ลุ้นบทสรุปคู่ค้า ‘ทีโอที-ดีแทค’ เร่งเคลียร์ข้อก.ม.-ความสับสน

ลุ้นบทสรุปคู่ค้า ‘ทีโอที-ดีแทค’ เร่งเคลียร์ข้อก.ม.-ความสับสน

ดีแทคต้องผ่านอีกหลายด่าน ก่อนจะได้ใช้คลื่น 2300 อย่างที่ตั้งใจ

ความร่วมมือระหว่าง ‘ดีแทค’ และ ‘ทีโอที’ ที่จะเปิดให้บริการไร้สาย 4จี บนคลื่น 2300 ที่มีแถบคลื่นกว้างถึง 60 เมกะเฮิรตซ์ ถือเป็นแบนด์วิธบนคลื่นความถี่เดียว ที่กว้างที่สุดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย จะยกระดับประสบการณ์การใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบน 'โมบายบรอดแบนด์' ของผู้ใช้งานดิจิทัลไปอีกขั้นได้จริงตามที่ระบุหรือไม่ 


ประเด็นความคลุมเครือแง่กฎหมาย และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่จาก กสทช. ยังต้องรอลุ้น และรอดูความชัดเจนกันต่อไป เพราะถือว่า (ร่าง) สัญญาดังกล่าวยังมีปัจจัยภายนอก ที่ดีแทคต้องผ่านอีกหลายด่าน ก่อนจะได้ใช้คลื่น 2300 อย่างที่ตั้งใจ

แจงประเด็น “การอนุญาต”
นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า จากกรณีที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ออกมาให้ความเห็นว่า การทำสัญญาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจในการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่าง บมจ.ทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ในเครือดีแทค จากสัญญาดังกล่าวดีแทคจะไม่สามารถออกแพ็กเกจรวมบริการด้านเสียง (วอยซ์) และข้อมูล (ดาต้า) เนื่องจากทีโอทีในฐานะผู้ถือครองคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวยังไม่ได้รับอนุญาตจาก กสทช.

จากกรณีดังกล่าวน่าจะเกิดจากความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนบางประการ เนื่องจากตามขั้นตอนการขออนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ ทางผู้ประกอบการจะขออนุญาตแบบเทคโนโลยี เนื่องจากเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งใหม่เพิ่มเสมอ เช่น เทคโนโลยี แอลทีอี หรือ 4จี ที่สามารถนำมาใช้งานดาต้า เพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สาย และ VoLTE ที่เพิ่มคุณภาพเสียงในการโทรในแบบความคมชัดสูง (เอชดี) กรณีดังกล่าวจึงไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด

"ในสัปดาห์นี้ทางคณะอนุกรรมการของ กสทช.จะประชุมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ทางดีแทคเองก็เตรียมข้อมูลไปแล้วอย่างดี เชื่อว่าน่าจะครบถ้วนทุกประเด็น พร้อมกับชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับขั้นตอนของการทำสัญญาระหว่าง ทีโอที กับ ดีแทค และการส่งสัญญาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณา"

นายนฤพนธ์ กล่าวว่า อีกประเด็นที่ กสทช. กังวล คือ เรื่องโรมมิ่งว่าจะไม่เป็นตามม.46 ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 หรือพ.ร.บ.กสทช.นั้น ส่วนตัวมองว่า รูปแบบการให้บริการของดีแทค เหมือนกับเอ็มวีเอ็นโอรายอื่น ที่มีอยู่ในตลาดมากกว่า 10 โอเปอเรเตอร์ ดังนั้น จึงไม่น่าจะเป็นประเด็นอะไรที่น่ากังวล และจากการหารือกับทีโอที ก็เชื่อว่าสัญญาจะสามารถลุล่วงไปด้วยดี โดยผู้บริหารทีโอทีระบุว่า จะนำเอาร่างสัญญาให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ทีโอทีพิจารณาสิ้นเดือนนี้

มั่นใจลงนามสัญญาปลายปี60
อย่างไรก็ดี สำหรับความคืบหน้าล่าสุด ในการทำสัญญาคู่ค้าทางธุรกิจคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างดีแทคกับทีโอที ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการเจรจาสัญญา ซึ่งจะหารือถึงรายละเอียดในเชิงลึกของประเด็นต่างๆ เพื่อไม่ให้เป็นที่ถกเถียงกันภายหลัง

โดยเฉพาะการคิดค่าเช่าโครงข่ายที่บริษัท เทเลแอสเสท จำกัด เป็นคนดำเนินการ เช่น กรณีที่ดีแทคไม่สามารถใช้เสาสัญญาณได้ครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ หรือการที่ดีแทคมีการใช้งานคลื่นความถี่เกินจากที่ตกลงกันไว้ในเบื้องต้น กรณีต่างๆ จะมีการตกลงเรื่องเงินกันอย่างไร จากนั้นเมื่อการหารือเสร็จสมบูรณ์ คาดจะสามารถนำเรื่องเสนอเข้าบอร์ด ทีโอทีในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นจะส่งตัวสัญญาให้ กสทช. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) และสำนักงานอัยการสูงสุด ตามลำดับ เพื่อพิจารณาความถูกต้องครบถ้วนของสัญญา ทั้งนี้ดีแทคยังเชื่อมั่นว่าการลงนามในสัญญาจะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2560

เดินหมากตามโมเดล“บีเอฟเคที”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นดังกล่าวทางฝั่งทีโอที และดีแทค ค่อนข้างมีความมั่นใจว่า จะลงนามในสัญญาได้ในไตรมาส 4 หรือ ราวเดือนต.ค.นี้ และเริ่มโรลเอ้าท์ให้บริการได้ต้นปี 2561 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ความตึงเครียดด้านการใช้คลื่นความถี่ของดีแทคจะสิ้นสุดลง เพราะคลื่น 2300 มีขนาดแบนด์วิธมากถึง 60 เมกะเฮิรตซ์ สามารถใช้ได้จนถึงปี 2568 หรืออีก 7 ปีเต็ม ที่ดีแทคจะสิ้นสุดสัญญากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม

โดยโมเดลคู่ค้าทางธุรกิจนั้น ผู้บริหารของทีโอที ระบุเองว่า ใช้วิธีเดียวกับกรณีบริษัท บีเอฟเคที (ประเทศไทย) จำกัด ในเครือกลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น ที่ทำการติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์มือถือในระบบ 3จีเอชเอสพีเอ บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม เช่า เพื่อนำความจุมาขายส่งบริการให้บริษัทเรียลมูฟขายต่อกับลูกค้า เนื่องจากเล็งเห็นว่า โมเดลดังกล่าวชี้ชัดแล้วว่า ‘ไม่ผิดกฏหมาย’ โดยทีโอทีจะดำเนินการในลักษณะการหาพันธมิตรช่วยขยายโครงการโมบายของตัวเอง

ทั้งนี้ ในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.ตัวร่างสัญญาจะแล้วเสร็จ และน่าจะอยู่ระหว่างการส่งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ตรวจสอบ โดยการสร้างสถานีฐานนั้น สรุปแล้วว่าดีแทคจะเป็นคนจัดหา หรือสร้างสถานีฐานให้ใหม่จำนวน 20,000 แห่ง และให้ผลตอบแทนปีละ 4,510 ล้านบาท เป็นการทำสัญญาในรูปแบบการหาพันธมิตรลักษณะเดียวกับบีเอฟเคทีทุกประการ