‘ซีอีโอ’ทั่วโลกมองบวกทำธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า

‘ซีอีโอ’ทั่วโลกมองบวกทำธุรกิจ 3 ปีข้างหน้า

เคพีเอ็มจี สำรวจ “ซีอีโอ” ทั่วโลกมองการทำธุรกิจในอีก 3 ปีข้างหน้า“เชิงบวก” สัดส่วน 65% มั่นใจดำเนินธุรกิจ แม้เศรษฐกิจโลกไม่แน่นอน เตรียมพร้อมรื้อถอนแนวคิดเดิม

เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่ผลสำรวจ 2017 Global CEO Outlook ซึ่งเกิดจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับ ซีอีโอ ของบริษัทชั้นนำทั่วโลกเกือบ 1,300 ราย การวิจัยในปีนี้พบว่า 65% ของ ซีอีโอ มองปัจจัยที่ก่อให้เกิดการรื้อถอนแนวความคิดเดิม (disruptive forces) เป็นโอกาสทางการก้าวหน้า ไม่ใช่ภัยคุกคามต่อธุรกิจ

จอห์น วีไมเออร์ ประธานบริษัทเคพีเอ็มจี กล่าวว่า “การทำลายวิธีคิดเดิมๆ หรือ disruption ได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับซีอีโอ ในการจัดการกับความไม่แน่นอนทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น”

แต่สิ่งที่สำคัญคือ พวกเขามองเห็น disruption เป็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำรายได้ของธุรกิจ (business model) ในการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ รวมถึงการเปลี่ยนรูปธุรกิจให้ประสบผลสำเร็จกว่าเดิม ปัจจุบันท่ามกลางสิ่งท้าทายและความไม่แน่นอนใหม่ๆ นั้น เหล่าซีอีโอ ต่างรู้สึกถึงความจำเป็นในการทำลายวิธีคิดเดิมๆ เพื่อการเติบโต (Disrupt and grow)

ประเด็นสำคัญจากผลสำรวจ 2017 Global CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี

ผลสำรวจ 2017 Global CEO Outlook ของเคพีเอ็มจี ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความเห็นของ ซีอีโอ เกี่ยวกับการคาดการณ์การเติบโตทางธุรกิจ ความท้ายทายที่ต้องเผชิญ และกลยุทธ์ในการวัดผลสำเร็จองค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งประเด็นสำคัญที่พบคือ

ในปี 2560 นี้ ซีอีโอ ยังคงต่างมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจโลก 65% แต่ความมั่นใจดังกล่าวลดลงจากปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 80%

ซีอีโอ มากกว่า 6 ใน 10 หรือ 65% มอง disruption เป็นโอกาสทางธุรกิจไม่ใช่ภัยคุกคาม นอกจากนี้ ซีอีโอ3 ใน 4 หรือ 74% กล่าวว่าต้องการทำให้องค์กรตัวเองเป็น disruptor ในอุตสาหกรรมตนเอง

ซีอีโอ มากกว่า 8 ใน 10 หรือ 83% มั่นใจในการเติบโตขององค์กรในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยครึ่งหนึ่ง 47% บอกว่ามั่นใจมาก

เกือบ 7 ใน 10 หรือ 68% บอกว่าตนเองกำลังพัฒนาความเชี่ยวชาญและคุณลักษณะส่วนบุคคล (personal qualities) เพื่อจะได้เป็นผู้นำที่ดีกว่าเดิม

ในขณะที่ธุรกิจนำ Cognitive technologies เข้ามาปรับใช้ ซีอีโอ คาดการณ์ว่าในระยะสั้นจะมีการเพิ่มปริมาณพนักงาน ซึ่ง ซีอีโอ 58% คาดว่าจะมีการเพิ่มขึ้นของพนักงานไม่มากก็น้อยใน 10 บทบาทหน้าที่หลักด้วยกัน

เกือบครึ่งของ ซีอีโอ หรือ 45% กล่าวว่าการเข้าใจความต้องการของลูกค้าไม่สามารถทำได้เต็มที่เนื่องจากขาดข้อมูลที่มีคุณภาพ มากกว่าครึ่ง 56% มีความกังวลเกี่ยวกับข้อมูลที่ตนได้รับสำหรับการใช้ประกอบการตัดสินใจ

ซีอีโอ ต่างเข้าใจว่าความรวดเร็วในการตอบสนองทางธุรกิจ และความก้าวหน้าทางนวัตกรรมต่างเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับการเติบโตภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอน” วีไมเออร์ กล่าว

ในขณะเดียวกัน ซีอีโอ ต่างคำนึงถึงแนวการปฏิบัติจริงในการจัดการความไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจในตลาดที่มีความมั่นคงอยู่แล้ว เพื่อเป็นการรองรับความเสี่ยงในการขยายธุรกิจไปในตลาดใหม่ที่มีโอกาสเติบโต

การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์

การสำรวจประจำปีของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล พบว่า ซีอีโอ จำนวนมากจากเกือบ 1,300 คนใน 10 ประเทศและ 11 อุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์

43% ของ ซีอีโอ ที่ถูกสำรวจกำลังพิจารณาแนวทางขององค์กรเนื่องจากผลกระทบของโลกาภิวัตน์และการคุ้มครองทางการค้า

52% เชื่อว่าบรรยากาศทางการเมืองส่งผลกระทบต่อองค์กรมากกว่าที่ผ่านมา

31% คิดว่าการคุ้มครองทางการค้าจะมีเพิ่มมากขึ้นในประเทศตนเองในอีก 3 ปีข้างหน้า

การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะการทำธุรกิจ

หนึ่งในผลสำรวจที่ต่างจากปีที่แล้วและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือมีอัตรา ซีอีโอมากขึ้นที่มองว่าความเสี่ยงทางชื่อเสี่ยงและแบรนด์ เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอันดับสาม (จากทั้งหมด 16) แม้ว่าความเสี่ยงนี้จะไม่ติดอันดับหนึ่งในสิบจากผลสำรวจปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ซีอีโอ ยังเล็งเห็นว่าความเสี่ยงทางชื่อเสียงและแบรนด์ มีโอกาสส่งผลกระทบเป็นอันดับสองต่อการเติบโตของบริษัทในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ความเสี่ยงด้านนี้ถูกจัดให้อยู่เพียงอันดับ 7

ในปี 2559 ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber security) ถูกจัดให้เป็นความเสี่ยงอันดับ 1 ขององค์กร อย่างไรก็ตามในปีนี้ความเสี่ยงทาง cyber security อยู่เพียงอันดับ 5 (จากทั้งหมด 16 อันดับ) ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเหตุจากการที่ ซีอีโอ ประเมินความก้าวหน้าขององค์กรทางด้านการจัดการความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์

ปัจจุบันซีอีโอ 4 ใน 10 ราย หรือ42% มองว่าพวกเขารู้สึกพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจาก 25% ในปี 2559

“การสำรวจครั้งนี้เสร็จสิ้นลงก่อนการโจมตีที่ผ่านมาของ ransomware Wannacry ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ว่าองค์กรจำเป็นต้องตื่นตัวและกระตือรือร้น เรื่อง cyber security อยู่เสมอ” วินิจ ศิลามงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพีเอ็มจีประเทศไทยกล่าว

ความท้าทายทางเทคโนโลยี: ศึกการแย่งชิงบุคลากรที่มีความสามารถ

โดยเฉลี่ยแล้ว 58% ของ ซีอีโอ มองว่า cognitive technology จะส่งผลให้มีความต้องการทางบุคลากรใน 10 สายงานเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่ 32% คิดว่าการเติบโตขององค์กรทางด้านบุคลากรจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ก็เป็นการสื่อให้เห็นว่าบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะเป็นที่ต้องการ อย่างน้อยก็ในระยะแรกเริ่มของการปรับใช้เทคโนโลยี

ในอีกแง่หนึ่งก็ตีความได้ว่า ซีอีโอ มองว่าประสบการณ์ลูกค้า จะเป็นตัวผลักดันให้มีการนำ cognitive technology เข้ามาปรับใช้ ไม่ใช่การมุ่งเพื่อลดจำนวนพนักงาน

นอกจากนี้การดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะทางสูงเป็นสิ่งที่ ซีอีโอมองว่าเป็นเรื่องท้าทายที่สุดในการนำ cognitive technology มาใช้ในองค์กร

โดยทั่วไปแล้ว ซีอีโอมองว่าจำนวนบุคลากรในองค์กรจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในอัตราที่ช้ากว่าในปี 2559 จากผลสำรวจปีที่แล้วพบว่า ซีอีโอ 73% คาดการณ์ว่าจำนวนบุคลากรจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 6% ในอีก 3 ปีข้างหน้า แต่ในปี 2560 ซีอีโอ น้อยกว่าครึ่ง 47% มองว่าจะมีการเติบโตทางองค์กรในอัตราดังกล่าว

ในขณะเดียวกับที่ ซีอีโอ ต่างให้ความสำคัญไปกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ พวกเขาก็ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงบทบาทตัวเองด้วย 70% กล่าวว่าพวกเขาพร้อมเปิดกว้างที่จะรับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงและความร่วมมือใหม่ๆ ความเชื่อใจ

ท่ามกลางบรรยากาศการทำธุรกิจที่โปร่งใสมากขึ้น ซีอีโอ 3 ใน 4 คน หรือ74% กล่าวว่าองค์กรของพวกเขาให้ความสำคัญกับความเชื่อใจ คุณค่า และวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้นเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ซีอีโอ ต่างมองว่าค่านิยมเหล่านี้จะคงมีต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ กล่าวคือ ซีอีโอ65% ยอมรับว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าระดับความเชื่อใจภายในองค์กรจะมีเท่าเดิม หรือลดลงก็เป็นได้

ซีอีโอมากกว่า 7 ใน 10 ราย หรือ72% เชื่อมโยงการเป็นองค์กรที่สามารถเข้าถึงพนักงานได้เข้ากับการให้ฐานรายได้ที่สูงขึ้น องค์กรต่างๆ ทุกวันนี้แลเห็นว่าการสร้างความเชื่อใจให้กับพนักงานจะนำไปสู่ผลสำเร็จทางธุรกิจได้

เกี่ยวกับงานสำรวจ KPMG’s 2017 CEO Outlook

การสำรวจครั้งนี้ครอบคลุม ซีอีโอ1,261 รายจาก 10 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สเปน, สหราชอานาจักร และสหรัฐอเมริกา

ใน 11 อุตสาหกรรมหลัก คือ ยานยนต์, การธนาคาร, โครงสร้างพื้นฐาน, ประกันภัย, การจัดการการลงทุน, ชีววิทยาศาสตร์, อุตสาหกรรมการผลิต, ค้าปลีกและตลาดผู้บริโภค, เทคโนโลยี, พลังงาน และโทรคมนาคม

โดย1 ใน 3 ขององค์กรเหล่านี้มีรายได้มากกว่า 10,000ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และไม่มีองค์กรใดที่มีรายได้ต่ำกว่า 500ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

การสำรวจครั้งนี้ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21 ก.พ.- 11 เม.ย. 2560