AtSchool เจาะรหัสเก่งลูกน้อย

AtSchool เจาะรหัสเก่งลูกน้อย

เด็กเล็ก 0-5 ปี นับเป็นยุคทองของพัฒนาการเรียนรู้เพราะเป็นช่วงเวลาที่สมองมีการพัฒนาการสูงสุดซึ่งจะผลต่อสติปัญญา บุคลิกภาพ และความฉลาดทางอารมณ์

ดังนั้น การลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเล็ก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด

James Heckman นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล (2542) ทำการศึกษาแล้วพบว่า การลงทุนในเด็กปฐมวัยจะได้ผลตอบแทนในอนาคตถึง 7 เท่า นั่นหมายถึง หากลงทุน 1 บาท จะได้ผลประโยชน์คืนกลับสู่สังคมสูงถึง 7 บาท 

อย่างไรก็ดี แม้การสร้างพัฒนาในเด็กจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ทั้งในระดับครอบครัวไปจนถึงระดับชาติ แต่ภาพรวมแล้วก็ยังพบว่ายังเป็นปัญหาที่รอการแก้ไข

AtSchool หนึ่งในทีมสตาร์ทอัพที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 3 ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านที่มองเห็นปัญหาดังกล่าวและเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องการเรียนรู้และพัฒนาการสำหรับเด็กเล็กได้

ทีมงานประกอบด้วย 3 คน ซึ่งมี passion ที่จะพัฒนาระบบการศึกษาร่วมกัน ประกอบด้วย ดร.อัจฉรา เรืองประทุม (CEO) กับประสบการณ์ด้านการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและร่วมทำงานในโรงเรียนประถมศึกษา

ดร. สุนทร วิทูสุรพจน์(CTO) มีประสบการณ์ด้านการวิจัยและเป็นอาจารย์ มีความเชี่ยวชาญ Computer engineeringและInformation Management และ ดร. ฤทธิชัย จิตภักดีบดินทร์ (Head of Developers) กับประสบการณ์ที่สั่งสมด้านพัฒนาและผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี อีกทั้งยังเชี่ยวชาญด้าน Mobile & Web Application development     

“นอกจากคณะทำงานแล้ว เรายังมี ดร.วัลยา ธรรมอภิบาล อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวัดและประเมินผลการศึกษาเพื่อมาเติมเต็มให้AtSchoolสมบูรณ์มากขึ้นมาเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย”

ภายใต้แพลตฟอร์ม AtSchool คือการทำงานด้านการวิเคราะห์ผลการเรียนรู้และพัฒนาการสำหรับเด็กเล็ก

ดร.อัจฉรา บอก การที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ทำให้เข้าใจ pain point ของการเป็นพ่อแม่ ที่ต้องการจะ พัฒนาลูกอย่างถูกทางที่สุด เนื่องจากบางครั้งการรายงานผลการประเมินพัฒนาการและการเรียนจากโรงเรียน ก็มีความแตกต่างจากสิ่งที่ลูกเป็นอยู่ที่บ้าน และการจะทราบผลในแต่ละครั้งต้องใช้เวลารอนานเป็นรอบเทอม 

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาที่ว่า พ่อแม่ไม่สามารถทราบถึงจุดเด่นจุดอ่อน ความสามารถหลัก และความถนัดของลูกจากผลประเมินที่ได้รับ ทำให้เหมือนถูกทิ้งอยู่ในความมืด 

“ด้วยความเป็นแม่ทำให้คิดว่าจะแก้โจทย์นี้ได้อย่างไร จึงเป็นจุดเริ่มต้นลงมือศึกษาและศึกษาอย่างลึกซึ้งมากขึ้นจนเข้าใจได้ทั้งมุมของพ่อแม่ และสิ่งที่โรงเรียนกำลังเผชิญ”      

เมื่อได้ทำการศึกษาและการเข้าไปพูดคุยกับคุณครู รวมถึงผู้บริหารสถานศึกษา ดร.อัจฉรา บอกก็ทำให้ยิ่งรู้ว่า โรงเรียนเองก็มี pain point เช่นกัน ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประเมินเด็ก รวมถึงคุณครูมีภาระงานที่เยอะมาก จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้อย่างจริงจัง

AtSchool ทำงานจากการเก็บข้อมูลการประเมินผลการเรียนรู้ของเด็กที่ถูกประเมินโดยทั้งฝ่ายคุณครูและผู้ปกครอง เพื่อให้ได้ผลการประเมินที่ถูกต้องจากผู้ดูแลรอบตัวเด็ก หลังจากนั้น มีการนำผลการประเมินไปวิเคราะห์ เพื่อรู้ให้ได้ถึงศักยภาพที่แท้จริงของเด็กว่ามีความถนัดด้านไหน มีจุดด้อยในเรื่องใด และควรจะส่งเสริมสนับสนุนอย่างไร

โดยระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะทำการให้คำแนะนำตามความเป็นจริงภายหลังการประเมิน พร้อมกับทำการวิเคราะห์และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะทำให้สามารถดูแนวโน้มพัฒนาการ

การเรียนรู้ของเด็กๆในแต่ละช่วงเวลา

 ในมุมของนักพัฒนาแล้วมองว่า AtSchool เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานทั้งคุณครู ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียน เพราะจะทำให้รู้ถึงจุดเด่นของเด็ก และสิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถต่อไปในอนาคต แต่กว่าที่การทำงานจะเดินมาถึงวันนี้ได้ คณะทำงานต้องใช้เวลาในศึกษาข้อมูลอยู่ไม่น้อยเลย

"ช่วงแรกๆ เราคิดว่า pain point หลักของพ่อแม่คือการที่ไม่ทราบว่าโรงเรียนสอนอะไรอยู่และสิ่งที่เด็กถูกประเมินนั้นถูกต้องเพียงพอหรือเปล่า ทำให้เรามุ่งไปที่เรื่องการสื่อสารกันระหว่างพ่อแม่กับโรงเรียน 

แต่เมื่อศึกษาปัญหาในเชิงลึกลงไป พร้อมทั้งยังได้รับคำแนะนำที่ดีจาก mentor ทำให้เราเริ่มพัฒนาระบบช่วยอำนวยความสะดวกในการประเมิน นั่นคือมีการวิเคราะห์ร่วมด้วย ซึ่งเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เป็น pain point ที่มีอยู่เดิม

โดยเฉพาะการได้พูดคุยกับผู้ใช้งาน ทำให้เรา pivot จนคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง"  

ดร.อัจฉรา บอก หลายคนมองว่าเรื่องของ Education ยังไม่มีการ Disrupt และมีตลาดที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนมาก แต่ปัจจุบันคุณครูมีความทันสมัยและมีอุปกรณ์ที่จำเป็นทางด้านเทคโนโลยีในการที่จะใช้ในการสอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้โรงเรียนสามารถพัฒนาการเรียนการสอนในห้องเรียนให้ตอบโจทย์ผู้เรียนมากขึ้น และช่วยให้พ่อแม่เข้าใจพัฒนาการของลูกและการติดตามการเรียนของลูกได้ดีขึ้น 

อีกทั้ง ยังช่วยให้การสื่อสารกันระหว่างพ่อแม่และโรงเรียนชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยให้คุณครูมีภาระงานน้อยลง โอกาสในการที่โรงเรียนจะอยากใช้และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ปกครองจึงมีสูงมาก 

แน่นอนว่าตลาดการศึกษาเป็นตลาดที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน และโรงเรียนเองก็มีการกระจายตัวค่อนข้างมาก การที่จะมี Strategic Partner ที่จะเดินไปด้วยกัน จึงจะช่วยทำให้โอกาสในการขยายตัวจะเพิ่มมากขึ้น

การลุกขึ้นมาทำ AtSchool ครั้งนี้นับเป็นสตาร์ทอัพตัวแรกที่ทีมนี้ปลุกปั้น ดร.อัจฉรา ตัวแทนของทีมบอก การทำสตาร์ทอัพนั้นมีโอกาสมากมาย หากการพัฒนาขึ้นนั้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง  

“สิ่งที่ทีมนี้ยังขาดก็คือมุมมองทางด้านการตลาด ซึ่งหากมี advisor หรือ mentor ที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาช่วย จะทำให้เราเดินได้ตรงขึ้น ไม่อ้อมไปอ้อมมา และเสียเวลาไปกับสิ่งที่มันจะเป็นไปไม่ได้”

  อย่างไรก็ดี ข้อดีของทีมนี้อยู่ที่ ทั้ง 3 คนของผู้ร่วมก่อตั้งต่างพกพา Passion ที่อยากจะเห็นการพัฒนาศักยภาพผู้เรียน เพราะต่างก็มีลูกและมองว่าเป็นปัญหาที่ตัวเองต้องการแก้ไขในฐานะของพ่อแม่ 

"เราอยากจะรู้ว่าลูกเรามีความชอบอะไร เก่งด้านไหน เขามีพัฒนาการทางด้านไหนเร็วกว่าด้านอื่นๆ เราจึงมี Passion ที่จะทำตรงนี้มากๆ และอยากจะทำให้เด็กไทยได้รับการพัฒนาอย่างตรงจุด

มันจะเป็นความสุขที่ได้ทำ และ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่เราค่อนข้างจะคุ้นเคยอยู่แล้ว ทำให้ไม่ยากเกินไปในการที่จะเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งาน

โดยเราเชื่อว่า แพลตฟอร์มที่ดีต้องตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เพราะในที่สุดแล้วเรื่อง Education เป็นเรื่องสำคัญของคนทั่วโลก หาก Product ตอบโจทย์ได้ดีที่สุดในขอบเขตที่ถูกกำหนดไว้เบื้องต้นแล้ว การจะ Scaleออก ไปคงเป็นเรื่องของอนาคตที่จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยาก”

นับหนึ่งสร้างฐานผู้ใช้งานในไทย

แม้จะพลาดหวังจากการร่วม Pitch ในโครงการ Digital Startup ที่จัดสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจทัล หรือดีป้า แต่จากผลงานที่ทะลุจาก 500 ทีม สู่ 40 ทีมได้ก็นับเป็นก้าวที่สำคัญของ AtSchool ในการที่จะลุยงานต่อในส่วนของ Education Technology  

“นอกจาก Passionที่เป็นจุดตั้งต้นของทุกอย่างและความเข้าใจในระบบการศึกษาแล้ว เรายังมีทีม Development ที่แข็งแรง มีเทคโนโลยีที่ภาคภูมิใจ และ เป็นจุดแข็งสำคัญของทีม โดยก้าวต่อไปจากนี้คือ มุ่งมั่นที่จะทำการตลาดในประเทศไทยให้ดีที่สุด และพัฒนาแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์กับผู้ใช้งานให้มากที่สุดก่อน”  ดร.อัจฉรา เรืองประทุม ซีอีโอ AtSchool กล่าว 

สำหรับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า ได้ทำการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มธุรกิจ Digital Startup โดยการจัดให้มีโครงการ Digital Startup ขึ้นมาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ พัฒนาศักยภาพ กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาเป็นผลงานสร้างสรรค์ที่ใช้งานได้จริง โดยมีปลายทางอยู่ที่การสร้าง Digital Startup และ Digital Entrepreneurship