้ ปรากฏว่ามีเพียงบริษัทเดียวคือ คอมเซเว่น ที่เปิดรับในตำแหน่งอีคอมเมิร์ซดีเวลลอปเปอร์


"แต่ผมทำเพียงแค่ 6 เดือนก็เข้าไปหาซีอีโอ (สุระ คณิตทวีกุล) เพื่อบอกว่าผมคิดว่าทำได้มากกว่านี้ และขอเปิดบริษัททำธุรกิจไอทีที่เป็นดีไอวาย ขายซีพียู ฮาร์ดดิสก์ ซึ่งมาร์จิ้นมันต่ำ ทำแค่ปีเดียวก็ขาดทุน ผมก็มามองตัวเองอีกครั้งว่าเราเก่งเรื่องอะไร ก็อ๋อ เป็นเรื่องอีคอมเมิร์ซ เรื่องโซลูชั่น เลยไปคุยกับซีอีโอว่าผมขอเริ่มใหม่ จะทำเป็นผู้ให้บริการ เป็นผู้พัฒนาระบบ ทำเว็บไซต์ขายของให้กับเอสเอ็มอี พอทำก็เริ่มมีลูกค้า ดูว่าไปได้ดีมีรายได้ แต่กลับเจอปัญหาพนักงานโกงบริษัท"


ดังนั้นเพื่อเกียรติยศและศักดิ์ศรี คาถาของสิทธิวัจน์ในวันนี้จึงมีว่า “ต้องไม่พลาดอีก และต้องไม่กล่าวคำว่าขอโทษเป็นครั้งที่สาม”