แบงก์เร่งปรับแผนติดตั้ง‘อีดีซี’

แบงก์เร่งปรับแผนติดตั้ง‘อีดีซี’

"แบงก์" เร่งปรับแผนติดตั้ง"อีดีซี" นัดหารือสัปดาห์นี้ ยอมรับห่างเป้าอื้อ เหตุร้านค้าตอบรับน้อย

5 แบงก์พาณิชย์ กลุ่มแทปส์ นัดถกสัปดาห์นี้ หวังปรับแผนติดตั้งเครื่องอีดีซี หลังยอดติดตั้งยังห่างเป้า เผยร้านค้าตอบรับน้อย แถมบางส่วนติดตั้งไปแล้วแต่ไม่ยอมใช้งาน ชี้หากต้องการจูงใจ ในอนาคตอาจต้องเพิ่มต้นทุนการใช้เงินสด

นายอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารพาณิชย์ในกลุ่ม TAPS ประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารธนชาต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารทหารไทย ได้มีการนัดหารือกันในสัปดาห์นี้ เรื่องติดตั้งเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีดีซี (EDC) ว่าจะมีการปรับแผนอย่างไร หลังจำนวนการติดตั้งไม่ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้

“ ที่ผ่านมาต้องบอกว่าได้ติดต่อร้านค้าจำนวนมาก ตัวเลขที่ติดตั้งได้ก็มีไม่น้อย เฉพาะของไทยพาณิชย์เองทั้งที่ติดตั้งไปแล้ว และอยู่ในระหว่างการเตรียมการติดตั้งก็มีหลายหมื่นเครื่อง แต่โดยรวมแล้วก็ยังไม่ได้เข้าใกล้เป้าหมาย นอกจากนี้บางส่วนแม้จะติดตั้งไปแล้ว ก็ยังไม่ได้มีการใช้งาน ซึ่งถ้าไม่ใช้งานก็ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการในการส่งเสริมการลดใช้เงินสด”

เขากล่าวต่อว่า ในส่วนของแผนงานหลังจากนี้ ก็จะมาดูกันว่าจะกระตุ้นอย่างไร ทั้งกระตุ้นให้เกิดการติดตั้ง รวมถึงกระตุ้นให้มีการใช้งาน เพราะเรายังกังวลว่าร้านที่ติดตั้งไปแล้ว ก็อาจจะไม่คุ้นเคยในการใช้งาน จึงไม่นำมาใช้ เพราะจำนวนร้านค้ากว่า 5 แสนแห่งที่ทางรัฐบาลให้รายชื่อมานั้น ก็มีทั้งร้านค้าเล็กๆ ที่ไม่เคยใช้เครื่องรูดบัตรมาก่อน ก็อาจจะกล้าๆ กลัวๆ ก็ต้องมาดูเรื่องการให้ความรู้ ความเข้าใจร้านค้า ทั้งเรื่องความปลอดภัย และความสะดวกสบาย

นอกจากนี้ยังจะมาดูเรื่องการหาช่องทางการตลาดให้ร้านค้า รวมถึงผู้บริโภคได้ทดลองใช้ เช่นในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ได้เปิดให้ร้านค้ามาใช้พื้นที่ในการขายสินค้าได้ แต่ต้องไม่ใช้เงินสดในการซื้อขาย โดยให้ชำระค่าสินค้าเป็นบัตรเดบิต หรือจ่ายด้วยบริการโอนเงินพร้อมเพย์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับร้านค้าได้อีกช่องทางหนึ่ง

“ในการส่งเสริมให้ลดใช้เงินสดนั้น ลำพังการกระตุ้นให้เกิดใช้บัตรเดบิต หรือบริการพร้อมเพย์อาจจะไม่เพียงพอ ในอนาคตอาจจะต้องมีมาตรการเสริม เช่นมาดูเรื่องการทำให้การใช้เงินสดมีต้นที่สูงขึ้น เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคใช้เงินสด เพราะดูเหมือนไม่มีต้นทุนเลย ทั้งๆ ที่เป็นต้นทุนที่สูงมาก โดยในต่างประเทศการกดเงินสดมาใช้ก็มีต้นทุนที่สูงกว่าใช้การ์ด ซึ่งทางธปท.เองก็ต้องการให้มาทางนี้ เพราะหากลดการใช้เงินสดได้ ก็จะลดต้นทุนในการพิมพ์ธนบัตร การลงทุนตู้เอทีเอ็มได้ อย่างไรก็ตามเราจะไปถึงจุดนั้น ก็ต้องวางระบบเรื่องเครื่องอีดีซีให้พร้อมก่อน”

สำหรับเรื่องพร้อมเพย์นั้น ภาพรวมดูดีขึ้น มีการใช้งานมากขึ้น ซึ่งทางธนาคารเองก็มีการส่งเสริมให้ใช้บริการพร้อมเพย์ในการจ่ายค่าแท็กซี่ไปแล้ว ต่อไปก็จะส่งเสริมให้กิจการเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่เป็นแฟรนไชส์รถเข็น มาใช้บริการมากขึ้น

อนึ่งก่อนหน้านี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้พูดคุยให้ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ติดตั้งเครื่องอีดีซี ทั้ง 2 กลุ่มคือ TAPS และกลุ่มคอนโซเตียม (Consortium) ให้ปรับแผนการติดตั้งเครื่องอีดีซี หลังจากที่ผ่านมาปริมาณการติดตั้งยังทำได้ไม่มากนัก

โดยณ สิ้นเดือนเม.ย.ติดตั้งไปเพียง 6.5 หมื่นเครื่อง จากเป้าหมายตามโครงการติดตั้งเครื่องอีดีซีกำหนดไว้ว่าภายในเดือนเม.ย.นี้จะต้องติดตั้งให้ได้ 25% ของเป้าหมาย 5.6 แสนเครื่อง (ประมาณ 1.4 แสนเครื่อง) จากนั้นต้องติดตั้งให้ได้ 50% ภายในเดือน ก.ค. 2560 ติดตั้งให้ได้ 75% ของกลุ่มเป้าหมายภายในเดือน พ.ย. 2560 และติดตั้งให้ได้ 100% ภายในเดือนมี.ค. 2561