จะยื้อชีวิตไปทำไม

จะยื้อชีวิตไปทำไม

เหตุใดต้องมีพินัยกรรมชีวิต ลองอ่านการเผชิญหน้ากับความตายและพินัยกรรมชีวิตพระไพศาล วิสาโล

...........................

“ถ้าเด็กๆ ถามว่าทำไมเราต้องตาย จะตอบว่าอย่างไรดี?”

“คิดว่าจะตายตอนอายุเท่าไหร่? ”

“มีอะไรบ้างที่อยากทำก่อนตาย? ”

“อยากให้ใครอยู่ด้วยตอนวาระสุดท้าย?”

“จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าทุกคนบนโลกเป็นอมตะ? ”

……………….

หลายคนคงเคยตั้งคำถามเหล่านี้ และนี่คือส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Happy Death day ซึ่งเครือข่ายพุทธิกา และหลายองค์กรร่วมกันจัด เพื่อให้คนไทยเข้าใจความตายในหลายมิติ และกล้าเผชิญหน้ากับความตาย

และเป็นครั้งแรกที่ พระไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ผู้ริเริ่มโครงการเผชิญหน้ากับความตายมานานกว่า 13 ปี เปิดเผยพินัยกรรมชีวิต และแสดงเจตจำนงต่อสาธารณชน ทั้งๆ ที่ท่านยังสุขภาพแข็งแรง แต่ท่านคิดว่า การเปิดเผยพินัยกรรมของตัวท่าน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยได้ไตร่ตรองวางแผนระยะสุดท้ายของชีวิต

1.

พระไพศาล เพิ่งผ่านวันครบรอบวันเกิดอายุ 60 ปีมาไม่นาน ท่านเกิดวันที่ 10 พฤษภาคม2500 และได้เขียนพินัยกรรมชีวิตไว้เกือบสองปีแล้ว โดยปิดผนึกซองมอบไว้ที่รองเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต และสั่งว่า “ถ้าอาตมาป่วยระยะสุดท้ายให้เปิดผนึกซอง แล้วทำตามที่มอบหมายไว้”

“ระยะท้ายๆ ของชีวิตคนเรา เราควรคิดเรื่องนี้ได้แล้ว ทุกวันนี้คนเป็นทุกข์มาก เพราะไม่ได้เตรียมตัว โดยเฉพาะคนป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่ต้องการยื้อชีวิต แม้จะเคยคิดว่าอยากยื้อ แต่โดนยื้อจริงๆมันทรมานมาก”

เมื่อใดก็ตาม ที่ใครก็ตามกลายเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้แล้ว บางคนสื่อสารไม่ได้แล้ว และหมอก็ไม่ได้บอกข้อดีข้อเสียในการรักษาโดยใช้เคร่ื่องมือทางการแพทย์ยื้อชีวิต และส่วนใหญ่กระบวนการตัดสินใจอยู่ที่ญาติพี่น้อง 

     “เครื่องมือเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ใช้วันเดียว บางคนเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี คนไข้บางคนวิงวอนขอให้ปลด แต่ไม่มีใครกล้าทำ นอกจากนี้ยังมีคนทุกข์อีกกลุ่ม บางคนกู้ยืมเงินมายี่สิบสามสิบล้านเพื่อรักษาพ่อแม่ เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะทำให้คนที่เรารัก แต่บางทีคนที่เรารักไม่ต้องการ”

2

การแสดงเจตจำนงหรือทำพินัยกรรมชีวิตไว้ก่อนที่จะป่วยระยะสุดท้าย ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการจัดการทรัพย์สินเงินทองให้ลูกหลาน

พระไพศาล บอกในช่วงเปิดพินัยกรรมชีวิตว่า การแสดงเจตจำนงล่วงหน้า ควรคุยกับลูกหลาน ญาติพี่น้องให้รู้เรื่อง

“เคยเจอกรณีไม่ทำพินัยกรรม แล้วลูกสามคนบอกว่าไม่ยื้อ อีกคนบอกว่ายื้อ คนเดียวก็ชนะ เพราะทำอย่างนั้นจะถูกว่าอกตัญญู เรื่องนี้หมอช่วยได้ ต้องบอกว่า การยื้อหรือไม่ยื้อ มีข้อดีข้อเสียอย่างไรและยังมีกระบวนการรักษาแบบประคับประคองดูแลกายและใจหรือไม่ ”

นอกจากนี้ท่านยังได้ยกตัวอย่างกรณีคนไข้รายหนึ่งทรมานมาก มีเครื่องมือทางการแพทย์ระโยงระยาง  ตอนที่ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งไปเยี่ยมและมีประสบการณ์อยู่บ้างสังเกตว่าคนไข้อ้าปากและปากแห้ง ท่านขอวาสลินให้คนป่วย แต่ไม่มี ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีเป็นสิบล้าน เพื่อยื้อชีวิต

“เมื่อทาวาสลินไปแล้ว ใช้หน้ากากปิดปาก เพื่อรักษาความชื้น ปรากฎว่าอาการทรมานหาย เนื่องจากปากแห้ง นี่คือ การดูแลแบบประคับประคอง แต่บางคนผิวแห้งคนไข้เกลา ก็ต้องช่วยลดความทุกข์ทรมาน บางทีก็ให้มอร์ฟีนบ้าง”

บางกรณีหมอให้คำแนะนำก็ไม่ต้องยื้อ ซึ่งลูกหลานก็ยินยอม เรื่องนี้พระไพศาล บอกว่า หมอจำนวนมากไม่มีความรู้เรื่องการลดความทุกข์ทรมาน รู้แต่ว่า จะใช้ความรู้เทคโนโลยีชั้นสูงยื้อชีวิตให้นานที่สุดได้อย่างไร เพราะเรื่องพื้นฐานหมอส่วนใหญ่ไม่มีจึงต้องไปเรียน

“หมอที่ไปเรียนก็จะรู้ว่า ไม่ต้องยื้อก็ได้ คนไข้ก็ตายสงบได้ และตายอย่างมีคุณภาพด้วย ถ้าได้คุยกับคนไข้ก่อนที่เขาจะป่วยหนักพูดไม่ได้ เพื่อจะได้ทำตามสิ่งที่เขาต้องการ แต่ลูกๆ มักจะเข้าใจว่าวาระสุดท้ายจะต้องทำทุกอย่างให้ร่างกายผู้ป่วยคือ เจาะคอ ล้างไต ใส่ท่อ แล้วคิดว่านี่คือความกตัญญูกับพ่อแม่ในวาระสุดท้าย แต่เราแน่ใจได้ยังไงว่า นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเขา”

นอกจากนี้ ท่านยังได้ยกตัวอย่างกรณีคนไข้รายหนึ่ง ลูกๆ ของเขาบอกว่าให้ใช้เทคโนโลยีช่วยชีวิตแม่ของเขาเต็มที่เลย   

"ตอนนั้นคุณหมอสุมาลี นิมมานนิตย์ที่เสียชีวิตไปแล้ว เล่าให้ฟังว่า วันหนึ่งมีคนมารายงานว่า มีคนไข้อายุ70ไตวาย และร่างกายแย่ ลูกสาวเขาบอกหมอว่า ถ้าแม่เป็นอะไร ให้ปั้มหัวใจ ไตวายล้างไต ทำทุกอย่าง ทั้งๆ ที่คุณหมออธิบายว่า แม้ล้างไต ก็ไม่ดีขึ้น เพราะอวัยวะย่ำแย่แล้ว โดยบอกว่า คุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่แม่ของคุณต้องการคือความสงบใจ ลูกสามารถทำให้แม่สงบได้ด้วยการพูดให้แม่มีความสุข

ลูกๆ ตาเป็นประกาย เพราะไม่เคยได้ยินสิ่งเหล่านี้จากหมอ พอทำอย่างนั้นไปแล้ว แม่ที่โคม่าตอบสนองดีขึ้น ก็เลยเข้าใจว่าไม่ใช่การยื้อ แต่เป็นการทำให้แม่ใจสงบ  สำหรับคนที่ใกล้ตาย สิ่งที่ดีที่สุดไม่ใช่การยื้อหรือการใช้เทคโนโลยีนานาชนิดกับร่างกาย แต่ต้องช่วยให้เขามีความสุขทางใจ และช่วยให้ทางกายมีความทุกข์ทรมานน้อยลง”

อีกเรื่องที่พระไพศาล สรุปให้ฟังคือ ความกตัญญูของลูกที่มีต่อพ่อแม่ อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้

“สิ่งที่ดีที่สุดของเรา อาจเป็นโทษต่อพ่อแม่ของเรา ที่กำลังจะตาย ก็เป็นได้”

3

เป็นเรื่องปกติ ถ้าไปโรงพยาบาล ก็ได้เห็นผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยเป็นผักอยู่ในห้องไอซียู หลายคนมีเครื่องมือการแพทย์ระโยงระยาง และหลายคนถูกใส่ท่อช่วยหายใจ

นั่นใช่ทางเลือกหรือไม่ เมื่อคนเหล่านั้นไม่สามารถสื่อสารได้แล้ว พระไพศาล บอกว่า 

"อาตมามีความเชื่อว่า แม้คนจะอยู่ในโคม่าหรือเป็นผัก เขารับรู้ได้ อาตมาเชื่อแม้กระทั่งคนที่ตายไปแล้วยังรับรู้ได้ เคยไปเยี่ยมแม่ของเพื่อนที่อยู่ระยะสุดท้าย ตอนนั้นลูกสาวเขาบอกว่า แม่สิ้นลมแล้วตอนที่หมอยังไม่ถอดสัญญาณชีพเครื่องมือต่างๆ อาตมาพูดกับเธอว่า ให้นึกถึงพระรัตนตรัย และให้ละทุกสิ่ง ซึ่งตอนหลังลูกของเขามาบอกว่า ตอนที่อาตมาคุยกับแม่เขา สัญญาณชีพหัวใจยังทำงาน ถ้าไม่ใช่ความบังเอิญ แสดงว่าแม่เขายังรับรู้สิ่งที่อาตมาพูด ดังนั้นเวลาอาตมาไปเยี่ยมคนใกล้ตาย ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ก็จะพูดกับเขาเสมือนเขารับรู้ได้”

พระไพศาล เล่าต่อว่า เป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจ คนจำนวนไม่น้อยหัวใจหยุดเต้น ปั๊มหัวใจให้ฟื้นขึ้นได้ เขาสามารถเล่าว่าเห็นอะไร แล้วสิ่งที่เห็น มันเป็นความจริง

“มีกรณีหนึ่ง คนที่โคม่าหมดสติไม่น่าเห็นอะไรแล้ว เขาเห็นพ่อตัวเองกำลังกดน้ำที่ตู้อัตโนมัติกลางดึกในเวลาเดียวกับที่หัวใจเขาหยุดเต้น และตรงนั้นไม่มีใครอยู่ มีแต่พ่อเขาคนเดียว พ่อเขาก็ยืนยันว่าใช่ เพราะฉะนั้นเวลาตายทางการแพทย์ หรือตายทางกาย ยังมีคำอธิบายตามแนวทางพุทธศาสนาว่าโดยธรรมชาติจิตแตกดับหลังกาย เพราะฉะนั้นเวลาหัวใจหยุดเต้น จิตยังรับรู้ได้

ทางทิเบตเชื่อว่า ก่อนที่จิตจะแตกดับใช้เวลาสามวัน ถ้าเป็นอาจารย์ฝึกกรรมฐานก็นานกว่านั้น และการรับรู้เกิดขึ้นได้ แม้หัวใจจะหยุดเต้น ถ้าอย่างนั้น หากเราจะบอกอะไรเขาก็บอกได้ แม้หมอจะประกาศว่าหัวใจหยุดเต้นแล้ว เขายังรับรู้ สามารถได้ยิน เห็้น และนี่คือ โอกาสที่เราสามารถทำให้คนที่เรารักแต่สมัยนี้ผ่านไปสองชั่วโมงก็ฉีดยาให้ศพแล้ว มีเพื่อนของเพื่อนป่วยแล้วตาย หลังจากจะฉีดฟอร์มาลีน พอนำเข็มไปจิ้มที่ร่างกาย เท้ากระดิก ปรากฎว่าฟื้น ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ปรากฎการณ์นี้ไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะเดี๋ยวนี้เราไม่ปล่อยให้ศพเสื่อมสลายตามธรรมชาติ"

...........................

(((เปิดพินัยกรรม)))

พระไพศาล วิสาโล

“เมื่อข้าพเจ้าป่วยอยู่ในระยะสุดท้าย รักษาไม่หาย ไม่ตอบสนองต่อการรักษา ต้องตายแน่ๆ ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ ในพินัยกรรมของอาตมา ห้ามกระทำต่อร่างกายอาตมาดังต่อไปนี้

1 ห้ามผ่าตัดใหญ่

2 ห้ามใช้เครื่องช่วยหายใจ หากหายใจด้วยตัวเองไม่ได้แล้ว

3 ห้ามปั้มหัวใจ หากหัวใจหยุดเต้น

4 ห้ามใช้เทคโนโลยีเพียงเพื่อยื้อชีวิต โดยไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

ในกรณีที่ใช้เครื่องช่วยหายใจกับข้าพเจ้า เนื่องจากแพทย์ไม่ทราบเจตจำนงมาก่อน หากได้ทราบแล้ว ขอให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ร่างกายของข้าพเจ้าเป็นไปตามวิถีธรรมชาติ โดยไม่มีการยื้อชีวิต

อาตมาได้ระบุชื่อคนที่จะช่วยตัดสินใจคือ หมอหนึ่งท่าน และฆราวาสสองท่าน ทั้งหมดได้ร่วมการอบรมกับอาตมามานานสิบกว่าปี จะเข้าใจและรับรู้ความคิดด้านนี้พอสมควร

การเจ็บป่วยในระยะสุดท้ายของอาตมา ระบุไว้ในสมุดเบาใจ หน้า 5 คือ ไม่เอาการกู้ชีพโดยปั้มหัวใจ,ไม่เอาการเจาะคอหรือท่อช่วยหายใจผ่านหลอดลม,ไม่เอาการล้างไตเมื่อไตวาย,ไม่เอา การให้อาหารทางสายยางเมื่อไม่ช่วยให้ดีขึ้น และไม่เอายาปฎิชีวนะหรือสารน้ำใดๆ

เมื่อตายแล้วอวัยวะและร่างกายของข้าพเจ้า ขอมอบร่างให้สภากาชาดไทย ถ้าไม่สามารถทำได้ ขอมอบร่างกายให้คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้ประโยชน์ทางการศึกษาและวิจัย

และขอให้ปลงศพที่วัดป่าสุคะโต สวดสามวัน แล้วเผา จะเผาวันไหนให้ประกาศล่วงหน้าเพียงหนึ่งวัน เพื่อไม่เป็นภาระของญาติโยมในการเดินทางมางานเผาศพ

แล้วให้บรรจุอัฐไว้ที่ลานหินโค้ง วัดป่าสุคะโต ใกล้ๆ กับหลวงพ่อคำเขียน หลวงพ่อเทียน อาจารย์กำพล และเพื่อนๆ อีกหลายท่าน

ส่วนอังคารให้โปรยในป่าภูหลง เพราะอาตมาเคยค้างแรมระหว่างรักษาป่า เพื่อให้อัฐิคืนสู่ธรรมชาติ อาจป้องปรามว่า มีอัฐิของอาตมาอยู่ตรงนั้น พร้อมจะมาหลอกหลอนได้ทุกเมื่อ หากใครตัดไม้ทำลายป่า”

..............................

(((เอาชนะความกลัวตาย)))

หลวงพี่มีความอาลัยอาวรณ์ชีวิตไหม

พระไพศาล : ไม่ได้มีความรู้สึกแบบนั้น พร้อมตายได้ทุกเมื่อ เรื่องอาลัยอาวรณ์ คงไม่เกิดกับตัวเอง เพราะซ้อมตายอยู่เสมอ และชีวิตที่ผ่านมา ได้ใช้คุ้มค่า อาตมาคิดว่า ช่วง40 ปีหลังที่ใช้ชีวิต ถือว่ากำไรแล้ว ควรตายตั้งแต่เมื่อ 6 ตุลาแล้ว

ควรใช้ชีวิตยังไง เพื่อที่จะไม่กังวลต่อความตาย

พระไพศาล : 

1 พยายามทำความดี ละเว้นความชั่ว เพราะความดีจะทำให้เราภูมิใจกับชีวิต ไม่ต้องกลัวว่าตายแล้วไปไหน ถ้าเราทำความดีพอ ไม่จำเป็นต้องยื้อชีวิตแล้ว เพราะได้ทำความดีพอสมควร และเต็มใจที่จะตาย

    2 ทำหน้าที่ที่เราควรทำครบถ้วนกับคนที่เรารัก กับสังคมและประเทศชาติ แล้วเราก็จะไม่เสียใจ และเราต้องฝึกปล่อยวางตั้งแต่วันนี้

เราเกลียดใคร เราจะนึกถึงคนนั้นมาก เราจำคนที่แกล้งเรา ทรมานเรา ทำไมต้องจำ ความโกรธ จะเผารนเรา ทำไมต้องยึด ทำไมไม่รู้จักปล่อย ฝึกปล่อยตั้งแต่วันนี้ ต้องเจริญสติ การเจริญสติจะช่วยเรา ความปวดที่เจ็บหนัก ทุกข์เวทนาทางกาย จะทำให้เราเป็นทุกข์ แต่ถ้าเรามีสติ เราก็สามารถอยู่กับความเจ็บปวดความทุกข์กายได้ เพราะสติ ช่วยทำให้หลุดจากทุกขเวทนา ทำให้เรารู้ทันความโกรธ ความเกลียด ความอึดอัดขัดใจ

    ความเจ็บทางกายไม่สำคัญเท่ความเจ็บทางใจที่ทำให้เราทุกข์ใจ กายปวด ก็ปวดไป แต่ใจสงบรู้ทันและวางลง การเจริญสติทำให้เราประคองใจให้เป็นปกติได้ และสุขใจได้เมื่อความตายใกล้เข้ามา การปฎิบัติธรรม ก็เพื่อการปล่อยวาง ปวดกายแต่ใจไม่ปวด ทำให้วันตายเป็นสุขได้

ในชีวิตของท่าน เรื่องใดที่เคยกลัวมากที่สุด

    พระไพศาล : บอกว่า เหตุการณ์ 6 ตุลา ตอนนั้นถูกต้อนไปสนามหลวง แล้วให้ถอดเสื้อ นำรถเมล์มาลำเลียงพวกเรา มีประชาชนสองข้างทาง ตอนนั้นอาตมาโดนเตะถีบ ตอนนั้นไม่ได้กลัว แต่ตอนที่กลัวจริงๆ คือ ตอนขนพวกเขาออกจากธรรมศาสตร์ไปทางท่าพระจันทร์มาสนามหลวง ปรากฎว่าติดไฟแดง ประชาชนที่อยู่รอบๆ ก็พยายามเข้ามาในรถพร้อมไม้ แต่เข้ามาไม่ได้ เพราะประตูปิด พวกเขาพยายามเข้ามาทางหน้าต่าง เอาไม้ฟาด เสียงที่ตีหน้าต่างรถเมล์ดังมาก

    ตอนนั้น ถ้าพวกเขาขึ้นมาได้ คงแย่แน่ เพราะเราช่วยตัวเองไม่ได้ อาตมาก็ได้แต่คิดว่า เมื่อไหร่จะไฟเขียว เป็นช่วงที่กลัวตายมาก เพราะมันเป็นการประชาทัณฑ์

     อีกช่วงตอนที่ไปโรงเรียนพลตำรวจ ชลบุรี ก็คิดว่าเราคงตาย เพราะเขาคงเอาพวกเราไปทิ้งทะเล ในใจก็คิดว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรกับตัวเอง จะไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง ตอนนั้นเชื่อเรื่องอหิงสาแล้ว

ท่านเอาชนะความกลัวตายได้ยังไง

    พระไพศาล: อาตมาพยายามซ้อมตายอยู่เสมอ คิดถึงความตายก่อนนอน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราฝึกมาหลายสิบปี อาตมาซ้อมตายเวลาเดินทาง ขึ้นรถ ขึ้นเครื่อง ก็จินตนาการในขณะที่มีโอกาสบางครั้งก็วูบ ได้ฝึกรู้ทันเรื่องความตาย

     ความกลัวไม่ใช่สิ่งที่เราต้องกด ต้องห้าม แต่เป็นสิ่งที่ต้องรู้ทัน อาตมาก็คิดเสมอว่า ถ้าต้องตายเพราะอุบัติเหตุจะน้อมใจไว้ที่ไหน นอกจากฝึกให้รู้ทันความกลัว ก็ต้องฝึกว่า จะเอาใจไว้ที่ไหน อาตมาซ้อมอยู่เสมอ ไม่ใช่แค่การเดินทาง มีเหตุการณ์หลายอย่างในชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับเรา เราจะทำใจยังไง ถ้าเราซ้อมบ่อยๆ เราจะได้มีความพร้อม

อาตมาคิดว่าการซ้อมตาย จะทำให้เรากลัวตายน้อยลง

เรียนรู้ที่จะให้อภัยคนยังไง

   พระไพศาล: อาตมาเริ่มสมาทานอหิงสา ตั้่งแต่ก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ตั้งแต่ปี 2517 แต่นั่นเป็นแค่ความคิด ตอนที่อาตมาเริ่มเรียนรู้การให้อภัย ก็คือ ตอนถูกกระทืบและเตะล้มลงไป อาตมาเงยหน้าไปที่คนทำ อาตมาเห็นหน้าคนที่เตะอาตมา แล้วรู้สึกสงสารเขา เขาถูกครอบงำด้วยความโกรธ ความเกลียด เป็นใบหน้าที่น่าสงสาร อาตมาก็คิดว่า เขาทำแบบนี้ เขาต้องรับกรรม จึงเกิดความสงสาร ไม่ได้เกิดความโกรธ ความเกลียด

  อาตมาก็ตั้งปณิธานเลยว่า จะเป็นศัตรูกับความโกรธ ความเกลียด จะเอาความรักความเมตตามาแทนความโกรธ รวมถึงคนที่คิดจะเอาอาตมาไปทิ้งทะเล ก็ไม่โกรธ ตอนนั้นก็ยังกลัว ใจฝ่อ

อาตมาได้เรียนรู้ที่จะรักคน ให้อภัยคน เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความคิด แต่เกิดขึ้นเมื่อเราถูกทำร้าย เพราะเราฝึกอยู่เสมอ

..................