ศูนย์วิจัยศก.อาเซียน คาดจีดีพีไทยโต 3.4%

ศูนย์วิจัยศก.อาเซียน คาดจีดีพีไทยโต 3.4%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจอาเซียน คาดจีดีพีไทยปีนี้ขยายตัว 3.4% แนะจับตาหนี้ครัวเรือน-หนี้เสียในกลุ่มเอสเอ็มอี ชี้ไทยยังมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง

นายโฮอี้ คอร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 (AMRO) เปิดเผยในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน +3 ในปี 2560 ว่า ในปี 2560 คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของไทยจะขยายตัวได้ 3.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นช่องว่างให้ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.สามารถดำเนินนโยบายการเงินได้ในภาวะที่จำเป็น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ หนี้ครัวเรือน และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในกลุ่มเอสเอ็มอีอี

ด้านเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียน+3 ในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวได้ 5.1-5.2% โดยเศรษฐกิจในกลุ่มดังกล่าวได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะเติบโตได้ 6.5% ชณะที่ญี่ปุ่น คาดว่าจะแข็งแกร่งและขยายตัวสูง

"ตัวเลข 3.4% ค่อนข้างพอใจ ขณะที่เงินเฟ้อในปีนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ ก่อนที่จะอยู่ที่ 1% ในปี 2561 โดยไทยยังมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ที่จะช่วยรองรับการฟื้นตัว แต่ทั้งนี้ ยังมีจุดอ่อน คือ การลงทุนเอกชนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ทั้งนี้ ในระยะต่อไป หากภาคเอกชนเริ่มลงทุนจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ในระยะยาว การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปฏิรูปประเทศยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม ส่วนประเทศไทยนั้น ยอมรับว่า ขณะนี้ไทยยังมีช่องว่างในการดำเนินนโยบายการคลังเพิ่มเติมได้ในการลงทุน และกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สาธารณะของรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำ" นายโฮอี้ กล่าว

ในส่วนของภาวะเงินทุนเคลื่อนย้าย และอัตราแลกเปลี่ยนนั้น มองว่า การดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น ถือเป็นแนวทางในการช่วยรองรับความผันผวนได้ เนื่องจากการใช้นโยบายผูกค่าเงินกับตะกร้าเงินแบบอดีตนั้น ถือเป็นการจำกัดการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน และทำให้เกิดความไม่สมดุล ซึ่งขณะนี้มองว่า นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นนั้น เป็นนโยบายที่สนับสนุนการฟื้นตัวของกลุ่มภูมิภาคอาเซียน+3

"ตลอดปีที่ผ่านมา หลายประเทศ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาต่ำลง ก็ได้ปล่อยให้ค่าเงินอ่อนค่ามากแล้ว ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการรองรับการไหลออก เพื่อไม่ให้กระทบต่อทุนสำรองระหว่างประเทศ" นายโฮอี้ กล่าว

ขณะที่ตลาดการเงินในภูมิภาค AMRO มองว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายแบบเฉียบพลัน เริ่มน้อยลง และไม่น่ากังวลเหมือนช่วงที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตาม จากความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์ แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า การดำเนินมาตรการริเริ่มเชียงใหมใม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างความสามารถ ในการรองรับความเสี่ยงจากภายนอกและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้

ภาพจาก www.amro-asia.org