'บีกริม' ระดมทุนหมื่นล้าน

'บีกริม' ระดมทุนหมื่นล้าน

"บีกริม" ระดมทุนหมื่นล้าน เอดีบีจ่อซื้อไอพีโอเข้าพอร์ต 5%-เคาะราคา20มิ.ย.นี้ คืนหนี้7พันล้านที่เหลือลงทุนโรงไฟฟ้า หวัง 5 ปี กำลังผลิต5พันเมกฯ

 

บี.กริม เพาเวอร์ เตรียมระดมทุนผ่านไอพีโอกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดเริ่มเทรด 19 ก.ค.นี้ พร้อมร่วมประมูลชิงโควตาเอสพีพีไฮบริด 300 เมกะวัตต์ เดินหน้าเจรจาต่างประเทศหวังผลักดันกำลังผลิตสู่เป้าหมาย 5 พันเมกะวัตต์ ใน 5 ปี

นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าความคืบหน้าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO)ไม่เกิน 716.9 ล้านหุ้น หรือประมาณ 27.5% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ซึ่งส่วนนี้จะเสนอขายให้กับนักลงทุนต่างประเทศ,นักลงทุนสถาบัน และผู้มีอุปการคุณ ไม่เกิน 60% ส่วนที่เหลืออีก 40% จะเสนอขายให้กับนักลงทุนรายย่อยในประเทศ

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จะเข้ามาลงทุนในหุ้น IPO วงเงินไม่เกิน 75 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 5% ของหุ้นทั้งหมดของหลังการขายไอพีโอ และยังมีกองทุนจากต่างประเทศอีกหลายรายสนใจร่วมเป็น Cornerstone Investor โดยคาดว่าจะสรุปช่วงราคาเสนอขายได้ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ และจะเริ่มทำการซื้อขายหุ้นในตลาดฯเป็นวันแรก 19 ก.ค.นี้

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้เม็ดเงินจากการระดมทุนครั้งนี้กว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยนำเงินใช้คืนหนี้สถาบันการเงิน 6-7 พันล้านบาท และใช้คืนหนี้หุ้นกู้ราว 2 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ

บริษัทตั้งงบลงทุนตามแผน 5 ปี(ปี2560-2564)อยู่ที่ 55,000 ล้านบาท เพื่อผลักดันกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัญญาให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(COD) เพิ่มเป็น 2,357 เมกะวัตต์ในปี 2564จากปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 30 โครงการ อยู่ที่ 1,644 เมกะวัตต์ ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวแบ่งเป็นเงินกู้โครงการ 75% และเงินทุนของบริษัทอีก 25%

ปีนี้บริษัทเตรียมเปิดให้ยื่นเสนอราคาก่อสร้างโรงไฟฟ้าสำหรับโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) 5 โครงการ ประกอบด้วย การก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามนโยบายการรับซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ทดแทนสัญญาชุดเดิมที่จะหมดอายุลง(SPP Replacement) โดยบริษัทได้รับอนุมัติให้สร้างโรงไฟฟ้า(SPP)ทดแทน 3 แห่ง คือ โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 1,โรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ 2 และโรงไฟฟ้าบี.กริม เพาเวอร์ (แหลมฉบัง) 1 กำลังการผลิต 140-160 เมกะวัตต์ต่อแห่ง โดยอยู่ระหว่างรอทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ(กฟผ.) ที่จะรับซื้อไฟฟ้าทดแทน 30 เมกะวัตต์ต่อแห่ง และที่เหลือจะขายให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม

ส่วนอีก 2 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าSPP ใหม่ ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก กำลังผลิต 120 เมกะวัตต์ต่อแห่ง มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว ซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 5 แห่ง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง และใช้เงินลงทุนประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อแห่ง โดยมีผู้ยื่นเสนอขายเครื่องจักร 2 ราย คือ เครื่องจีอี และเครื่องซีเมนส์ คาดว่าจะทยอยเริ่มการก่อสร้างได้ปลายปีนี้

นอกจากนี้เตรียมพร้อมลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับหน่วยงานราชการ ระยะที่ 2 หลังได้รับคัดเลือกจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกให้ร่วมลงทุนแล้ว 5 โครงการ 24 เมกะวัตต์ และยังมีโครงการที่ต้องรอลุ้นผลการจับสลากอีก 3 โครงการ 15 เมกะวัตต์ รวมถึงยังรอผลการเจรจาเพื่อเข้าร่วมลงทุนกับกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรอีกจำนวนหนึ่ง จากที่มีโควตาผลิตไฟฟ้า 119 เมกะวัตต์

บริษัทยังสนใจเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน(ไฮบริด)แบบสัญญาเสถียร(เฟิร์ม)สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก(เอสพีพี)หรือ เอสพีพีไฮบริดเฟิร์ม ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้า300 เมกะวัตต์ รวมถึงบริษัทได้จัดตั้งทีมงานรับมือกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าของโรงงานอุตสาหกรรม ที่จะหันมาผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)ใช้เอง เพื่อลดภาระค่าไฟฟ้า รวมทั้งยังร่วมกับพาร์ทเนอร์จากบริษัท China Energy Engineering Corporation ติดตามเทคโนโลยีโซลาร์รูฟท็อปและ Energy Storage

“ปัจจุบันมีนักลงทุนจากต่างประเทศอยากเข้าร่วมลงทุนในอนาคตทำให้คาดการณ์ว่า3-5 ปี บริษัทจะสามารถผลักดันกำลังการผลิตรวมเป็น 5 พันเมกะวัตต์ได้”

นายนพเดช กรรณสูตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าว บริษัทยังมองหาจังหวะที่เหมาะสมในการออกหุ้นกู้อีก 3.5 หมื่นล้านบาท ช่วง3-5 ปีข้างหน้า ในลักษณะเดียวกันการออกหุ้นกู้ในช่วงเดือนเม.ย.ปี2560 ที่มูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3.76% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 5.6% ต่อปี ซึ่งทำให้บริษัทประหยัดต้นทุนดอกเบี้ยได้ปีละ 200 ล้านบาท

“การปรับโครงสร้างทางการเงินทั้งการออกหุ้นกู้และการระดมทุนผ่าน IPO จะทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อทุนของบริษัท ลดลงเหลือระดับ 2 เท่าภายในปีนี้ จากไตรมาส 1 อยู่ที่ระดับ 3.4 เท่า และคาดว่าใน3-5ปีข้างหน้าจะเหลือระดับ 1.5 เท่า”