‘รีคัลท์’ ขอแก้โจทย์ยาก ทุน&ผลผลิตเกษตรกร

‘รีคัลท์’ ขอแก้โจทย์ยาก  ทุน&ผลผลิตเกษตรกร

เป็นชายหนุ่มหน้าใสวัย 28 ที่ไม่ธรรมดาเลย สำหรับผู้ร่วมก่อตั้ง รีคัลท์ (ricult) โซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและแมชชีนเลิร์นนิ่งมาช่วยพัฒนาเพิ่มคุณภาพผลผลิตให้เกษตรกรไทย ทั้งยังจะช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

โปรไฟล์ของ “อุกฤษ อุณหเลขกะ” (เอิร์น) นั้นเรียนจบปริญญาโทวิศวกรรม และบริหารจัดการจากเอ็มไอที (Massachusetts Institute of Technology) เคยทำงานเป็นที่ปรึกษาอยู่ที่แอ็คเซ็นเจอร์ ที่สำนักงาน บอสตัน และ เป็นวิศวกรด้านซอฟแวร์ ที่ซิสโก ซิลิคอน วัลเล่ย์


ประการสำคัญเขากับเพื่อนๆร่วมสถาบันซึ่งมีทั้งอเมริกัน ,จีน และปากีสถาน พารีคัลท์ไปคว้ารางวัลใหญ่ ๆมามากมาย อาทิ กิจการเพื่อสังคมที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย ,เป็นผู้ชนะในรายการโกลบอล โซเชียล เวนเจอร์ ,ได้รับรางวัลชนะเลิศ ฟินเทค ดิสรัพ ชาเลนจ์ ที่จัดโดยมูลนิธิ บิล เกตต์ รวมถึงได้รับการยกย่องว่าเป็นนวัตกรรมยอดเยี่ยมทางด้านธุรกิจเพื่อการเกษตร จากองค์การสหประชาชาติอีกด้วย


ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาด้านการเกษตรถือเป็นปัญหาของโลก ซึ่งในความเป็นจริงมีอยู่เยอะมาก มีตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ


“แต่ความที่เราเป็นสตาร์ทอัพ คงแก้ทุกปัญหาไม่ได้ ต้องเลือก ที่รีคัลท์เลือก คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน กับการเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกร ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการแก้ปัญหาได้ทั้งสองเรื่อง”


เทคโนโลยีที่ว่าก็คือ การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมตรวจดูผืนดินทำกินของเกษตรกรแต่ละราย และทำการวิเคราะห์หาแร่ธาตุ สามารถให้คำแนะนำได้อย่างตรงจุดว่าควรจะใส่ปุ๋ยอะไร ต้องรดน้ำหรือควรจะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ฯลฯ


"เพื่อให้เกษตรกรนำเอาข้อมูลพวกนี้ไปค้ำประกันสินเชื่อกับทางแบงก์ พิสูจน์ได้ว่าเป็นเกษตรกรน้ำดีซึ่งเมื่อก่อนทางแบงก์ไม่รู้จะวิเคราะห์ความเสี่ยงได้อย่างไร แต่เทคโนโลยีของเราจะวิเคราะห์ได้ว่า อีก 6 เดือนข้างหน้าเขาจะมีผลผลิตเท่าไหร่ เทียบกับราคาตลาดโลกเขาจะมีเงินเข้ามาเท่าไหร่ จะมีกำลังชำระหนี้ได้หรือไม่"


เท่านั้นยังไม่พอ อีกพาร์ทหนึ่งรีคัลท์จะใช้ “บิ๊กดาต้า” มาช่วยจัดการความเสี่ยงโดยใช้ชุดคำถาม 50 ข้อ ในการวิเคราะห์ความคิดของเกษตรกรแต่ละราย


"เพื่อดูว่าเขามีความซื่อสัตย์พอที่จะคืนเงินหรือเปล่า มีเงินแต่ไม่ซื่อสัตย์ หรือซื่อสัตย์แต่ไม่มีเงินก็ไม่ได้เงินคืน เราจะมีชุดคำถามซึ่งทีมเรามีนักจิตวิทยาออกแบบคำถามโดยตรง และมีเครื่องมือในการวิเคราะห์คำตอบ ตัวอย่างของคำถามเช่น ถ้ามีเงินพันบาทคุณจะเอาไปทำอะไร คนในชุมชนที่สนิทด้วยเป็นคนอย่างไร เพราะาคนที่คบกันก็มักมีความคิดที่คล้ายกัน ถ้าคบกับคนที่วันๆ เอาแต่นอนไม่ทำงานเขาก็เป็นคนอย่างนั้น แต่ถ้าเพื่อนขยันขันแข็ง โอกาสที่เขาจะขยันก็มีอยู่สูง"


เอิร์นบอกว่า ในเมืองไทยเขาเลือกเทสต์ระบบกับเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดก่อนเป็นอันดับแรก เริ่มที่จังหวัดฉะเชิงเทรา


“ช่วงเริ่มต้นเราต้องดูว่ามีเกษตรกรกลุ่มไหนที่จะเข้าถึงได้ง่ายที่สุด เร็วที่สุด ก็พบว่าเกษตรกรไทยปลูกข้าวโพดกันเยอะและมีปัญหาผลผลิตเยอะ เลยจับกลุ่มนี้ก่อน”


เขามองว่าเพราะครอบครัวเขาเองก็เป็นเกษตรกร (รายใหญ่) ตัวเขาเองคลุกคลีกับกษตรกรมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ทำให้การพูดคุยการเข้าถึงจึงราบรื่น


"เราต่างจากสตาร์ทอัพอื่นๆ ที่ลูกค้าส่วนใหญ่จะอยู่ในเมืองคุ้นเคยกับเทคโนโลยีเป็นอย่างดี แต่ความต้องการของเกษตรกรทั่วไปพวกเขาแค่เพียงอยากได้อะไรสักอย่างมาทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้ที่มากขึ้น จุดขายของเราต้องเป็นเรื่องของการเข้าถึงทุน ช่วยเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้เขาได้จริงๆ"


และยอมรับว่าก็ควรต้องมีอินเซนทีฟที่จูงใจ เช่น ถ้าใส่ปุ๋ยหรือพัฒนาผลผลิตตามคำแนะนำ เกษตรกรจะได้รับโอกาสเข้าหาแหล่งเงินทุนในราคาที่ถูกลง หรือถ้าทำผลผลิตและคุณภาพตามที่กำหนด รีคัลท์ก็จะช่วยคอนเน็คกับคนซื้อโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง เป็นต้น


เมื่อทำให้เกษตรกรเห็นชัดว่าระบบมันเวิร์คจริงๆ พวกเขาก็จะไปบอกต่อ ในเวลานี้มีเกษตรกรสนใจและใช้ระบบของรีคัลท์มากกว่าร้อยรายแล้ว


"ก็มีเกษตรกรที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ซึ่งให้เขาทำเองคงลำบาก ในกรณีนี้เราจะใช้วิธีโทรหรือเมสเสจข้อความไปบอกเขาเลยว่าวันนี้จะต้องทำอะไรบ้าง ต้องไปรดน้ำแล้วนะ ต้องเก็บเกี่ยวแล้วนะ เมื่อคุ้นแล้วเขาก็จะเริ่มใช้เองได้ ซึ่งเราก็จะส่งคนไปช่วยเทรนให้ด้วย"


ต้องบอกว่า รีคัลท์ นำร่องที่ปากีสถานแล้วราวปีกว่าๆก่อนมาที่เมืองไทย และสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรไปแล้วประมาณ 5 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแต่เป็นสินเชื่อในรูปของ “ปุ๋ย” เนื่องจากต้องมีการเทสต์ตลาดก่อนเดินเข้าหาสถาบันการเงิน เมื่อมาเมืองไทย รีคัลท์ทำการทดสอบระบบ ด้วยการใช้วิธีไปผูกกับร้านค้าขายปุ๋ยเช่นเดียวกัน


"ตอนแรกเจ้าของร้านก็ไม่ยอมให้ปุ๋ยเกษตรกรไปก่อนเพราะกลัวไม่ได้เงินคืน แต่พอเราบอกว่ามีวิธีเขาก็เลยกล้าปล่อย ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปากีสถานเองเขาก็คืนเงินเกือบร้อยเปอรเซ็นต์ไม่มีปัญหา ตอนนี้เราก็อยู่ระหว่างการพูดคุยกับหลายๆแบงก์ในเมืองไทยซึ่งเขาให้ความสนใจเยอะมาก"


ถามถึงบิสิเนสโมเดล เอิร์นบอกว่ามีอยู่หลายช่องทาง ทั้งจากฝั่งเกษตรกร (คิดเงินเฉพาะเกษตรรายใหญ่) จากบริษัทที่ผลิตขนมที่ทำจากข้าวโพดที่ต้องการควบคุมคุณภาพสินค้า และการไปพาร์ทเนอร์กับองค์กรต่างๆ อย่างเช่นการเข้าโครงการ “ดีแทค แอคเซเลอเรท ปี 5” ก็ทำให้ได้ทั้งเงินสนับสนุน นอกจากนั้นโครงการ "สมาร์ท ฟาร์เมอร์”ของดีแทคก็ช่วยรีคัลท์เข้าถึงเกษตรกรมากถึงหลักแสนราย เป็นต้น


ถามถึงโรดแมพที่วางไว้ เอิร์นบอกว่า รีคัลท์จะเน้นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจของไทย เริ่มที่ข้าวโพด จากนั้นจะขยายไปที่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย น้ำมันปาล์ม


"ที่น่าสนใจก็คือ เกษตรกรไทยนิยมเก็บเป็นเงินสดเยอะมาก สเต็ปต่อไปเราก็จะให้คำแนะนำถึงการนำเงินไปลงทุนในช่องทางต่าง ๆ แต่ที่สุดเราอยากจะเป็นดาต้าคอมพานี ช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง และวิเคราะห์รายได้ให้แบงก์ หรือถ้าเขามีโปรดักส์ใหม่ๆ ก็มาแนะนำผ่านช่องทางของเราได้"

โลกสวยด้วยมือคนเก่ง


"วิชั่นของเรา ต้องการนำเอาเทคโนโลยีไปช่วยทำให้เกษตรกรเพิ่มรายได้ ให้เขาควบคุมอนาคตของตัวเอง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราเชื่อว่าถ้าช่วยเกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น ไม่ได้เป็นการช่วยแค่เกษตรกร แต่ช่วยครอบครัวเขา ช่วยลูกของเขาให้มีโอกาสได้ไปเรียน หรือได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล ถือว่ามีอิมแพ็คมากในสังคมไทย"


ดังนั้นเมื่อมองถึงเรื่องของการระดมทุน กลุ่มนักลงทุนจึงควรตระหนักในเรื่องเดียวกัน ซึ่งเอิร์นบอกว่าเวลานี้ที่ประเทศอเมริกามีเทรนด์ที่เรียกว่า “อิมแพ็ค อินเวสเตอร์” หมายถึงนักลงทุนที่ไม่ได้หวังเงินแต่อยากช่วยสังคมช่วยโลก ยกตัวอย่างเช่น “บิล เกตต์”


"แต่ตอนนี้เราก็คงเหมือนกับทุกสตาร์ทอัพที่จุดเริ่มต้นมันยาก เรายังใหม่และต้องมาทำความคุ้นเคยกับตลาดเมืองไทย ผมเองก็เพิ่งกลับมา ต้องมาเซ็ทอัพทีมกันใหม่ ต้องมาทำความเข้าใจมาเรียนรู้ถึงความต้องการของลูกค้ากันใหม่ ตอนนี้ผมอยากได้คนเก่งมาทำงานร่วมกัน ผมไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ถ้ามีคนเก่งมากพอก็จะช่วยกันแก้ปัญหาได้"


เพราะท้ายสุดแล้ว เขาอยากให้รีคัลท์เป็นอะไรที่เกษตรกรไทยต้องมาเปิดดูตอนตื่นนอนทุก ๆเช้า และนอกจากปากีสถาน และไทย รีคัลท์ก็จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกษตรกรทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย ซึ่งมีรายได้หลักมาจากเกษตรกรรม รวมถึงกำลังประสบปัญหาที่ไม่ต่างกัน