ฝันค้าง? มรดกโลก‘เจ้าพระยา’

ฝันค้าง? มรดกโลก‘เจ้าพระยา’

เส้นทางสู่มรดกโลกแม่น้ำเจ้าพระยา กับการพัฒนาที่ไม่ควรฉาบฉวย

แม่น้ำสายหนึ่งซึ่งไหลผ่านอดีตสู่ปัจจุบัน บันทึกเรื่องราวของแผ่นดิน ผู้คน วิถีชีวิต และยังคงไหลรินหล่อเลี้ยงสรรพสิ่ง เป็นเส้นทางสัญจรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นชุมทางการค้าที่ยังคงมีความหมาย เป็นบ้านของคนหลากหลายชาติพันธุ์ ดำรงความงามของพระราชพิธีสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

‘แม่น้ำเจ้าพระยา’ ภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่หลายเสียงลงความเห็นว่าเป็นมากกว่ามรดกไทย และควรได้รับการยกย่องในฐานะ ‘มรดกโลก’ วันนี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งในเวที “แม่น้ำเจ้าพระยา สู่มรดกโลก” จัดโดยสภาสถาปนิก เพื่อสำรวจความพร้อมในการผลักดันแม่น้ำสายนี้ขึ้นเวทีระดับสากล

มรดกแห่งอดีต

ความรู้เบื้องต้นระบุว่า แม่น้ำเจ้าพระยาเกิดจากการบรรจบกันของแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ มีความยาวโดยประมาณ 370 กิโลเมตร

ในมุมมองของนักโบราณคดี แม่น้ำสายนี้เป็นต้นธารของเรื่องราวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเมืองการปกครอง การค้าการคมนาคม ย้อนหลังไปได้ไกลมากกว่าหนึ่งพันปี บวรเวท รุ่งรุจี นายกสมาคม ICOMOS ไทย กล่าวถึงอดีตอันรุ่งเรืองของแม่น้ำเจ้าพระยาว่า

“แม่น้ำเจ้าพระยาคดเคี้ยวมาตั้งแต่อยุธยา จนกระทั่งมาถึงปากแม่น้ำซึ่งก็คือปากอ่าวไทย บริเวณนี้มีจุดที่เราพบหลักฐานสำคัญคือ เรือ ลำนี้เรียกว่า พนมสุรินทร์ เป็นชื่อของเจ้าของที่ เขาทำนากุ้งแล้วพอดีขุดลงไปเจอเรือเข้า เรือลำนี้สำคัญอย่างไร จากการขุดเราพบว่าเป็นเรือที่แล่นมาจากตะวันออกกลาง กำหนดอายุไว้ประมาณ 1,300 ปี เป็นหลักฐานให้เห็นว่าแผ่นดินสุวรรณภูมิ เมื่อพันกว่าปีก่อนมีคนจากตะวันออกกลางแล่นเรือมา แล้วก็มาล่มลงอยู่ที่ปากอ่าวไทย”

หลักฐานซากเรือปรากฎใต้พื้นดินในตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเรือที่สร้างจากไม้ มีการเสริมกราบสองชั้นด้วยการเจาะรูและใช้เชือกผูกโยงยึดแผ่นไม้ไว้ด้วยกัน ภายในเรือพบโบราณวัตถุจำนวนมาก

“เป็นเรือแบบพื้นบ้าน แต่เขาก็กล้าที่จะเอาออกมาค้าขายกับคนแถวนี้ แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ของประเทศไทยสมัยก่อนตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เคยมีการติดต่อค้าขายกันมาเป็นพันปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเริ่มในสมัยสุโขทัย อยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งที่ยืนยันในความสำคัญ และจนถึงปัจจุบัน เราก็ยังใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่ขนส่งสินค้า”

นอกจากความเก่าแก่ในฐานะเส้นทางการค้าและการเดินเรือที่สำคัญ ชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยายังมีเอกลักษณ์ของความเป็นชุมชนที่อยู่กับน้ำและยังคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้แม้จะเหลือน้อยเต็มทีก็ตาม

“เราตั้งชุมชนอยู่ริมแม่น้ำ จะเห็นได้อย่างชัดเจน บ้านหลังคาทรงไทยอยู่ติดแม่น้ำเลย เพราะเมื่อก่อนเขาใช้เรือ บ้านช่องอะไรต่างๆ ก็ต้องอยู่ในส่วนของแม่น้ำ แม่น้ำเจ้าพระยาใช้เป็นที่พื้นที่ในการสัญจรไปมาตลอดตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเราจึงไม่มีที่ว่างระหว่างตลิ่งกับแม่น้ำ ปลูกกันติดในส่วนนั้นเลย โดยธรรมเนียมก็จะมีศาลาท่าน้ำอยู่ติดกับแม่น้ำ”

จากแม่น้ำจะมีเป็นแนวคลองแยกเข้าไปยังพื้นที่ด้านใน ซึ่งก็จะมีชุมชนริมคลองที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันเป็นโครงข่ายทั้งสายน้ำและผู้คน

“การพัฒนาเป็นเรื่องธรรมดา บ้านนี้เมืองนี้ต้องพัฒนาต่อไป แต่ผมว่ามันต้องไปด้วยกัน แม่น้ำเจ้าพระยาจะไปสู่การเป็นมรดกโลกได้หรือไม่ เราต้องพูดข้อเท็จจริงกัน...

ชุมชนมีความเป็นมา มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญอยู่มากมาย เพียงแต่ว่าเวลาเราพัฒนา เป็นแค่แนวความคิดของใครคนใดคนหนึ่งว่าฉันอยากจะทำอันนี้ อันนี้มันดีแล้ว ทำไปเลย ภาพมันก็เลยออกมาประมาณนี้” บวรเวท ย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงรากเหง้าของคนลุ่มเจ้าพระยา

“เคยมีคนพูดเอาไว้ เราจะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ต่อไปในอนาคต เราต้องไม่ลืมว่า เราเป็นใคร มาจากไหน อย่าลืมรากเหง้าของตัวเราเอง เราอย่าไปคิดแบบฝรั่งหมด มันคงจะต้องคิดและทำให้เหมาะสมกับบริบทของเรา ...ของเรา หมายถึงคนไทยที่มีชีวิตอยู่กับน้ำ หากินกับน้ำ เดินทางกับน้ำ”

เหตุนี้ หากว่าเส้นทางสู่มรดกโลกคือความหวัง คงต้องทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์ที่สำคัญ นั่นคือความเป็นของแท้และดั้งเดิม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตามที่ทำลายความแท้และดั้งเดิม ย่อมเท่ากับความหวังนั้นได้ถูกทำลายลงด้วย

มรดกเมืองบนน้ำ

กว่าหนึ่งทศวรรษหลังจาก ศาสตราจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ อดีตประธานกรรมการมรดกโลกของไทย เสนอภูมิทัศน์วัฒนธรรมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหนึ่งในรายชื่อของแหล่งที่มีโอกาสนำเสนอเป็นมรดกโลก แม้จะมีความพยายามปัดฝุ่นเรื่องนี้อยู่เป็นระยะ แต่ก็ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม

 อ.รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษามรดกโลกเจ้าพระยา ที่มีเป้าหมายด้านหนึ่งเพื่อผลักดันแม่น้ำเจ้าพระยา-กรุงรัตนโกสินทร์สู่การเป็นมรดกโลก บอกว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับกระบวนการนี้คือการถอดรหัสความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งประเด็นสำคัญที่ใช้เป็นแก่นในการศึกษาคือ การเป็นเมืองบนน้ำเพียงไม่กี่เมืองบนโลกนี้ ซึ่งเมืองบนน้ำคืออนาคตการอยู่รอดของพลเมืองในโลก

“พื้นที่ที่กรุงเทพมหานครตั้งอยู่มันคือ Barrier islands คนโบราณรู้ได้อย่างไรว่าตรงมีมันมี อันนี้แสดงให้เห็นถึงความชาญฉลาดของมนุษย์ในการเลือกตั้งเมือง นี่แหละคือกุญแจสำคัญว่าบรรพบุรุษของเราในอดีตวางผังเมืองอย่างชาญฉลาด หนึ่ง ตัวเมืองสำคัญเป็นเมืองสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ใช้ระบบคันดินคูเมือง สองชุมชนให้อยู่บนน้ำเลย แต่คุณก็ต้องสู้กับน้ำได้ โดยใช้เป็นเรือนเสาสูง ส่วนที่อยู่กับน้ำมีทั้งเรือนแพและเรือ ซึ่งตอนหลังๆ เรือนแพหายไป เหลือแต่เรือกับเรือนเสาสูง”

หลักฐานอีกอย่างหนึ่งของความเป็นเมืองน้ำก็คือ ระบบคลองและร่องน้ำที่สมบูรณ์ แม้จะมีข้อมูลว่าคลองหายไปเยอะมาก แต่ยังมีโอกาสฟื้นฟูได้ด้วยเทคโนโลยีและความรู้ความสามารถในปัจจุบัน

“ระบบน้ำของกรุงเทพมหานครต่อเนื่องจากอยุธยา แล้วอยุธยาต่อเนื่องจากเมืองหลักเลยคือเมืองอินทร์บุรี แล้วอินทร์บุรีก็ไปลิงก์กับระบบน้ำในสุวรรณภูมิเมื่อเป็นพันปี เราไม่เป็นสองรองใครในเรื่องตรงนี้ หากว่าเราต้องนำเสนอมรดกโลกเจ้าพระยา-กรุงรัตนโกสินทร์ ระบบน้ำสำคัญที่สุด ก่อให้เกิดกายภาพคือลักษณะของเมืองน้ำ

นี่คือคุณค่าของวิถีน้ำ โดยมีคนน้ำเป็นคนสร้างวิถีวัฒนธรรมตรงนี้ขึ้นมา แล้วเกิดเป็นลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่น วันนี้เมืองน้ำเรายังอยู่นะครับ แต่แทรกอยู่ภายใต้เมืองบก 120 % ผมเรียกอย่างนั้นแล้วกัน”

ดังนั้นในความเห็นของ อ.รณฤทธิ์ กรุงเทพมหานครน่าจะได้ใช้แก่นของการศึกษาตามแนวทางสู่การเป็นมรดกโลกเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเมือง เพื่อรักษามรดกแม่น้ำ-มรดกวัฒนธรรมของคนไทยและพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง ซึ่งในที่สุดถ้าแม่น้ำเจ้าพระยา-กรุงรัตนโกสินทร์ได้เป็นมรดกโลก ก็จะมีสถานะเป็นต้นแบบแห่งที่สองถัดจากกรุงศรีอยุธยา

“ไม่ใช่มรดกโลกลั้นลาเพื่อการท่องเที่ยว แต่จะเป็นต้นแบบในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนในศตวรรษต่อไป”

มรดกโลกเพื่อใคร

แม้เส้นทางสู่มรดกโลกของแม่น้ำเจ้าพระยาจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ขวากหนามนั้นกลับไม่มีอะไรแหลมคมเท่ากับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสองฝั่งเจ้าพระยาของเจ้าของมรดกเอง

ภราเดช พยัฆวิเชียร อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ไม่ตรงกันที่ว่า ริมแม่น้ำบ้านเราคือชุมชนแออัด

“บางคนอาจมีประสบการณ์ไปเห็นที่เกาหลี เห็นที่ฝรั่งเศส ที่เยอรมัน เห็นเขาก็มีทางเดินริมแม่น้ำ อันหนึ่งเราต้องเข้าใจก่อนว่า แม่น้ำเหล่านั้นไม่เหมือนกับแม่น้ำในบ้านเรา แม่น้ำของเขาเป็นสายน้ำที่มาจากภูเขาที่มีหิมะ เมื่อละลายมันก็เป็นเรื่องของการไหลอย่างรุนแรง เพราะฉะนั้นเขาไม่สามารถอยู่กับน้ำได้ ก็ต้องอยู่ข้างบนห่างออกไป มันแยกกัน แต่บ้านเราในวิถีของแม่น้ำ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นน้ำที่มาจากการสะสมของฝน แล้วก็มีขึ้นมีลงตามระบบของน้ำทะเล เพราะฉะนั้นเราจึงอยู่กับน้ำมาตลอด

คนไทยเราไม่บังคับหรือขืน หรือพยายามจะสู้กับธรรมชาติ แต่เราใช้วิธีที่จะอยู่กับธรรมชาติ สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก บ้านเกิดผมอยู่ที่ปากน้ำโพ จะเห็นว่าเวลาน้ำมาก็มักจะท่วมตลิ่ง บ้านส่วนใหญ่ยกสูงอยู่แล้ว พอน้ำลดลงไปดินจะดีมากนะครับ เพาะปลูกอะไรก็ดี อันนี้คือวิถีที่เขาอยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งที่ต่อเนื่องจากอยุธยามาถึงกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจก่อนว่าสิ่งที่เรามีนั้นมันเป็นวิถีที่มีอยู่เดิม ซึ่งมีคุณค่า”

 เมื่อเข้าใจในวิถีน้ำวิถีชีวิตจึงจะมองเห็นคุณค่าของสายน้ำ ซึ่งหลักในการเป็นมรดกโลกไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะลักษณะทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงบริบทอื่นๆ ทั้งความเป็นมา สภาพสังคมชุมชน มิติทางด้านมานุษยวิทยา

“เวลามีคนมาบอกว่าเราน่าจะพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำ อันนี้เป็นความคิดที่ดีมาก ถ้าเป็นภาษาวิชาการมันคือ Water Front ซึ่งไม่ได้หมายถึงเฉพาะตัวแม่น้ำกับตลิ่ง แต่หมายถึงพื้นที่ที่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเราเป็นเมืองแบบสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกมันก็จะต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนถึงบริบทที่เป็นฝั่ง จริงๆ ถ้าเป็นทางวิทยาศาสตร์อันนี้คือ Eco zone มันจะมีบริบทที่ต่อเนื่องกันทั้งธรรมชาติ วิถีชีวิต การทำมาหากิน การค้าขาย เพราะฉะนั้นก็ต้องมองทั้งบริบท ไม่ใช่มองเฉพาะตรงริมตลิ่งท่าน้ำ”

ดังนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนาริมแน่น้ำ ภราเดชเสนอโจทย์ว่า ทำอย่างไรให้คนอยู่กับคนอย่างมีความสุข คนอยู่กับสภาพแวดล้อมธรรมชาติอย่างมีความสุข

“อันนี้เป็นวิถีที่คนไทยทำมานานแล้ว เราไม่ควรมองแค่การที่จะต้องมีทางเดินหรืออะไรริมแม่น้ำ จริงๆ แล้วถ้ามีการจัดการที่ดีพื้นที่ริมแม่น้ำจะเป็นคุณค่า ที่จริงมันมีคุณค่าอยู่แล้ว แต่สามารถจะสร้างเป็นมูลค่าได้ อย่างปัญหาของพื้นที่ริมแม่น้ำที่บอกว่าเป็นสลัมเป็นอะไรต่างๆ เพราะว่าเราไม่เคยมองถึงความเชื่อมโยง ไม่ใช่เฉพาะในแนวขนานกับแม่น้ำเป็นทางเดิน แต่จริงๆ แล้วที่มันขาดไปก็คือการเข้าถึง ระหว่างคนส่วนใหญ่ที่อยู่ข้างบนที่จะเข้ามาสู่ริมแม่น้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตรงนั้นมันสามารถจะปรับสภาพหรือเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับชุมชนได้”

มองในมุมนี้การพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำจะต้องมองให้ไกลกว่าตลิ่ง แต่ลึกเข้าในในสังคมชุมชนแต่ละพื้นที่ซึ่งมีบริบทแตกต่างกัน แล้วเปิดโอกาสให้ชุมชน-ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม วางแผนการจัดการที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่

“มันจะเกิดกระบวนการที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาจเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว อาจเป็นเรื่องของค่านิยมที่อยากเห็นประสบการณ์ วิถีชีวิต ซึ่งฝรั่งเขาไม่มีชุมชนริมแม่น้ำแบบเรา เขาตื่นเต้นกับเรา แต่เรากลับใกล้เกลือกินด่าง มองว่ามันน่าจะต้องไปรื้ออะไรต่ออะไร แต่ถ้าเราสามารถที่จะให้เขาอยู่แล้วเกิดโอกาสทางเศรษฐกิจจากรายได้เรื่องการท่องเที่ยว แม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆ ที่มันจะเกิดขึ้นจากการที่มีกระแสของคนเข้ามาถึงริมแม่น้ำได้” อดีตผู้ว่าฯททท. กล่าว ก่อนจะแสดงความเห็นถึงแนวคิดในการผลักดันแม่น้ำเจ้าพระยาสู่การเป็นมรดกโลก

“ต้องถามว่าจริงๆ แล้ว เป้าหมายสูงสุดจริงๆ เราต้องการอะไร หรือว่าต้องการแค่ใช้คำว่ามรดกโลกเพื่อเป็นแรงจูงใจทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งตัวแทนจากยูเนสโกก็บอกว่า “คิดผิด” เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งโจทย์ใหม่ ถามว่า ถ้าเราต้องการจะพัฒนาริมแม่น้ำ ใครคือผู้มาใช้ ใครเป็นผู้ได้รับประโยชน์ ใครเป็นผู้ดูแลรักษา แล้วมันจะเกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาจากการพัฒนา เกิดคุณค่าอะไร จากสิ่งที่เรามีอยู่เดิม ต้นทุนเดิมทางวัฒนธรรมทางวิถีชีวิต แทนที่จะต้องสร้างอะไรใหม่”

เพราะถึงที่สุดแล้วหากพัฒนาผิดทิศผิดทาง นั่นไม่ได้หมายความแค่เราหมดโอกาสในการเป็นมรดกโลก แต่ยังหมายถึงมรดกอันทรงคุณค่าจะหายไปจากสังคมไทยอย่างน่าเสียดาย

การเป็นมรดกโลกในวันนี้จึงไม่สำคัญเท่ากับการรักษามรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรม และไม่ว่าในอนาคตข้างหน้า แม่น้ำเจ้าพระยาจะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกหรือไม่ คุณค่าของแม่น้ำ อัตลักษณ์ของเมืองบนน้ำคือความงดงามที่จะยังคงอยู่ต่อไป