เปิดบันทึกเจตนารมณ์รธน. กรธ.ชี้ชัดเซ็ตซีโร่กกต.ขัดม.70

เปิดบันทึกเจตนารมณ์รธน. กรธ.ชี้ชัดเซ็ตซีโร่กกต.ขัดม.70

เปิดบันทึกเจตนารมณ์รธน. เผยกรธ.ชี้ชัดเซ็ตซีโร่กกต.ขัดม.70พ.ร.ป.กกต. แถมย้ำชัด รธน.ประสงค์ให้กกต.คุณสมบัติครบอยู่จนครบวาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวระบุว่า กกต.พบบันทึกเจตนารมณ์ที่ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยคณะกรรมการการการเลือกตั้ง(กกต.) พ.ศ. .... ที่ระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติของกกต.ชุดปัจจุบัน ว่าให้กกต.ที่มีคุณสมบัติครบตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้นั้น พบว่าบันทึกเจตนารมณ์ดังกล่าว อาจเป็นบันทึกตารางความเห็นต่อร่างพ.ร.ป.กกต. ที่กรธ.เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของกรธ.ตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.2560 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในหมวดของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาแล้ว

โดยตารางความเห็นต่อร่างพ.ร.ป.กกต.ดังกล่าว มีเนื้อหาทั้งหมด 119 หน้า และเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการเสนอความเห็นจากฝ่ายต่างๆ และประกอบผลการพิจารณาของกรธ.ตอนท้ายเป็นรายมาตรา ที่จะระบุว่าขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร ซึ่งเนื้อหาที่ระบุเกี่ยวกับคุณสมบัติของกกต.นั้น อยู่ในหน้าที่ 106-111 ซึ่งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เป็นผู้เสนอความเห็นใน 2 ประเด็น คือ 1.ให้กกต.ปัจจุบัน 5 คน ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าพ.ร.ป.กกต.ประกาศใช้บังคับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 และ 2.เมื่อพ.ร.ป.กกต.บังคับใช้แล้ว ให้กกต.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ต้องมีคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้าม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 222 ประกอบ มาตรา 223 และมาตรา 216 ยังคงดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ กรธ.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สอดคล้องกับบทบัญญัติใน มาตรา 70 ของร่างพ.ร.ป.กกต. แล้ว

ส่วนประเด็นการดำรงตำแหน่งของกกต. ที่เสนอความเห็นโดยคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.ป.กกต.ของสนช. เสนอให้กกต.ชุดเดิมอยู่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ ประเด็นนี้ผลการผลการพิจารณาของกรธ. เห็นว่า ขัดต่อหลักการตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ ประสงค์ให้เฉพาะผู้มีคุณสมบัติ หรือ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น ที่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง เว้นแต่จะมีข้อยกเว้นเป็นพิเศษโดยเฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่น กรณีคุณสมบัติของสมาชิกสนช. ตาม มาตรา 263 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ อีกทั้งคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามตามที่กาหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น สูงกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมา การให้ผู้ไม่มีคุณสมบัติยังคงอยู่ ในตำาแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจึงเป็นการตีความที่ให้ผลประหลาดและอาจเกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองได้ เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

ทั้งนี้ ในหน้า 106 มาตรา 70 ของร่างพ.ร.ป.กกต. ที่ระบุ ให้ประธานกกต.และกกต.ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ บรรดาที่มี คุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม รัฐธรรมนูญ ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนกว่าจะครบวาระตามที่กำหนดในพ.ร.ป.กกต. ซึ่งข้อเสนอนายทรง บัณฑิตนันทิ ได้เสนอให้ เซ็ตซีโร่ กกต.ทั้งชุด โดยทำการรับสมัครและสรรหาใหม่ทั้งหมด เนื่องจาก กกต. ชุดใหม่เป็น การเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่พร้อมกัน อีกทั้งจะได้มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่เหมือนกัน ซึ่งทุกคนต้องมีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรมนั้น ผลการพิจารณาของกรธ.ระบุชัดเจนว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ มาตรา 70 ของร่างพ.ร.ป.กกต.