'รมช.คมนาคม'สั่งเร่งแก้ท่าเทียบเรือชายฝั่งไม่เพียงพอ

'รมช.คมนาคม'สั่งเร่งแก้ท่าเทียบเรือชายฝั่งไม่เพียงพอ

"รมช.คมนาคม" สั่ง "กทท.-กรมเจ้าท่า-สนข." เร่งแก้ปัญหาท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเลไม่เพียงพอ - ค่าบริการแพง

นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมร่วมกับ หอการค้าไทย สมาคมเจ้าของเรือไทย ว่า ผู้ประกอบการเอกชนมาหารือเพื่อให้กระทรวงคมนาคมเร่งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพาณิชย์นาวี โดยเฉพาะท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเลที่ท่าเรือแหลมฉบังที่ขณะนี้ผู้ประกอบการต้องการใช้บริการมาก แต่ท่าเรือไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงให้นโยบายการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และท่าเรือแหลมฉบังเร่งก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเล คาดว่าเดือนพฤษภาคม 2560 จะก่อสร้างเสร็จ และในช่วงที่ปริมาณการรองรับหน้าท่าไม่พอให้ผู้ประกอบไปใช้ที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง เอ 0

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันท่าเทียบเรือชายฝั่งทะเลมีการรับตู้สินค้ากว่า 400,000 ตู้/ทีอียู หากมีการสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งท่าเรือจะรองรับตู้สินค้าได้เพียง 300,000 ตู้/ทีอียู แต่ในอนาคตปริมาณความต้องการใช้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่งอาจจะสูงถึง 600,000 ตู้/ทีอียู ซึ่งจะเห็นว่าปริมาณความต้องการใช้ท่าเทียบเรือชายฝั่งสูงมาก

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลว่านอกจากท่าเทียบเรือไม่พอแล้ว ในส่วนของค่าใช้บริการภาระหน้าท่า อยากให้ท่าเรือแหลมฉบังพิจารณาปรับราคาภาระหน้าท่าลดลง เพราะราคาที่จัดเก็บสูงถึง 1,545 บาท/ตู้/ทีอียู ซึ่งสูงจากราคาเดิมถึง 700-800 บาท/ตู้ ซึ่งปัญหาที่ผู้ประกอบการเรียกร้องทั้งเรื่องท่าเทียบเรือไม่พอและค่าภาระหน้าท่านั้น ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าและสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปหารือร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อสรุป

นายพิชิต กล่าวอีกว่า ในส่วนของการให้บริการท่าเทียบเรือ บี 2 ,บี 3,บี 4 นั้น ขณะนี้สั่งการให้ กทท. ,ท่าเรือแหลมฉบังเร่งดำเนินการจัดหาเอกชนให้เข้ามาบริหารจัดการท่าเทียบเรือก่อนที่รายเดิมจะหมดสัญญาปี 2563 ก่อน 1 ปี โดยท่าเรือบี 2 จะหมดสัญญาเดือนมีนาคม 2563 ส่วนท่าเทียบเรือบี 3 และ บี 4จะหมดสัญญาพร้อมกันเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งการจัดหาผู้ประกอบการมาบริการก่อนหมดสัญญาเพื่อให้การบริหารจัดการมีความต่อเนื่องไม่มาสะดุดจัดหาตอนหมดสัญญา

ส่วนรูปแบบการจัดหานั้น ได้ให้นโยบายท่าเรือแหลมฉบังปรับผู้ประกอบการที่จะมาบริหารท่าเทียบเรือจาก 3 ราย เหลือเพียง 2 ราย เนื่องจากว่าปัจจุบันเรือที่เข้ามาเทียบท่ามีหน้ากว้างมากกว่าท่า ดังนั้น จึงปรับลดลงและให้หน้าท่ากว้างขึ้นจากกว้าง 300 เมตร เป็นกว้าง 450 เมตร ส่วนการเปิดประมูลให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูรายละเอียดโครงการขั้นตอนการเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน 35 ด้วย ซึ่งทาง กทท.จะเสนอรายละเอียดขั้นตอนการดำเนินการ ตารางเวลามาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาสัปดาห์หน้า