ดีเดย์เก็บภาษีความหวาน 16 ก.ย.นี้

ดีเดย์เก็บภาษีความหวาน 16 ก.ย.นี้

กรรมสรรพสามิต เดินหน้าจัดเก็บภาษีความหวาน ดีเดย์ 16 กันยายนนี้ ด้าน อย. ออกโลโก้ทางเลือกสุขภาพ หวังเปลี่ยนพฤติกรรมติดทานหวานของคนไทย

ตลาดเครื่องดื่มในไทยมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งปัจจัยหลักจากการเติบโตนี้มาจากเครื่องดื่มที่มีรสหวาน เนื่องจากคนไทยติดการทานหวาน โดยเทียบได้จากสถิติที่จำนวนคนเป็นโรคหวาน มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 6.9 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 8.9 ในปี 2557 รวมถึงจำนวนผู้มีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.7 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 37.5 ในปี 2557 ภาครัฐจึงต้องการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมขอองผู้บริโภค ให้หันมาลดการทานหวาน มัน เค็ม เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

ผอ.สำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต ณัฐกร อุเทนสุต บอกว่ามาตรการหนึ่งที่ภาครัฐบังคับใช้ เพื่อแก้ไขปัญหาคนไทยติดรสหวาน คือการจัดเก็บภาษีความหวาน โดยมีเกณฑ์ว่า หากผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 ต่อ 100 มล. จะเก็บภาษีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับ
โดยเครื่องดื่มที่เสนอจัดเก็บภาษีประกอบด้วย น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลังและเกลือแร่ น้ำผลไม้และน้ำพืชผัก เครื่องดื่มชนิดผง เครื่องดื่มชนิดเข้มข้น ซึ่งในกรณีนี้รวมถึงเครื่องดื่มที่หวานตามธรรมชาติ ไม่ได้ใส่น้ำตาลเพิ่มด้วย เพราะก็สามารถทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากน้ำตาลได้เช่นกัน
ส่วนแนวทางในการจัดเก็บภาษีความหวานนั้น จะให้ผู้ประกอบการเริ่มปรับเปลี่ยนส่วนผสมของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์ของตนเอง 2 ปี คือ 16 ก.ย.2560-30 ก.ย.2562 ถ้าหากทำได้ จะให้สิทธิผู้ประกอบการในการเสียภาษีเท่าเดิม แต่ถ้ารายใดปรับได้ช้ากว่านั้น จะเริ่มจัดเก็บภาษีแบบอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นไป
โดยสาเหตุที่วางมาตรการด้านภาษีความหวานขึ้นมานั้น เนื่องจากต้องการให้ทั้งผู้ผลิตที่คิดส่วนผสมของเครื่องดื่มต่างๆ หันมาปรับสูตรใส่น้ำตาลน้อยลง ซึ่งเป็นการปรับตั้งแต่ต้นทาง เพื่อที่ได้ประโยชน์ทั้งตัวผู้ประกอบการที่เสียภาษีลดลง และผู้บริโภคที่มีเครื่องดื่มทางเลือกเพื่อสุขภาพมากขึ้น
ผอ.สำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ กล่าวเสริมว่า ทาง อย.ยังได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ติดสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ" เพื่อแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการควบคุมปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ ให้ลดลงอย่างเหมาะสมตามปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้ตัดสินใจง่ายขึ้น