'4 หุ้นเด่น' โกยประโยชน์ EEC

'4 หุ้นเด่น' โกยประโยชน์ EEC

ใครรับประโยชน์ทางตรงและอ้อม จากโครงการ EEC หาคำตอบได้จาก บล.เอเชีย เวลท์ 'วชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย' ชี้โมเดลไทยแลนด์ 4.0 จะผลักดันจีดีพีขึ้นแท่น 5% ภายในปี 63

ทำอย่างไรประเทศไทยจะเป็น 'เขตอุตสาหกรรมระดับโลก' และจะมี 'ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5%' หลังในช่วงปี 2552-2559 ตัวเลขจีดีพีขยายตัวลดลงสู่ระดับ 3.1% แน่นอนว่า ทางการไทยตัดสินใจแก้โจทย์สำคัญนี้ ด้วย 'โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจThailand 4.0'

โดยมี 'โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC' ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องของ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ ESP ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2425 สมัยรัฐบาลของ 'พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์' เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลดังกล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลคสช.เชื่อมั่นว่า การลงทุนอย่างน้อย 1.5 ล้านล้านบาท ในช่วง 5 ปีแรก (ปี2560-2564) ผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางอุตสาหกรรม ภายใต้เงื่อนไขการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) โดยมีพื้นที่รวมกัน 13,285 ตารางกิโลเมตร

นอกจากจะทำให้เมืองไทยกลับมามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อปีระดับ 5% แล้วยังช่วยสร้างงานได้อย่างน้อย 100,000 ตำแหน่ง และยังดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้กว่า 10 ล้านรายในแต่ละปี
หลัง 3 จังหวัดภาคตะวันออก จะถูกพัฒนาเป็นเมืองใหม่สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 อุตสาหรรม แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม คือ 1.ยานยนต์ 2.ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3.การท่องเที่ยวและโรงพยาบาล 4.เกษตรและอาหาร และ 5.ปิโตรเคมี

ส่วน 5 อุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1.หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติ 2.การบินและโลจิสติกส์ 3.ดิจิทัล 4.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 5.การแพทย์ครบวงจร

ทว่าแม้ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พรบ.EEC) จะยังอยู่ในขั้นตอนของการขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเดือนก.ย.นี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในเดือนต.ค.2560
แต่ราคาที่ดินใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) กลับปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วหลายเท่าตัว หลังผู้ประกอบการจากหลากหลายอุตสาหกรรม แห่เข้าไปซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร

'วชิราลักษณ์ แสงเลิศศิลปชัย' ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเชีย เวลท์ เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเมืองไทยเติบโตต่ำเฉลี่ย 2-3% เมื่อเทียบประเทศเพื่อนบ้านที่ขยายตัวเฉลี่ย 6-8% เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เป็นต้น ที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% 4.8% 5.9% และ 6.7% ตามลำดับ

ขณะเดียวกันในช่วงปี 2557-2559 มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศยังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 25,000 ล้านบาทต่อเดือน หลังหลายปีที่ผ่านมา เทรนด์อุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับมีความขัดแย้งทางการการเมือง และระบบโลจิสติกส์ในไทยไม่ได้รับการพัฒนา

นอกจากนั้นเมืองไทยยังคงมีการผลิต แต่อุตสาหกรรมเดิมๆ โดยไม่มีการพัฒนาต่อยอด เช่น ฮาร์ดดิส เป็นต้น แม้บางอุตสาหกรรมเมืองไทยจะเป็นเจ้าแห่งวัตถุดิบ เช่น ยางพารา เป็นต้น แต่ไทยกลับไม่สามารถผลิตยางรถยนต์ได้เอง ตรงข้ามกับส่งออกวัตถุดิบให้ประเทศอื่นเป็นผู้พัฒนา

ทว่านับตั้งแต่รัฐบาลมีการโปรโมทโครงการพัฒนา EEC บวกกับมีการเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยเริ่มกลับเข้ามาอยู่ใน “แนวโน้มขาขึ้น” โดยมีมูลค่าสูงกว่า 50,000 ล้านบาทต่อเดือน ในเดือนพ.ย.2559 และเดือนก.พ.2560

ฉะนั้นคงต้องจับตามองต่อไปว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยที่จะเกิดจากโครงการพัฒนา EEC จะมีจำนวนเท่าใด

ส่วนตัวเชื่อว่า อาจมีจำนวนสูงขึ้น หลังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ออกมาตรการจูงใจนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในระดับสูง ถือเป็นนโยบายที่จูงใจมากที่สุด นับตั้งแต่เคยประกาศเป็นมาตรการในไทย

เช่น ลดภาษีนิติบุคคล 50% เป็นเวลา 5 ปี นอกเหนือจากการยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลา 13 ปี,ผู้ลงทุนสามารถทำการค้าโดยใช้สกุลเงินต่างประเทศได้โดยตรง โดยไม่ต้องแปลงเป็นเงินบาท และวีซ่าธุรกิจมีอายุ 5 ปี
รวมถึงมีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดที่ 17% สำหรับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญของบริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีสำนักงานใหญ่และสิ่งก่อสร้างตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC เป็นต้น

'ตั้งแต่ปี 2533-2558 เมืองไทยมีตัวเลขทางเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ย 7% แม้ในอดีตจะเคยประสบปัญหาวิกฤตต้มยำกุ้ง ฉะนั้นหากวันนี้ทางการไม่คิดต่อว่า จะผลักดันเศรษฐกิจด้วยโมเดลใดตัวเลขจีดีพีจะตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง' วชิราลักษณ์ แจกแจง

เมื่อถามถึงรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่อาจได้รับผลประโยชน์จากโครงการ EEC 'ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์' บอกว่า บมจ.อมตะคอร์ปอเรชัน หรือ AMATA ถือเป็นผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมสัญชาติไทยที่อาจได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการพัฒนา EEC

หลังราคาขายที่ดินของบริษัทในช่วงปี 2560-2561 อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5% ต่อปี โดยเฉพาะที่ดินในอมตะนคร ชลบรี และอมตะซิตี้ ระยอง แม้ในอนาคตอาจมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็กเข้าไปตั้งในพื้นที่ EEC ก็ตาม
ฉะนั้นอมตะแทบจะไม่จำเป็นต้องรีบขายที่ดิน เพราะในอนาคตราคาที่ดินน่าจะปรับตัวขึ้นอีก จากตอนนี้ราคาขายเริ่มต้นค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเมียนมาที่ก่อนหน้านี้ตั้งราคาขายที่ดินสูงถึง 6 ล้านบาทต่อไร่ ทั้งๆที่ระบบน้ำและไฟฟ้ายังไม่มีความสะดวกมากพอ

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมชลบุรี ขายเพียงไร่ละ 4 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่เคยแห่ไปลงทุนในเมียนมาต้องสะดุดกลับมาลงทุนในจังหวัดชลบุรีเหมือนเดิมบางรายก็หันไปลงทุนในอินโดนีเซีย
นอกจากนั้นอาจเห็นการเติบโตของกำไรที่เร็วขึ้นในปี 2560-2563 หลังผลการดำเนินงานในช่วงปี 2558-2559 อยู่ในลักษณะตกต่ำ ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ลดลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ และภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ

'หากโครงการ EEC แล้วเสร็จ ก็มีความเป็นไปได้ว่า ประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือพม่า อาจต้องตามหลังเมืองไทย หลังก่อนหน้านี้พยายามมอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ'

เธอ เล่าต่อว่า ปัจจุบันอมตะเเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ในประเทศไทยและเวียดนาม ไล่มาตั้งแต่ 1.อมตะนคร ชลบรี 2.อมตะ ซิตี้ ระยอง 3.นิคมอุตสาหกรรมระยอง (ไทย-จีน) ในอมตะซิตี้ และ 4.อมตะ เวียดนาม
ล่าสุดมีแลนด์แบงก์อยู่ในมือมากถึง 14,137 ไร่ สามารถรองรับยอดขายได้ถึง 10 ปีข้างหน้า หลังเจ้าของตัวจริงอย่าง 'วิกรม กรมดิษฐ์' ทยอยเก็บที่ดินเข้าพอร์ตอย่างต่อเนื่อง จากที่ดินทำเลทองที่มีอยู่ในมือจำนวนมาก ทำให้เชื่อมั่นว่า อาจมีการเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างประเทศมากขึ้นในอมตะ

หากมองในแง่ของการลงทุน วันนี้ราคาหุ้นยังมีอัพไซด์เฉลี่ย 23% จากราคาปัจจุบัน ฉะนั้นแนะนำ 'ซื้อ' ราคาเป้าหมาย 20.90 บาท เพราะนอกจากจะได้ประโยชน์จากราคาที่ดินที่อาจเพิ่มขึ้นแล้ว บริษัทยังมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ จากธุรกิจสาธารณูปโภคที่คิดเป็น 10-12% ของรายได้ทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมียอดขายที่ดินที่แข็งแกร่งในเวียดนามที่คิดเป็น 7% ของรายได้รวม

'ปี 2560-2561 อมตะอาจมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18% และ 17% ตามลำดับ'

กูรูตลาดหุ้น แจกแจงต่อว่า บมจ.วิค แอนด์ ฮุนลันด์ หรือ WLLK ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จะได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนา EEC เพราะโรงงานผลิตท่อของบริษัทตั้งอยู่ในจังหวัดระยอง ฉะนั้นย่อมได้ประโยชน์มากในด้านการขนส่งสำหรับพื้นที่พัฒนาของ EEC

ยิ่งในอนาคตโครงการดังกล่าวจะมีการเร่งก่อสร้างสาธารณูปโภค และวางท่อ ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมและกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจะตื่นตัวมากขึ้น ด้วยการทำการบริหารจัดการระบบน้ำประปาและน้ำทิ้ง WLLK ยิ่งได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะบริษัทมีนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับธุรกิจท่อ HDPE แม้ราคาจะสูงกว่าท่อซีเมนต์ และท่อเหล็กหลายเท่าตัวก็ตาม

หากมองในแง่ของผลประกอบการในปี 2560-2561 แม้เราจะปรับลดกำไรสุทธิลง 5%และ 7% ตามลำดับ จากผลกระทบของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่บริษัทต้องเริ่มจ่ายในปี 2560 ในอัตรา 15-20% หลัง TAX Shield หมดลง แต่เชื่อว่าบริษัทจะมีศักยภาพเติบโตจากธุรกิจท่อ HDPE และธุรกิจการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้ชื่อ WLLK Water ที่คาดว่าจะเติบโตไปกับการพัฒนา EEC

โดยเฉพาะธุรกิจการบริหารจัดการน้ำที่เป็น Recurring Income หลังเริ่มดำเนินการมาได้ปีกว่า ปัจจุบันมีลูกค้าในมือแล้ว 2 ราย ตามแผนบริษัทต้องการมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละ 2 ราย อายุสัญญารายละ 20 ปี และต้องการแตกไลน์ไปสู่ 'น้ำประปาชุมชน' ที่สำคัญในอนาคตมีแผนจะนำ WLLK Water เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

'แนะนำซื้อลงทุนระยะยาว ราคาเป้าหมาย 6.70 บาท หลังคาดว่า กำไรสุทธิในปี 2560-2561 จะขยายตัวประมาณ 14% และ 15% ตามลำดับ แม้จะมี Dilution หากมีการแปลงวอร์แรนต์ (WLLK-W1) ประมาณ 100 ล้านหุ้น (วอร์แรนต์หมดอายุวันที่ 16 มิ.ย.2561)'

'วชิราลักษณ์' เล่าต่อว่า สำหรับหุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์เต็มๆ จากโครงการพัฒนา EEC คือ บมจ.บูรพา เทคนิคอล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ ETE เพราะโครงการดังกล่าวจะมีความต้องการโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้า และโทรคมนาคม ฉะนั้นการที่บริษัทมีความสามารถในการบริการติดตั้งและปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีแรงดัน 115 Kv ย่อมได้รับประโยชน์โดยตรง

ส่วนตัวเชื่อว่า ประสบการณ์ที่สะสมมานานเกี่ยวกับระบบส่งส่งไฟฟ้อาจทำให้บริษัทขยับตัวไปทำระบบสายส่งไฟฟ้าที่มีแรงดัน 230 Kv ที่มีอัตรากำไรสูงและคู่แข่งน้อยกว่า สอดรับกับความต้องการของโครงการ EEC ฉะนั้นเชียร์ ซื้อ เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันยังมีอัพไซด์สูงเกือบ 60% เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมาย 6.20 บาท

สำหรับหุ้นตัวสุดท้ายที่เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อม จากโครงการพัฒนา EEC คือ บมจ. ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT เนื่องจากไทยตั้งเป้าที่จะโปรโมทอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสหกรรมการบิน ผ่านการปรับปรุงท่าอากาศอู่ตะเภาให้เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 49 บาท หลังในปี 2560 AOT กำลังพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ด้วยค่าใช้จ่ายในการลงทุน 54,000 ล้านบาท ประกอบด้วยสัญญา 7 ฉบับ ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 63,000 ล้านบาท โครงการดังกล่าวจะเปิดให้บริการในเดือนพ.ย.2562 สามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 15 ล้านรายต่อปี จากปัจจุบันที่ 45 ล้านราย เป็น 60 ล้านราย

'โครงการพัฒนา EEC คงจะทำให้ตัวเลขจีดีพีเมืองไทยขยายตัวมากกว่า 5% ได้ภายในปี 2563' กูรูตลาดหุ้น ยืนยันเป้าหมาย