ทีโอทีย้ำไม่เลือกปฏิบัติิ ‘คู่ค้าคลื่น’

ทีโอทีย้ำไม่เลือกปฏิบัติิ ‘คู่ค้าคลื่น’

เล็งต่ออายุสัญญา‘เอไอเอส’เทสต์คลื่น 2.1 ลุ้นอัยการเร่งตรวจสัญญา

ผู้บริหารทีโอที ระบุเตรียมต่ออายุสัญญาทดสอบบริการมือถือบนคลื่น 2100 ร่วมเอไอเอส หลังเซ็นสัญญามาแล้วเกือบ 2 ปี ยังไม่มีสัญญาจริง ระบุขั้นตอนขณะนี้ รออัยการตรวจสอบข้อกฎหมาย ไม่รับปากได้เซ็นฉบับจริงเมื่อไร ปฎิเสธไม่เคยเลือกปฎิบัติระหว่างคู่ค้าเอกชน อ้างสัญญาให้บริการมือถือมีความหมายต่อองค์กร ช่วยพลิกขาดทุนเป็นกำไรได้ปี 62

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง ความคืบหน้าการทำสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ในคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 15 เมกะเฮิรตซ์ ว่า เดือน ก.ค.นี้ จะครบกำหนดต่ออายุสัญญาทดสอบการให้บริการ ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเซ็นสัญญาฉบับจริงเลยหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากทีโอทีได้ส่งร่างสัญญาจริงให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบอยู่

หากมีหนังสือตอบกลับมาว่า สามารถลงนามได้เลย ทีโอทีจะไม่รีรอในการเซ็นสัญญาจริงร่วมกับเอไอเอส ซึ่งสัญญาฉบับดังกล่าวยอมรับว่า มีปัญหาติดขัดในข้อกฎหมายอยู่บ้าง จึงทำให้แม้มีการตกลงเป็นพันธมิตรร่วมกับเอไอเอสนานกว่า 2 ปีแล้ว ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาฉบับจริงร่วมกันได้

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าทีโอทีไม่ได้เลือกปฎิบัติระหว่างเอไอเอส กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่เป็นคู่สัญญาร่วมกับทีโอทีให้การให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์

ทั้งนี้ โดยส่วนตัวคาดว่าน่าจะได้ลงนามในสัญญาจริงกับเอไอเอสได้ก่อนลงนามร่วมกับ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในการเป็นคู่ค้าการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 และเมื่อรวมรายได้จากการเป็นพันธมิตรกับดีแทคและเอไอเอสแล้ว จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากธุรกิจโมบาย เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 15,000 ล้านบาท ส่งผลให้ทีโอทีกลับมามีกำไรในปี 2562 หลังจากเริ่มขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2559 และเป็นไปตามแผนฟื้นฟูองค์กรตามมติของที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

นายมนต์ชัย กล่าวว่า ปัจจัยหรือสาเหตุที่สัญญาทดลองของเอไอเอสถูกขยายออกไปอีกจากเดิมที่จะต้องสิ้นสุดลงในเดือน พ.ค. นั้น มีเหตุผลหลายประการที่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนหนึ่ง คือ ต้องรอให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบก่อน ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ล่าสุด เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งมีมติเห็นชอบการในการเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาเช่าเสาและอุปกรณ์จาก บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) เป็นบริษัท ซุปเบอร์บรอดแบนด์ เน็ตเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ เอไอเอส เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างทีโอทีและเอไอเอส ประกอบด้วย 1. เสาส่งสัญญาณ ทีโอที ได้ค่าเช่าปีละ 3,600 ล้านบาท 2.อุปกรณ์ 2จี จ่ายค่าเช่าอีกปีละ 2,000 ล้านบาท ดังนั้น ทีโอทีจะมีรายได้จากทรัพย์สินสัมปทานที่ เอไอเอส ส่งคืนทั้งหมดปีละ 5,600 ล้านบาท และ 3.นอกจากนี้ ยังมีสัญญาโรมมิ่งบนคลื่น 2100 เมกะเฮิรตซ์ โดยคลื่นความดังกล่าวจะสามารถใช้งานได้ถึงปี 2568 อีกปีละ 3,900 บาท หรือคิดเฉลี่ยค่อเดือนละ 325 ล้านบาท ทำให้ทีโอทีมีรายได้จาก เอไอเอสปีละ 9,500 ล้านบาท

ขณะที่การเป็นคู่ค้าระหว่างทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ต ในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 ตามที่ฝ่ายบริหารเสนอ ซึ่งสามารถใช้งานได้ถึงปี 2568 เช่นเดียวกัน โดยกลุ่มบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด จะเป็นผู้ดำเนินการจัดให้มีสถานีฐานจำนวนประมาณ 20,000 กว่าแห่งให้ ทีโอที เช่าใช้งาน ทีโอที เป็นผู้บริหารจัดการโครงข่ายสื่อสารไร้สายนี้ด้วยตัวเอง และจะให้บริษัทในกลุ่มใช้บริการโดย บมจ.ทีโอที จะมีรายได้ ปีละ 4,510 ล้านบาท สำหรับการใช้งานโครงข่าย 60% มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจโดยการพัฒนาบริการด้วยเทคโนโลยีใหม่ 4จีแอลทีอี-ทีดีดี ช่วยขยายโอกาสให้ประชาชนได้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไร้สายมากขึ้น และรองรับกับความต้องการในการใช้ ข้อมูลขนาดใหญ่