ตั้งเป้าพัฒนา'อู่ตะเภา'เป็นมหานครการบินใน10ปี

ตั้งเป้าพัฒนา'อู่ตะเภา'เป็นมหานครการบินใน10ปี

"อีอีซี" ตั้งเป้าพัฒนา "สนามบินอู่ตะเภา" เป็นมหานครแห่งการบินภายใน 10 ปี พร้อมเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 30 ล้านคน เล็งใช้สนามบินเจิ้งโจวของจีนเป็นโมเดล

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวเปิดการสัมมนาการพัฒนาเมืองศูนย์การบิน โอกาสทางเศรษฐกิจและธุรกิจว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี คือปี 2565 รัฐบาลตั้งเป้าหมายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นเมืองแห่งการบิน และเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ของประเทศ โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเป็น 15 ล้านคน ในระยะ 5 ปี ซึ่งเฟสแรกจะพัฒนาเป็นแอร์พอร์ต ซิตี้ มีอาคารผู้โดยสาร รันเวย์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบิน เช่น อุตสาหกรรมการซ่อมอากาศยาน ซึ่งกำลังหารือร่วมกับแอร์บัส และโบอิ้ง ให้เข้ามาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว และที่สำคัญจะต้องเกิดโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อเข้ามาเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ และเพื่อเพิ่มศักยภาพให้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อรับนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

ส่วนเฟสที่สอง รัฐบาลมีเป้าหมายพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้ใหญ่ขึ้นเป็นมหานครการบินในปี 2570 หรือ 10 ปีข้างหน้า และจะเพิ่มจำนวนเป็น 30 ล้านคนในระยะเวลา 10 ปี และ 60 ล้านคนในระยะเวลา 15 ปี หรือปี 2575 โดยจะยกระดับสนามบินอู่ตะเภาให้ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางคมนาคมโลจิสติกส์ ผนวกเข้ากับการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเชิญนาย จอนห์ ดี คาซาร์ดา ( John D. kasarda) ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาด้านการบินพาณิชย์แห่งมหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกาและเป็นผู้นำในการพัฒนาแนวคิดเมืองการบิน มาร่วมพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นมหานครการบิน ซึ่งนายจอนห์ ดี คาซาร์ดา เป็นผู้ที่พัฒนาสนามบินเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน จนประสบผลสำเร็จและดึงดูดการลงทุนจากนานาประเทศมาตั้งโรงงานผลิตสินค้าต่าง ๆ ในพื้นที่โดยรอบสนามบินเจิ้งโจว ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายเช่นเดียวกันที่จะใช้สนามบินเจิ้งโจ้วเป็นต้นแบบในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เพื่อดึงให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รอบสนามบิน ซึ่งจะเกิดการจ้างงานตามมาอีกเป็นจำนวนมาก

"สนามบินอู่ตะเภา เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทางราง ซึ่งมีไม่กี่แห่งในโลก ดังนั้นเมื่อโครงการเฟสแรกในการพัฒนาเป็นเมืองการบินแล้วเสร็จ และจำนวนโดยสารที่มาใช้สนามบินอู่ตะเภามากถึงปีละ 15-20 ล้านคน ก็ควรจะขยายไปเป็นมหานครการบิน เช่นเดียวกับสนามบิน ฮ่องกง สิงคโปร์ และเจิ้งโจว ที่เป็นมหานครการบินแล้ว" นายคณิศ กล่าว