3 วันบนแผ่นดินพุทธธรรม (ตอนที่ 1)

 3 วันบนแผ่นดินพุทธธรรม (ตอนที่ 1)

บันทึกประสบการณ์ของคนไกลวัด บนดินแดนแห่งผู้ตื่นรู้ ณ สาวัตถี ลุมพินี และกุสินารา ไม่ต้องสวมชุดขาว ไม่ได้นอนวัด ไม่ลำบากดั่งที่คิด อินเดีย สอนให้เรามองชีวิตในหลากหลายมิติ

วันแรกที่ลัคเนาว์

ลัคเนาว์ (Lucknow) เป็นเมืองที่ไม่เคยอยู่ในลิสต์ในสถานที่อยากจะไปเลยสักนิด คราวนี้ได้เดินทางไปลัคเนาว์ เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพระลักษณ์ ในรามเกียรติ์ แถมยังมีชื่อภาษาอังกฤษที่มีความหมายดีงาม เพื่อร่วมทริปแสวงบุญ ณ 2 สังเวชนียสถาน ลุมพินี กุสินารากับ กับสายการบินไทยสไมล์ ที่เปิดเส้นทางการบินใหม่ไปลงลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

ลัคเนาว์ เป็นเมืองใหญ่ทางภาคเหนือของอินเดีย นอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจแล้วยังเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคม ไม่ว่าเป็นชุมทางรถไฟ สนามบินนานาชาติ รวมไปถึงเส้นทางรถยนต์ที่เริ่มต้นจากเมืองลัคเนาว์ ไปเมืองสาวัตถีระยะทาง 160 กิโลเมตร (ใช้เวลาเดินทาง 4 ชั่วโมง) ไปเมืองกุสินาราระยะทาง 325 กิโลเมตร (ใช้เวลาเดินทาง 6-8 ชั่วโมง)

ไปคยา 560 กิโลเมตร (เดินทาง 10 ชั่วโมงขึ้นไป) ไปพาราณสี สารนาถ ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร(ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง)

3 วันในอินเดีย การเดินทางของเราเริ่มต้นที่ ลัคเนาว์ - สาวัตถี -ลุมพินี - กุสินารา – ลัคเนาว์

เปิดม่านลัคเนาว์

เปิดม่านหน้าต่างห้องนอนจากโรงแรมเรเนซองค์ตอนเช้าก็ตื่นตาตื่นใจกับภาพที่เห็น อัมเบ็ดการ์เมมโมเรียลพาร์ค(Ambedkar Memorial Park) สิ่งปลูกสร้างอันยิ่งใหญ่ตระการตา ด้วยความที่เราเดินทางจากสุวรรณภูมิประมาณ 22.00 น. มาถึงลัคเนาว์เป็นเวลาอินเดียประมาณเที่ยงคืนครึ่ง นั่งรถมาโรงแรมจึงมองไม่เห็นอะไรมากนัก

เรานั่งกินปูรีจิ้มแกงถั่วชมวิวอันแสนอลังการของเมืองเอาแรง ก่อนได้นั่งรถชมเมืองแบบเดี๋ยวเดียวเพราะว่าต้องรีบมุ่งหน้าไปสาวัตถีที่ต้องใช้เวลานานถึง 4 ชั่วโมง

อย่างน้อยช่วงเวลาเล็กๆก็ทำให้เราได้ตื่นตากับอาคารบ้านช่อง พร้อมกับสดับตรับฟังเรื่องราวของความงดงามทางสถาปัตยกรรมศิลปะแบบเปอร์เซียและยุโรป ทำให้คิดว่าถ้ามีโอกาสได้มาอีกครั้ง หรือใครที่วางแผนว่าจะเดินทางมาที่ลัคเนาว์

อยากให้เผื่อเวลาให้เมืองนี้ดูสักหนึ่งวัน นอกจากชมสถานที่สำคัญของเมืองอันยิ่งใหญ่ตระการตาแล้ว เมืองนี้ยังมีชื่อเสียงทางด้านงานผ้าปักที่เรียกว่า จิคัน (Chikan) และซาร์โดซี (Zardozi) ที่มีเอกลักษณ์ สวยงาม ประณีตและสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักออกแบบทั่วโลก

โอย…ถ้าได้อยู่ต่ออีกสักวันคงจะดีนะ !

มุ่งหน้าสาวัตถี

อินเดียต้อนรับเราด้วยเสียงแตรรถยนต์ที่ต่างกดกันอย่างเป็นตัวของตัวเอง ไม่เว้นแม้กระทั่งรถโค้ชปรับอากาศที่เป็นยานพาหนะหลักของเรา รถยนต์คันนี้ช่วยทำให้การเดินทางผ่อนคลายได้มากด้วยแอร์คอนดิชั่นความเย็นสูง และที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวหนา คือ มีปลั๊กไฟสำหรับชาร์ตโทรศัพท์มือถือบ้านเราได้โดยไม่ต้องใช้ adaptor (เรื่องปลั๊กไฟที่อินเดีย ก่อนไปค่อนข้างกังวลเรื่อง adaptor ว่าจะใช้ได้หรือไม่ ปรากฏว่าโรงแรมทุกแห่งที่เข้าพัก ปลั๊กไฟสามารถใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าจากบ้านเราได้เลย)

ได้ชาร์ตแบตเตอรี่กันเต็มตลอดทางแล้ว ส่วนซิม Wi – Fi นี่ต้องลุ้นสัญญาณกันเป็นช่วงๆไป ดังนั้น 4 ชั่วโมงบนรถยนต์จึงไม่ทรมานมากนัก อีกทั้งยังได้ชมภาพวิถีชนบทของอินเดีย อันได้แก่ท้องทุ่ง บ้านเรือนที่ปลูกกันง่ายๆ รวมถึงตลาดสลับกันไป

ส่วนห้องน้ำที่หลายคนเป็นกังวลมาก (รวมทั้งข้าพเจ้าด้วย) ทางทัวร์พาแวะปั๊มระหว่างทางแห่งหนึ่ง บอกเลยว่าลุ้นกันมาก ปรากฎว่ามีห้องน้ำชักโครก สะอาดพอสมควร 3 ห้อง พร้อมอ่างล้างมือ แบบมาตรฐาน น่าเข้ามากแต่ล็อกกุญแจ สักครู่ไกด์อินเดียไปตามหากุญแจมาเปิดให้เข้า ได้ปลดทุกข์กันแบบสบายอารมณ์

เมืองหลวงแห่งแคว้นโกศล

สาวัตถี เป็นชื่อเรียกในภาษาบาลี ในขณะที่สันสกฤตเรียกว่า ศราวัสตี ภาษาอังกฤษเขียนว่าSravasti

คนไทยคุ้นเคยกับเมืองนี้ดี เพราะเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่นานถึง 25 พรรษา มีเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนาเกิดขึ้นที่เมืองนี้มากมาย เกิดพระสูตรนับพัน กล่าวได้ว่าเป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่ภิกษุและพุทธบริษัทให้บรรลุอมตธรรมเป็นจำนวนมาก มีพระอรหันตสาวกอยู่จำพรรษานับหมื่นองค์

วันนี้ สาวัตถี เป็นเพียงตำบลเล็กๆที่คนอินเดียเรียกกันว่า สะเหต-มะเหต (Saheth-Maheth)

ถนนสายเล็กๆในสาวัตถี ห้อมล้อมไปด้วยท้องทุ่งและบรรยากาศชนบท เราพักกินข้าวและเช็คอินที่โรงแรม Sravasti Residency ก่อนไปวัดเชตวันมหาวิหาร

โรงแรมเพิ่งสร้างเสร็จหมาดๆ ห้องนอน ห้องน้ำ สะอาดเอี่ยม ตามมาตรฐานทั่วไปไม่ใช่ 5 ดาว อาหารการกิน ถูกปากคนไทย เพราะมีทั้งผัดผัก ไข่เจียว แกง ยิ่งมีน้ำพริกที่พกมาจากเมืองไทยคลุกข้าว ล้วนเจริญอาหารกันไปตามๆกัน

โรงแรมนี้ตั้งอยู่ใกล้กับวัดพม่า 1 ในวัดของประเทศที่นับถือพุทธศาสนาที่มาสร้างไว้ ได้แก่ ศรีลังกา ทิเบต จีน เกาหลีใต้ และไทย( วัดไทยเชตวันมหาวิหาร ๙๓๙ ,วัดบุพพาราม (วัดป่า) ,วัดไทยสาวัตถีพุทธวิปัสสนา และศูนย์ปฏิบัติธรรมแดนมหามงคลชัย)

วัดเชตวันมหาวิหาร

พระธรรมบท 332 เรื่อง เกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้

พระครูนิโครธบุญญากร (ดร. พระมหาปรีชา กตปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดไทยนิโครธาราม-เนปาล เกริ่นก่อนนำชมวัดเชตวันมหาวิหาร พระอารามที่พระพุทธเจ้าจำพรรษามากที่สุดถึง 19 พรรษา บนโบราณสถานที่เหลือเพียงชั้นฐานของอาคารที่ได้รับการบูรณะ และปรับแต่งภูมิทัศน์อันร่มรื่นนี้

ในสมัยพุทธกาลนั้น กล่าวกันว่าเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ สร้างขึ้นจากศรัทธาของนายสุทัตตะ ซึ่งชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี หลังจากได้รับฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งไปค้าขายที่เมืองราชคฤห์ จึงอาราธนาพระองค์มาประทับที่เมืองสาวัตถี โดยซื้อพื้นที่ดินของเจ้าเชตมาสร้างเป็นวัด

เล่ากันว่าเจ้าเชตให้อนาถบิณฑิกเศรษฐีนำเหรียญทองมาปูให้เต็มพื้นที่ที่จะสร้างวัด ด้วยความที่ไม่อยากจะขาย หากเมื่อเห็นศรัทธาอันแรงกล้าของอนาถบิณฑิกเศรษฐี จึงยอมขายด้วยราคาแพงถึง 18 โกฏิ เมื่อรวมการสร้างวัดและถาวรวัตถุต่างๆรวมอัก 36 โกฎิ วัดแห่งนี้มีราคาถึง 54 โกฏิ (1 โกฏิ เท่ากับ 10 ล้าน)

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าเหรียญเงิน เหรียญทองมูลค่าเป็นโกฏินี้ เก็บซ่อนกันอย่างไร ไปดูได้ที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่อยู่ไม่ไกลวัดเชตวันเท่าไหร่ จะพบฐานอาคารที่เชื่อกันว่าเป็นบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่แม้จะเหลือเพียงซากอิฐสูงประมาณตึก 2 ชั้น หากตรงกลางมีห้องที่อยู่ลึกลงไปแบ่งออกเป็น 3 ช่อง ว่ากันว่าเป็นที่เก็บเหรียญเงิน ทอง และทรัพย์สมบัติมีค่า

ศรัทธาใต้ร่มเงาพุทธะ

กลุ่มโบราณสถานที่ได้รับการดูแลจากทางการอินเดียเป็นอย่างดี ประกอบด้วย กเรริกกุฎิ (กะ – เร -ริ-กะ-กุ-ฏิ) ที่เปรียบเสมือนกับอุโบสถของวัดเชตวัน

ธรรมสภา - พระแท่นแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า

พระมูลคันธกุฎี - หมายถึงกุฏิที่มีกลิ่นหอม เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าและสถานที่แสดงธรรม กล่าวขานกันว่าหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน กุฏิแห่งนี้มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลอยู่ไม่ขาด กระทั่งเมืองถูกลดความสำคัญและถูกทิ้งร้างไปในราวพุทธศตวรรษที่ 18

พระมูลคันธกุฎี ในวันนี้แม้จะเหลือเพียงร่องรอยของอาคารเก่าแก่ หากศรัทธาของชาวพุทธต่างเดินทางมากราบไหว้อย่างไม่ขาดสาย

นอกจากนี้ยังมีหมู่กุฎิของพระอริยสาวก วิหารธรรมสภา วิหารสังฆสภา และ อานันทโพธิ์ - ต้นโพธิ์ที่ปลูกโดยพระอานนท์ในสมัยพระพุทธกาล ดังปรากฏหลักฐานในจารึกของหลวงจีนฟาเหียนและพระถังซัมจั๋ง ซึ่งยังคงเป็นร่มเงาอันร่มเย็นแก่พุทธศาสนิกชนจนมาถึงทุกวันนี้

ธรณีสูบ

จากวัดเชตวัน พระครูนิโครธบุญญากร นำชมบ้านบิดาขององคุลีมาล ซึ่งเป็นถึงปุโรหิตที่มีชื่อเสียงในเมืองสาวัตถี มีลักษณะเป็นอาคารอิฐทึบ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถูปมากกว่าที่พักอาศัย ตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

ระหว่างทางที่มุ่งหน้าไปสถานที่แสดงยมกปาฏิหารย์ ผ่านบริเวณที่นันทมานพ นางจิญจมาณวิกา และพระเทวทัต ถูกธรณีสูบ ตามลำดับแต่ละทีมีลักษณะเป็นหนองน้ำตื้น ไม่มีการกั้นเขตว่าเป็นสถานที่พิเศษแต่อย่างใด ทั้งยังเห็นชาวบ้านปล่อยสัตว์เลี้ยงให้อยู่ตามธรรมชาติ

ยมกปาฏิหาริย์

เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าแสดงปาฏิหารย์อันยิ่งใหญ่เรียกว่า ยมกปาฏิหาริย์ เพื่อปราบเหล่าเดียรถีย์ใต้ต้นมะม่วง พุทธประวัติตอนนี้ถือว่าเป็นครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง มีรายละเอียดอย่างไรสามารถไปค้นหาอ่านเพิ่มเติมได้ ขอสรุปไว้พอสังเขปว่าเป็นการปราบทิฏฐิของผู้ที่คิดร้ายต่อพระพุทธศาสนา และจบลงด้วยการแสดงธรรมเทศนาให้กับผู้มาร่วมชุมนุมจนได้รับมรรคผลเป็นจำนวนมาก

เราไปถึงสถานที่แห่งนี้ก่อนตะวันตกดินไม่นาน บนเนินดินสูงปรากฏซากโบราณสถาน พบพุทธศาสนิกชนสวมชุดขาวมานั่งสวดภาวนาอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นภาพที่ก่อให้เกิดความสงบและปิติขึ้นมาทันใด

1 วันในเมืองสาวัตตถีผ่านไปด้วยความอิ่มเอมใจ พบกับ ลุมพินี และ กุสินารา ในตอนต่อไป