เก่ง- เร็ว- สะดวก หัวใจ ‘เซนเซโนะ’

เก่ง- เร็ว- สะดวก  หัวใจ ‘เซนเซโนะ’

“เคยอ่านงานวิจัยของฮาร์วาร์ด ที่บอกว่าการเรียนจะทำให้เราจำได้นิดเดียว แต่วิธีการที่ทำให้เราจำได้ต้องเป็นการสอน”

อาจฟังดูแปลกแหวกแนว แต่นี่คือที่มาของ “เซนเซโนะ” (Senseino) สตาร์ทอัพแนวเอดเทค (Edtech) ซึ่งเปิดสอนภาษาญี่ปุ่นออนไลน์
เศกสิน ชีวิโรจน์ (ต้อม) และ ดมิศรา ซูติกาญจน์ (ซึยุ) เล่าให้ฟังว่า เนื่องจากในการทำงานต้องเกี่ยวข้องกับบริษัทญี่ปุ่น พวกเขาจึงอยากจะเรียนภาษาญี่ปุ่นเพื่อใช้ในการสื่อสาร แต่ทำไปทำมากลับติดปัญหาอุปสรรคหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของเวลาจนไม่อาจบรรลุความฝัน


ดังนั้นเมื่อได้ไอเดียว่าถ้าอยากจะเก่งก็ต้องทำตัวเป็นคนสอน เมื่อปีที่แล้วพวกเขาได้สร้างเพจเฟสบุ๊คชื่อว่า “มินนะ โนะ นิฮงโกะ” (ในเวลานี้ยังมีอยู่ใช้เป็นพื้นที่สร้างคอมมูนิตี้) และในเบื้องต้นก็ไปก้อบปี้บทความ หรือคำสอนภาษาญี่ปุ่นจากตำราต่างๆหรือที่คนอื่น ๆเคยโพสต์ไว้แล้วเอามาแชร์ในเพจ แต่ปรากฏว่าจำนวนสมาชิกก็ขยับเพิ่มขึ้นแบบเร็วจี๋ ผ่านไปเพียงหนึ่งปีปัจจุบันมีมากถึง 1.4 แสนคนเลยทีเดียว


"แต่เมื่อปลายปีที่แล้วเราก็มานั่งคิดกันว่าลองเปิดสอนกันดีไหม และก็โพสต์ในเพจถามสมาชิกไปว่ามีใครอยากเรียนภาษาญี่ปุ่นบ้าง เราสอนฟรี แค่ชั่วโมงเดียวมีคนสมัครมาถึง 2 พันคน คำถามก็คือเราจะสอนคนเยอะขนาดนั้นได้อย่างไร ก็เดือดร้อน"


ปัญหาอันดับแรกก็คือ พวกเขาไม่ได้มีความรู้ ไม่ได้เก่งภาษาญี่ปุ่น ทำให้จึงต้องมีการโพสต์ในลำดับถัดไปเพื่อหาคนที่สนใจมีจิตอาสาจะมาสอนให้ฟรี แต่พอได้ครูมาแล้ว ก็ติดปัญหาอีกว่าแล้วจะต้องใช้ระบบอะไรถึงจะสามารถสอนคนจำนวนมากภายในครั้งเดียว


แต่โชคดีที่เศกสิน มีความรู้ประสบการณ์ในเรื่องของไอที จึงไปจัดหาระบบที่ช่วยสร้างห้องเรียนในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟ หมายถึงคนสอนจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ขอให้มีแค่โน๊ตบุ๊คตัวเดียวก็สอนได้ เช่นเดียวกันคนเรียนเองก็อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ แค่มีมือถือ หรือมีไอแพด มีคอมพิวเตอร์ หรือมีแค่โน๊ตบุ๊คตัวเดียวก็เรียนได้ ทำให้การเปิดสอนคอร์สแรกผ่านพ้นไปได้ด้วยดี


“หลังจากนั้นเราก็โพสต์ถามว่ามีใครอยากจะเรียนต่อหรือเปล่า และถ้าเรียนแล้วต้องจ่ายตังค์จะเรียนกันไหม ก็มีถึง 250 คนที่สนใจบอกว่ายอมจ่ายเงินก็เลยเป็นจุดเริ่่มของเซนเซโนะ”


ที่ผ่านมาเพราะรู้ว่าคนที่เรียนมีอายุระหว่าง 18-24 ปีและส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง จึงดีไซน์เว็บไซต์ให้มีสไตล์ที่น่ารัก คอนเซ็ปต์ของพวกเขานั้นตั้งใจอยากให้เซนเซโนะเป็นโซเชี่ยลเลิร์นนิ่งสำหรับคนรักการเรียนรู้ และสามารถเรียนได้ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้าน ที่ทำงาน หรือร้านกาแฟ


อีกหนึ่งจุดเด่นของเซนเซโนะก็คือ การคัดเลือก “ครูผู้สอน” หรือ “เซนเซ” ที่นอกจากต้องมีความรู้ มีความสามารถ มีใจรักในการสอนภาษาญี่ปุ่นแล้ว ก็ยังต้องมี “หน้าตาและบุคลิกที่ดี”


"เพราะการเรียนการสอนของเราอยู่บนออนไลน์ มันมีเรื่องของเน็ตไอดอล ครูของเราก็เลยต้องหน้าตาดี รวมถึงจะต้องสอนสนุกด้วย เพราะเราอยากให้คนเรียนสนุกไม่น่าเบื่อ เวลานี้เซนเซของเรามี 20 คน มีทั้งคนญี่ปุ่นและคนไทย "


ในเพจของเซนเซโนะนั้นจะโชว์คลาสเรียนภาษาญี่ปุ่นซึ่งมีสอนตั้งแต่ระดับเบื้องต้น และแอดวานซ์ไปเรื่อยๆ ให้เลือกเรียนและมีทั้งห้องเรียนทั้งแบบเรียนเป็นกลุ่มกับห้องที่สอนกันแบบตัวต่อตัว


"สโลแกนของเรา ก็คือ การทำให้คนที่เข้ามาเรียนจะต้อง เก่งที่สุด เร็วที่สุด สะดวกที่สุด นอกจากนี้แม้ว่าการเรียนของเราจะสอนสดแต่ทุกครั้งจะมีการเรคคอร์ดไว้ เพื่อให้นักเรียนสามารถมาทบทวนเมื่อไหร่ก็ได้ กี่รอบก็ได้ ปัญหาอย่างหนึ่งของการเรียนภาษาก็คือ ตอนเรียนเราอาจจำได้แค่ 30% แต่พอมาเรียนคอร์สออนไลน์เราจะทบทวนกี่ครั้งก็ได้"


ปัจจุบันนอกจากภาษาญี่ปุ่น พวกเขายังเปิดคลาสสอนภาษาเกาหลี (เพจชื่อ ซออุลแด) และภาษาจีน (เพจชื่อ ขงจื๊อ) อีกด้วย ในหมายเหตุว่าสนใจเปิดคอร์สการเรียนการสอนทุกภาษาที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ


"ซึ่งในแง่ของจำนวนผู้เรียน เวลานี้เราถือเป็นโรงเรียนสอนออนไลน์ภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีที่ใหญ่ที่สุด คลาสที่เปิดสอนของเราแต่ละคลาสมักมีคนสนใจเรียนเกินเป้าที่กำหนดไว้เช่นตั้งใจรับแค่ 38 แต่กลับมีคนมาสมัครเรียนถึง 58 คนเป็นต้น ทำให้เมื่อเทียบกับคอร์สการเรียนการสอนภาษาญี่ปุ่นทั่วไป ของเราจึงถูกกว่าถึง 3 เท่า"


อย่างไรก็ดี เซนเซโนะยังต้องเร่งพัฒนาอยู่อีกหลายต่อหลายเรื่อง อาทิ เพื่อการขยายฐานคลาสการเรียนการสอนแบบตัวต่อตัว ภายในเพจจะมีการโชว์ใบหน้าของเซนเซเพื่อให้ผู้เรียนตัดสินใจเข้าไปเลือกว่าต้องการจะเรียนกับเซนเซคนไหน


รวมถึงจะมีการปรับหลักสูตรให้มีมาตรฐานขึ้น คือจากเดิมที่ไปซื้อหนังสือจากร้านต่างๆมาแล้วก็สอนไปตามหนังสือ ก็จะเปลี่ยนเป็นการอิมพอร์ตหนังสือจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลแล้วก็สอนตามหลักสูตรของเขา


"นอกจากนี้เราอยากให้เด็กที่มาเรียนแล้วก็เขาเอาไปสอบวัดมาตรฐานได้ ก็เลยพัฒนาระบบข้อสอบวัดระดับ จะเปิดเป็นห้องสอบให้คนที่มีข้อสอบอยู่แล้วมาลงข้อสอบได้ และให้เด็กที่อยากสอบได้ลองมาสอบได้ฟรีเลย แต่ถ้าเขาอยากดูเฉลยก็ต้องจ่ายเงิน ทางเราก็แบ่งครึ่งกับคนที่เอาข้อสอบมาลง ตรงนี้จะสร้างรายได้ให้เราด้วย"


เซนเซโนะ แม้จะเพิ่งเริ่มต้นไม่นาน แต่เป็นอีกหนึ่งทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบโครงการ “ดีแทค แอคเซเลอเรท ปี 5” พวกเขามองว่าเหตุผลที่ทำให้ได้รับคัดเลือกคงเป็นเพราะในปีนี้้เอดเทคกำลังมาแรงและบังเอิญที่เซนเซโนะเองก็เป็นเอดเทคที่เซ็กซี่เสียด้วย


แต่ก็มีความท้าทายตรงที่เป้าหมายหลังจากนี้จะต้องเติบโตมากขึ้นถึง 10 เท่า ซึ่งหมายถึงเซนเซโนะจะต้องมี 500 ชั่วโมงในการสอนต่อวัน และภายในสิ้นปีนี้ก็จะต้องมีนักเรียนประมาณ 5 พันคน


“ภายใน 5 ปีข้างหน้า เราอยากเป็นโรงเรียนสอนภาษาที่เป็นนอนอิงลิชแลงเกวทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และต้องมีนักเรียนอยู่ในระบบ 1 แสนคน”


พวกเขาบอกว่าแน่นอนต้องเปิดสอนภาษาอื่นๆเพิ่มเติม และมีเคล็ดลับอยู่ที่ก่อนจะเปิดสอนแต่ละภาษา จำเป็นต้องสร้างคอมมูนิตี้หรือชุมชนที่มีใจรักในภาษา วัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เสียก่อน


"เราพบว่าบางครั้งคนที่สนใจวัฒนธรรม สนใจหนัง การ์ตูน เดิมเขาอาจไม่ได้คิดอยากเรียนภาษา แต่ถ้าเราทำขึ้นมาเป็นคอมมูนิตี้ ทำเป็นอีโคซิสเต็มขึ้นมามันก็จะช่วยได้ ให้คนในชุมชนมีพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆที่หลากหลาย เป็นพื้นที่ที่ให้พวกเขามีโอกาสฝึกภาษา ได้แสดงผลงาน ได้แชร์ความคิดกัน"


เอาท์ซอร์ส วิถีโลกยุคใหม่


พนักงานประจำของเซนเซโนะมีแค่ 4 คน ถามว่าเพียงพอหรือไม่กับเป้าหมายจะต้องเติบใหญ่ขึ้นอีกหลายเท่าตัว?


"ปัจจุบันเราใช้เอาท์ซอร์ส ตอนนี้อย่างไอทีเราก็เอาท์ซอร์สทั้งหมด 5 คนให้ช่วยทำระบบให้ เราไม่ได้เอาท์ซอร์สแค่ทีมเดียว แต่ใช้หลายๆทีม โดยเราเป็นคนคอนโทรล จริงๆแล้ว ผมทำงานเป็นที่ปรึกษา และเป็นโปรเจ็คเมเนเจอร์มาสิบกว่าปี เวลาที่เวิร์คโปรเจ็ค ก็ต้องเวิร์คกับเอาท์ซอร์สทั้งหมดเลย 100% เลยมีความเชี่ยวชาญ รู้ว่าจะต้องแฮนเดิลอย่างไร จัดการอย่างไรที่จะทำให้งานออกมาได้"


เศกสิน บอกว่า สตาร์ทอัพส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องการหาทีมไอทีเข้ามาทำงานด้วยกัน ซึ่งเป็นอะไรที่หายาก หรือพอหามาได้ก็อาจต้องปวดหัวอีก ต้องยอมรับว่าไอทีก็ไม่เก่งขั้นเทพทุกคน และเมื่อมาอยู่ในทีมเดียวกัน เวลาเกิดปัญหาก็มักเกรงใจ จะจี้งานกันก็ค่อนข้างยาก กลายเป็นว่าที่สุดก็ขัดใจกันและเลิกทำกันไป


"ถามว่าแล้วจะรันระบบต่ออย่างไร แต่การเอาท์ซอร์สไม่ทำให้เกิดปัญหาอย่างนี้ เพราะเราจะเวิร์คกันแบบพาร์ทเนอร์ และถ้าต้องมีการขยายตลาด ขยายงาน เราก็ไม่ต้องเพิ่มคนแต่ทางฝ่ายเขาต้องเป็นฝ่ายขยายทีม หรือในช่วงที่เราเมนเทน เขาก็สามารถเอาคนในทีมไปทำอย่างอื่นได้ ผมว่ามันดีกว่าให้มาทำงานประจำเยอะ"