'เรียลลิตี้สตรีทฟู้ด' แนวคิดส่งสตาร์ทอัพเดินถนน

'เรียลลิตี้สตรีทฟู้ด' แนวคิดส่งสตาร์ทอัพเดินถนน

"บอร์ดสตาร์ทอัพชาติ” ขานรับแนวคิดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ จัดรายการเรียลลิตี้โชว์แข่งขันยกระดับผู้ประกอบการสตรีทฟู้ดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการออกแบบ สร้างช่องทางบรรจบระหว่างพ่อค้าแม่ค้ากับสตาร์ทอัพ พร้อมจัดสรรทุนสนับสนุนการผลิตชิ้นงานที่ชนะเลิศ

อาหารริมทางหรือสตรีทฟู้ดเมืองไทย ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก ชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับระดับโลกและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวในไทยอย่างมาก หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพยายามพัฒนาผู้ประกอบการด้านนี้ เช่น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดประกวดแปลงโฉมรถเข็นและอาหารริมทางด้วยดีไซน์แปลกใหม่ ขณะที่ กทม.อยู่ระหว่างดำเนินมาตรการจัดระเบียบถนนเยาวราชและข้าวสารเพื่อเตรียมยกระดับให้เป็นพื้นที่นำร่องโครงการอาหารริมทาง ล่าสุดองค์กรวิจัยอย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ร่วมวงพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า ที่ประชุม สตาร์ทอัพ เนชั่นแนล คอมมิตตี ซึ่งจัดตั้งโดยกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบและมีมติให้ขับเคลื่อนตามแนวคิดที่ สวทช.นำเสนอถึงการจัดกิจกรรมในรูปแบบวาไรตี้แนววิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป้าหมายเพื่อดึงศักยภาพผู้ประกอบการสตาร์ทอัพมาช่วยยกระดับธุรกิจสตรีทฟู้ดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งยังสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการวิจัยในกลุ่มผู้ประกอบการสตรีทฟู้ด


“ผมมีแนวคิดมานานแล้วที่จะพัฒนากลุ่มสตรีทฟู้ด ซึ่งเป็นกิมมิกสำคัญด้านการท่องเที่ยวของบ้านเราและเป็นอันดับ 1 ของโลก ถือเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้ไม่มีใครสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพมาตรฐาน เมื่อเทียบกับอาหารในโมเดิร์นเทรดที่จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำตลอดเวลา เช่นว่า หั่นอย่างไรให้ สวยงาม ชิ้นงานมีความสม่ำเสมอ รวดเร็ว ประหยัดเวลาและพลังงาน ไม่ร่วงหล่นลงพื้น ขณะที่พ่อค้าแม่ค้ามีปัญหามากมายที่ไม่มีใครดูแล เช่น ปิ้งหมูอย่างไรให้ใช้พลังงานลดลง การจัดเก็บทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากแมลงสัตว์ต่างๆ ใช้น้ำเปลืองแก๊สเปลือง สุขภาพเมื่อยล้าจากอิริยาบถไม่ถูกต้อง” นายณรงค์กล่าว


นอกจากนี้ สังคมไทยมีเทคโนโลยีและความรู้มากมายในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานรัฐแต่ไม่ได้เข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพกลุ่มนี้ อีกทั้งผู้ประกอบการกลุ่มนี้บางส่วนยังมีบุตรหลานที่กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลต่างๆ ขณะที่นโยบายรัฐบาลกำลังผลักดันสตาร์ทอัพคนรุ่นใหม่ซึ่งถูกมองเป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าไม่ถึงพ่อค้าแม่ค้า ด้วยเหตุนี้ สวทช.จึงนำปัจจัย 3-4 เรื่องนี้มาผนวกรวมกันแล้วหากลไกให้คนเหล่านี้มาบรรจบกัน


แนวคิดคือ การจัดประกวดแข่งขันให้นิสิตนักศึกษาที่มีไอเดียสร้างสรรค์ลุกขึ้นมาดีไซน์เพื่อปรับปรุงกระบวนการในสตรีทฟู้ด อาจจะเป็นอุปกรณ์ รถเข็น ความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะถูกใส่เข้าไปให้กับพ่อค้าแม่ค้าโดยตรง ระหว่างการประกวดก็จะได้รับเงินเป็นระยะๆ เพื่อใช้พัฒนาต้นแบบชิ้นงานให้สวยขึ้นเรื่อยๆ เพราะโดยทั่วไปแล้วชิ้นงานต้นแบบจากเด็กที่เรียนในสายช่างเทคนิคอาจจะดูแข็งๆ ทื่อๆ มุ่งประโยชน์ใช้สอยมากกว่าความสวยงาม


“เราก็จะมอบเงินให้เขาเสาะแสวงหาดีไซเนอร์ ซึ่งอาจเป็นภาคเอกชน มหาวิทยาลัยภาครัฐที่มีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะออกแบบอุตสาหกรรม มาทำงานร่วมกัน เขาก็มีสิทธิ์ที่จะไปใช้บริการจากหน่วยงานเหล่านี้ เด็กในมหาวิทยาลัยก็จะทำงานร่วมกับเด็กเทคนิคที่รู้วิธีตอบโจทย์พ่อค้าแม่ค้าที่อาจเป็นคุณพ่อคุณแม่หรือครอบครัวของเขาเอง” นายณรงค์กล่าว


นอกจากนี้เพื่อให้กิจกรรมมีความแปลกใหม่ เป็นที่รับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมในวงกว้าง จึงต้องนำเสนอในรูปแบบเรียลิตี้โชว์หรือเกมโชว์ มีสตอรี่ให้ติดตามและโหวตให้คะแนนโดยพ่อค้าแม่ค้า ซึ่งนอกจากความรู้สึกสนุกสนานและการรู้สึกมีส่วนร่วมแล้ว ยังปลูกฝังให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำคัญอย่างไร หลังจากนั้นเมื่อได้โปรดักส์ที่เหมาะสมแล้ว ในขั้นตอนต่อไป คณะทำงานคาดว่าจะตั้งเงินก้อนหนึ่งเพื่อผลิตสินค้าเหล่านั้นในจำนวนที่เหมาะสมอาจเป็นหลักพันชิ้นหรือหมื่นชิ้นเพื่อแจกออกไปใช้งาน ใครโหวตก็อาจจะได้สิทธิ์เข้าถึงโปรดักส์เหล่านั้น ฉะนั้น เอสเอ็มอีซึ่งเป็นโรงงานผลิตก็จะได้รับประโยชน์เป็นลำดับถัดมา

เมื่อจบเกมโชว์นี้ เยาวชนผู้เข้าแข่งขันที่เป็นเจ้าของไอเดียก็จะกลายเป็นเจ้าของธุรกิจทันที เพราะว่าชิ้นงานของเขาจำหน่ายได้ มีตลาดรองรับพร้อมผู้ผลิตให้เสร็จ หน้าที่ของเขาก็คือ พัฒนาชิ้นงานต้นแบบให้ดีขึ้นแล้วนำไปต่อยอดเพิ่มมูลค่าหรือศักยภาพต่อไป ทั้งนี้ กิจกรรมจะต้องได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากหน่วยงานหลักคือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้หารือในเบื้องต้นแล้วแต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด พร้อมกันนี้กำลังมองหาหน่วยงานหรือภาคธุรกิจเอกชนที่จะมาช่วยด้านการทำวาไรตี้แนววิทยาศาสตร์เทคโนโลยี


อย่างไรก็ตาม แนวความคิดนี้เป็นภาคนโยบายใหญ่มากส่งผลต่อเนื่องหลายมิติ ทั้งสร้างการตระหนักรู้ทางวิทยาศาสตร์ พ่อค้าแม่ค้าเข้าใจในเทคโนโลยีและรู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพในเวลาเดียวกัน การสร้างเยาวชนสตาร์ทอัพและสนับสนุนกิจการเอสเอ็มอี สร้างช่องทางให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างสายช่างกับสายศิลปะการออกแบบ ที่สำคัญคือ การยกระดับการยอมรับในอุตสาหกรรมสตรีทฟู้ดในไทย


“โครงการนี้ที่มีประโยชน์กับสตรีทฟู้ดทั่วประเทศ แต่สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุดคือ การจัดงานสตรีทฟู้ดเดย์ ซึ่งอาจจะปิดถนนแล้วนำเสนอสตรีทฟู้ดรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นจากวาไรตี้โชว์นี้” นายณรงค์กล่าว