3จังหวัดอีอีซีจัดทัพท่องเที่ยวชูภาพลักษณ์ Bleisure

3จังหวัดอีอีซีจัดทัพท่องเที่ยวชูภาพลักษณ์ Bleisure

เมื่อรัฐบาลประกาศแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หนึ่งในมิติที่ถูกกำหนดให้ขับเคลื่อนไปพร้อมการส่งเสริมการลงทุนคือ “การท่องเที่ยว”

โดยในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จึงมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้คำสั่งของคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาใหสอดรับการทิศทางของอีอีซีในภาพใหญ่ ส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืน

ทั้งนี้ วางโครงสร้างการทำงานในเชิงบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และหน่วยงานในสังกัด อาทิ ททท. ประสานร่วมกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา, ระยอง และชลบุรี, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร, คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เป็นต้น

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า 3 จังหวัดในอีอีซี มีข้อตกลงในการกำหนดภาพลักษณ์ในการตลาดเป็น Bleisure Destination หรือเป็นจุดหมายที่ผสมผสานระหว่างธุรกิจและการพักผ่อน โดยแต่ละจังหวัดมีจุดแข็งของตัวเอง ที่ไม่ทับซ้อนระหว่างกัน เริ่มจาก ชลบุรี ที่มีแม่เหล็กอย่างพัทยาวางตำแหน่งเป็น “โมเดิร์น ออฟ ดิ อีสต์” จากการพัฒนาท่องเที่ยวที่ทันสมัย ส่วนระยองชูจุดเด่นในฐานะ “บิซ ซิตี้” สอดรับกับการเป็นศูนย์กลางนิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ และฉะเชิงเทรา ผลักดันแนวคิด “ไทย เวย์ ออฟ ไลฟ์” ขับเน้นวิถีความเป็นไทยที่ยังมีให้เห็นเด่นชัด

                ผลการตกผลึกดังกล่าวจากการทำงานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ มาจากการสำรวจความต้องการในฝั่งดีมานด์ และจัดทำเป็นข้อเสนอเรื่องแนวทางการพัฒนาให้คณะอนุกรรมการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงนำไปสู่การวางแผนปฏิบัติ โดยข้อเสนอทั้งหมด มาจากการตกผลึกหารือกับพื้นที่อย่างใกล้ชิด มอบหมายให้ ททท.ระดับภูมิภาคตะวันออกและสำนักงานจังหวัด ทำงานใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนใน 3 จังหวัดดังกล่าว จนนำมาซึ่งการวางตำแหน่งทางการตลาด

ประกอบด้วย พัทยา วางเป้าหมายเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ, สุขภาพและนันทนาการ จากการมีศูนย์การประชุมและศูนย์แสดงสินค้านานาชาติชั้นนำของอาเซียน เป็นเมืองนวัตกรรมการท่องเที่ยว พร้อมรับต่อกระแสการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันยังคงนำเสนอธรรมชาติที่มีชีวิตชีวา และสุดท้าย เชื่อมโยงกับการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการส่งเสริมตัวเองในฐานะจังหวัดที่มีศูนย์การให้บริการด้านการแพทย์ระดับนานาชาติ

ขณะที่ ฉะเชิงเทรา วางภาพลักษณ์เป็นเมืองแห่งสายน้ำวัฒนธรรม เมืองพักอาศัยชั้นดีที่ทันสมัยรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ และอีอีซี และมีพื้นที่ใหม่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง (Transit Oriented Development :TOD) และ ระยอง เป็นเมืองแห่งการศึกษาและวิทยาศาสตร์, แหล่งผลิตทรัพยากรบุคคลอัจฉริยะ และเมืองแห่งพลังและความคิดสร้างสรรค์

ขณะเดียวกัน ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ยกระดับเป็นศูนย์ธุรกิจการบินและโลจิสติกส์อาเซียน, เมืองใหม่แหล่งธุรกิจเหนือระดับ, เป็นศูนย์รวมของสำนักงานใหญ่ภาคธุรกิจ, ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี, การวิจัย และการพักผ่อนด้วย

“คณะอนุกรรมการฯ จะเป็นผู้จัดทำข้อเสนอในการพัฒนาท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ที่แหลมบาลีฮาย เสนอการอัพเกรดสิ่งอำนวยความสะดวกท่าเรือแหลมฉบัง เสนอแนวทางการคมนาคมขนส่งนักท่องเที่ยวจากสนามบินอู่ตะเภาที่จะเป็นฮับ ส่งต่อไปยังจังหวัดภาคตะวันออก ซึ่งพัฒนามาจากความต้องการจริงของตลาด และเน้นให้แต่ละจังหวัดได้แสดงศักยภาพด้านการท่องเที่ยว และนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะสอดรับกับแผนการหลักของอีอีซี และตอบโจทย์ความต้องการตลาดได้จริง ภายใต้การยึดโยงว่าต้องสร้างสมดุล 3 ด้านคือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ จะเน้นการบูรณาการส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปปฏิบัติ เช่น การมีสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร เป็นองค์ประกอบร่วม จะทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลด้วยตัวเอง และนำไปเสนอต่อคณะอนุกรรมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ดูแลการปฏิบัติการโครงสร้างด้านคมนาคมของอีอีซีโดยตรง

ด้าน อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธาน สทท.ซึ่งอยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการฯ ด้วยนั้น เปิดเผยว่า นอกจากการกำหนดแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมท่องเที่ยวแล้ว ต้องการให้ทุกภาคส่วนมองในมิติการเชื่อมโยงระหว่าง “อุตสาหกรรม” และ “การท่องเที่ยว” ที่จะไม่ขัดแย้งกันเอง เช่น ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่หากเป็นไปได้ก็ควรจะทำให้เป็น Zero Waste หรือปริมาณขยะเป็นศูนย์ ให้ความสำคัญการการบำบัดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องมีมาตรการเชิง “ป้องกัน” เป็นเชิงรุก และจัดทำแผนรองรับในกรณีที่เกิดปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมา จังหวัดภาคตะวันออกที่เป็นแหล่งรวมของนิคมอุตสาหกรรม เคยเกิดปัญหาการรั่วไหลสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และส่งผลต่อเนื่องต่อการท่องเที่ยวมาแล้ว และปัญหาที่พบคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น ไม่มีการวางแผนรองรับไว้ล่วงหน้า

“เมื่อภาคอุตสาหกรรมอีอีซีเติบโตขึ้น แน่นอนว่าภาคธุรกิจบริการที่จะต้องเข้ามารองรับ จะมีความต้องการสูงสุด จึงอยากให้โฟกัสเรื่องการดูแลเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยว เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีศักยภาพที่สุดในการเป็นท่าเรือน้ำลึกอยู่แล้ว หากพัฒนาได้ก่อน ก็ต้องเร่งปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก แต่หากระยะยาวต้องการรองรับตลาดท่องเที่ยวทางเรือเพิ่ม หน่วยงานที่เกียวข้องก็ต้องเร่งพิจาณาการนำแผนโครงสร้างพื้นฐานที่คณะอนุกรรมการท่องเที่ยวเสนอขึ้นไปสู่การปฏิบัติ”