แห่สมัคร ‘คลินิกแก้หนี้' พุ่ง

แห่สมัคร ‘คลินิกแก้หนี้' พุ่ง

แห่สมัคร "คลินิกแก้หนี้" พุ่ง แซมเผยยอดลงทะเบียน 20 วัน1.6-1.7 หมื่นราย ผ่านคุณสมบัติแค่ 30% เซ็นสัญญาแล้วกว่า 100 ราย

“สินทรัพย์สุขุมวิท” เผยยอดสมัคร “คลินิกแก้หนี้” พุ่ง 1.6-1.7 หมื่นราย แต่ผ่านเกณฑ์แค่ 30% เซ็นสัญญาแล้วกว่า 100 ราย ชี้ส่วนใหญ่ไม่ผ่านเกณฑ์เพราะยังไม่เป็นหนี้เสีย ขณะ บางส่วนเป็นลูกหนี้ นอนแบงก์ ซึ่งยังไม่ครอบคลุม ต้องรอแก้กฎหมายก่อน

นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ ในฐานะรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด(บสส.) หรือ แซม เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปิดโครงการคลินิกแก้หนี้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2560 พบว่า มีผู้สนใจสมัครเข้าโครงการทั้งผ่านช่องทางออนไลน์ และมาสมัครที่คลินิกด้วยตัวเองแล้ว 1.6-1.7 หมื่นราย ซึ่งอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามมีจำนวนผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเพียง 30% ของจำนวนผู้ที่มาสมัครทั้งหมด และมีลูกหนี้ที่เซ็นสัญญาแล้วกว่า 100 ราย

สำหรับผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติส่วนใหญ่ติดเกณฑ์ไม่ได้เป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล เพราะยังมีการผ่อนชำระบัตรเครดิตแบบขั้นต่ำอยู่ นอกจากนี้บางส่วนก็เป็นหนี้บัตรเครดิตของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร หรือนอนแบงก์ ซึ่งยังไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพราะจะต้องแก้กฎหมายของแซม ก่อน ให้สามารถรับบริหารหนี้ให้กับนอนแบงก์ได้ จากปัจจุบันกฎหมายอนุญาตให้บริหารหนี้ได้เฉพาะที่เป็นหนี้ของสถาบันการเงินเท่านั้น

“ผ่านมาเกือบ1เดือนหลังเปิดโครงการ กระแสตอบรับดี มีผู้มาสมัครเข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะไม่ได้เข้ามาจำนวนมากเหมือนในช่วงแรกๆ ซึ่งในวันแรกวันเดียวมีผู้สมัครถึง 3 พันคน ก็เป็นไปตามที่ประเมินไว้ ระหว่างนี้ก็ยังไม่ต้องปรับอะไร แต่หลังจากนี้ก็ต้องมาดูว่าจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์อื่นๆหรือๆไม่ เพื่อความเหมาะสม เช่นความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ร่วมโครงการเป็นต้น”

เขากล่าวถึงผลการดำเนินงานของ แซม ว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้ โดยบริษัทได้รับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินมาบริหารแล้วประมาณ 2.5-2.6 พันล้านบาท และสามารถขายสินทรัพย์และมีเงินสดจากการบริหารจัดการสินทรัพย์เข้ามาแล้วประมาณ 4 พันล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40%ของเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ว่าจะมีเงินสดเข้ามาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

“ บริษัทก็ยังคงมีแผนรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินต่อเนื่อง ขณะนี้ก็มีคุยกับ3-4 ธนาคารอยู่ โดยมีทั้งหนี้ที่เป็นหนี้ธุรกิจ หรือคอร์ปอเรท และหนี้ของสินเชื่อบ้านเป็นต้น ซึ่งบริษัทก็จะพยายามปรับสัดส่วนการซื้อหนี้ในกลุ่มต่างๆให้มีความเหมาะสม”

ทั้งนี้ปี2560 บริษัทมีเป้าหมายจะขายหนี้และมีเงินสดเข้ามาบริษัทประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินที่ได้จากการขายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ประมาณ 6 พันล้านบาท และสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีเอ ประมาณ 4พันล้านบาท โดยเงินสดที่ได้มากว่า 1หมื่นล้านบาทนั้น บริษัทจะคืนให้กับกองทุนฟื้นฟูประมาณ 5 พันล้านบาท ส่วนอีก 5 พันล้านบาทจะเตรียมไว้สำหรับการซื้อเพิ่มเติม