ภาวะเงินตราต่างประเทศประจำสัปดาห์ (19 มิ.ย.-23 มิ.ย.60)

ภาวะเงินตราต่างประเทศประจำสัปดาห์ (19 มิ.ย.-23 มิ.ย.60)

“บาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ รอปัจจัยสนับสนุนก่อนสิ้นเดือน”

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างวันที่ 19-23 มิถุนายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (19/6) ที่ 33.93/95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับ ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 33.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/6) กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านประจำเดือนพ.ค. ลดลง 5.5% สู่ระดับ 1.09 ล้านยูนิต ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 1.23 ล้านยูนิต จากระดับ 1.16 ล้านยูนิตในเดือนก่อนหน้า โดยลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนมิ.ย. ลดลงสู่ระดับ 94.5 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 97.1 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 97.2 แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลงภายหลังจากที่ นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์คกล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเชิงบวก โดยเขากล่าวว่าว่า ในปัจจุบันถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แต่ด้วยแรงหนุนจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานที่กำลังปรับตัวดีขึ้น จะสามารถส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ในอนาคต โดยขณะนี้อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 4.3% และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 1.5% หากการจ้างงานสามารถเข้าสู่ภาวะการจ้างงานเต็มศักยภาพ อาจจะส่งผลให้เงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมาย 2% และนอกจากนี้ นายดัดลีย์ระบุว่า เขามีความเชื่อมั่นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะยังคงดำเนินต่อไปได้ และเขาคาดว่าการขยายตัวของค่าจ้างจะแตะระดับ 3% ในช่วงเวลา 1-2 ปี หลังจากการแถลงการณ์ของนายดัดลีย์ ทำให้นักลงทุนคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐฯ ในระยะนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนของเฟดในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งภายในปีนี้ และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นทันที นอกจากนี้ นายแพทริค ฮาร์เกอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯสาขาฟิลาเดลเฟียได้ให้สัมภาษณ์กับทางสื่อมวลชนว่า เฟดควรจะระมัดระวังในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้มากขึ้นในการตัดสินใจครั้งต่อไป แต่ทางคณะกรรมการอาจจะปรับลดขนาดงบดุลบัญชีในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจยังออกมาดีอยู่ แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนจากการที่ สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐฯ (NAR) ได้เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบรายเดือน และเป็นยอดขายรายเดือนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ในรอบ 10 ปี ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 0.5% ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 33.91 – 34.08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนปิดตลาด(23/6) ที่ระดับ 33.98/34.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

ในส่วนปัจจัยภายในประเทศ นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 4% แต่ยังมองว่าการแข็งค่าของเงินบาทยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับสกุลเงินในภูมิภาค และแนวโน้มการส่งออกของไทยก็ยังคงไปได้ดี แต่ผู้ประกอบการเองจำเป็นต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ของค่าเงิน ซึ่งการปิดความเสี่ยงถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการทำธุรกิจ นอกจากนี้ยังกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจที่มีความน่าเป็นห่วงจากสถานการณ์เงินบาทแข็งค่า คือ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีการใช้เฉพาะวัตถุดิบในประเทศมาผลิตสินค้าเพื่อการส่งออก ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกสำหรับปีนี้ไว้ที่ 5% ต่อไป

การเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ เปิดตลาดในวันจันทร์(19/6) ที่ระดับ 1.1194/98 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/6) ที่ ระดับ 1.1171/73 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/6) สำนักงานสถิติของยูโรโซน เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนพ.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4% เท่ากับเดือนก่อนหน้าและเท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความกังวลถึงการการเจรจาแยกตัวของอังกฤษออกจาก EU หรือ Brexit ระหว่างคณะผู้แทนจากสหภาพยุโรป (EU) และอังกฤษ ซึ่งเริ่มขึ้นในวันจันทร์ (19/6) โดยเริ่มมีการกำหนดกรอบการเจรจาในอนาคต ซึ่งเรื่องแรกที่จะมีการเจรจาคือประเด็นสิทธิของพลเมืองที่อาศัยในดินแดนของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้ นายมิเชล บาร์นิเยร์ ตัวแทนฝ่าย EU และนายเดวิด เดวิส ตัวแทนฝ่ายอังกฤษ กล่าวว่า พวกเขารู้สึกพึงพอใจต่อการเจรจาในวันแรก โดยนายบาร์นิเยร์กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นพ้องให้ทำการเจรจาสิทธิพลเมืองเป็นอันดับแรก ต่อด้วยจำนวนเงินที่อังกฤษจะต้องจ่าย หากต้องการแยกตัวออกจาก EU รวมทั้งประเด็นชายแดนของไอร์แลนด์ พร้อมระบุว่า หากมีความคืบหน้าในการเจรจาประเด็นเหล่านี้แล้ว ก็จะมีการพิจารณาความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง EU และอังกฤษ นอกจากนี้ ในประเทศฝรั่งเศสได้เกิดความกังวลของชนชั้นกลางในประเทศฝรั่งเศสที่มีต่อเรื่องกฏการย้ายงานอย่างเสรีของสหภาพยุโรป โดย (21/6) นายมานูเอล มาครอง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า การที่บริษัทในฝรั่งเศสเริ่มย้ายออกไปตั้งฐานการผลิตที่โปแลนด์ และการที่บริษัทก่อสร้างเริ่มจ้างงานคนโปแลนด์มากขึ้นนั้น เป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี โดยเขาได้เน้นย้ำว่าทางสหภาพยุโรปต้องมีมาตรการดูแลประชาชนในสหภาพที่ดีกว่านี้ ซึ่งตัวเขาเองยังไม่เห็นทางเยอรมนีเน้นย้ำในจุดนี้มากนัก ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องก่อนปิดตลาด (23/6) ที่ระดับ 1.1175/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโรและเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1120-1.1213 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร

ส่วนการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนนั้น เปิดตลาด (19/6) ที่ระดับ 111.05/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (16/6) ที่ระดับ 111.30/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16/6) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติด้วยคะแนนเสียง 7 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% รวมทั้งเดินหน้าโครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อตรึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีให้อยู่ที่ระดับ 0% นอกจากนี้แถลงการณ์ภายหลังการประชุมของ BOJ ระบุว่า BOJ ได้คงมุมมองเศรษฐกิจเอาไว้ที่ระดับเดิม โดยเศรษฐกิจภายในประเทศมีทิศทางการขยายตัวปานกลาง พร้อมกับเน้นย้ำว่าจะเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ส่วนงบดุลบัญชีของ BOJ ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก BOJ ได้เข้าซื้อสินทรัพย์จำนวนมาก ตามนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา BOJ ได้ถือครองสินทรัพย์เป็นวงเงินทั้งสิ้น 504.83 ล้านล้านเยน (4.59 ล้านล้านดอลลาร์) โดยในวันจันทร์(19/6) กระทรวงการคลังของญี่ปุ่น ได้เปิดเผย ตัวเลขดุลการค้าประจำเดือนพ.ค. มียอดขาดดุลการค้า 2.034 แสนล้านเยน โดยยอดการส่งออกปรับตัวขึ้น 14.9% เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ยอดนำเข้าปรับเพิ่มขึ้น 17.8% นอกจากนี้ รายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รอบวันที่ 26-27 เมษายน ระบุว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของ BOJ หลายคนมีความคิดเห็นตรงกันว่า การปรับตัวขึ้นของค่าแรงและเงินเฟ้อในญี่ปุ่นยังค่อนข้างอ่อนแอ แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะดีขึ้นก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภารกิจของ BOJ ในการผลักดันญี่ปุ่นให้บรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ไม่มีความคืบหน้า แม้ว่ามาตรการผ่อนคลายทางการเงินอย่างหนักจะถูกดำเนินการไปแล้วก็ตาม โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมกราคม แต่อย่างไรก็ตามยังคงใกล้ระดับ 0% ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 110.77-111.79 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนจะปิดตลาดในวันศุกร์ (23/6) ที่ระดับ 111.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ

                                           -----------------------------------------------