พอเพียงคู่ GNH ปรัชญาโลกสุขมั่งคั่งยั่งยืน

พอเพียงคู่ GNH ปรัชญาโลกสุขมั่งคั่งยั่งยืน

การโคจรมาพบกันของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากพ่อหลวงรัชกาลที่ 9 คู่กับดัชนีชี้ความสุข (GNH) เครื่องมือวัดความเจริญที่แท้จริง ถูกขับเคลื่อนโดยภาคธุรกิจ นักสร้างแบรนด์ ร่วมมือค้นทางสว่างสร้างธุรกิจ ทานกระแสวัตถุนิยมที่เริ่มสิ้นสุดเวลาฮันนีมูน

วิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ทั้งในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลามมาถึงเอเชีย ตามมาด้วยปัญหาสภาพอากาศโลกร้อนทวีความรุนแรงเป็นสถิติใหม่ปี 2016 ปีที่อุณหภูมิโลกร้อนแรงสูงที่สุดในรอบศตวรรษ 

ความปั่นป่วนทั่วโลกยังมีปัญหาทางสังคม และการเมือง เกิดการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะในแถบตะวันกลาง เกิดปรากฎการณ์อาหรับสปริง(Arab Spring) ที่เริ่มต้นจากประชาชนในประเทศตูนิเซียลุกฮือขึ้นมาประท้วงรัฐบาล ลามไปทั่วตะวันออกกลาง

ภาคธุรกิจทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลบางส่วนจึงหันกลับมาทบทวนสูตรการพัฒนาขับเคลื่อน-เศรษฐกิจ โดยวัดจากการแข่งขันปัจจัยการผลิต หรือ ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP –Gross Domestic –Product Index) และการเติบโตของธุรกิจจากการมุ่งผลกำไรสูงสุด (Maximize Profit)กลับตามมาด้วย ปัญหาต่างๆตามมา

เส้นทางนี้คือคำตอบของการพัฒนาภาคธุรกิจ ให้มั่งคั่ง ยั่งยืน จริงหรือ ?

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้อำนวยการโครงการแบรนด์ยั่งยืน“Sustainable Brands”เล่าว่า ขณะนี้ภาคธุรกิจ และนักการตลาดเริ่มหันมาตื่นตัวให้ความสนใจ หาตัวชี้วัดใหม่ที่จะทำให้ภาคธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เป็นแบรนด์ระดับสากล ที่มีคนรักทั่วโลก ไม่ใช่เพียงการหวังผลในยอดขาย และทำกำไรสูงสุด แต่จะต้องเดินคู่กันระหว่าง 3 P ไปพร้อมๆ กัน ตั้งแต่ ผลกำไรจากธุรกกิจ (Profit) สังคมอยู่ดีมีสุข (People) และโลกสมดุลทรัพยากรไม่ถูกทำลาย (Planet)

การพัฒนาเช่นนี้มีผู้นำองค์กรธุรกิจหลายแห่งเริ่มตะหนักถึงความสำคัญขยายวงกว้างขึ้น จากทำเป็นเพียงกลุ่มเล็กๆ ในช่วง10-20ปี ที่ผ่านมา ความสำคัญเรื่องการพัฒนายั่งยืนเริ่มขยายวงกว้าง แต่แบ่งเป็น 3 ระดับคือ

  1. ระดับที่ทำเพราะมีกฎเกณฑ์เป็นตัวบทกฎหมายข้อบังคับจากการลงทุนในแต่ละประเทศ
  2. ถูกสังคมกดดันเรียกร้อง หลังจากมีโซเชียลมิเดีย ทำให้แบรนด์ภาคธุรกิจ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังผลกระทบของสังคม และสิ่งแวดล้อม เพราะมีคนจดจ้องคอยตีแผ่ตลอดเวลา
  3. ธุรกิจที่ทำโดยสมัครใจ มีจิตสาธารณะ และรับผิดชอบต่อสังคม เริ่มเห็นถึงผลประโยชน์โดยรวมของทั้งระบบคน สิ่งแวดล้อม เป็นเนื้อเดียวกันที่ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กัน

ไม่ว่าภาคธุรกิจจะถูกบังคับกดดันโดยสังคม หรือกฎหมาย จนถึงทำด้วยใจ แต่สิ่งที่ทำก็ล้วนเป็น “ปรากฎการณ์ที่ดี”ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มตระหนักรู้ในบทบาทของตัวเองที่ไม่ใช่เพียงแค่ทำธุรกิจ แต่ต้องมีส่วนสร้างความยั่งยืนให้สังคม ประเทศ และทรัพยากรบนโลกใบเดียวกัน

ที่เกิดปัญหาจากการเติบโต เพราะธุรกิจไม่รู้จักคำว่าพอ หากกินข้าวแล้วไม่รู้จักอิ่ม ตระกละ ไม่เหลือให้ใครกิน ก็ปวดท้อง เราอิ่มคนอื่นอดอยาก นั่นเป็นการพัฒนาแบบทุนนิยมที่ทำให้ทรัพยากรของโลกเริ่มหร่อยหรอ สังคมเสื่อมลง หากรู้จักพอก็รู้จักแบ่งปัน การวัดผลทางธุรกิจไม่ใช่เพียงกำไร แต่หมายถึง3พีต้องเป็นวงเท่าเทียมกัน

เรื่องราวทั้งหมดไม่ใช่วิถีปฏิบัติไกลตัว แต่เป็นรากฐานทางพุทธศาสนาที่สอนให้ “เดินทางสายกลาง” และแนวทางเดียวกันกับคำสอนของในหลวงรัชกาลที่9 เกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy) ที่ไม่ใช่เพียงภาคการเกษตร แต่เป็นปรัชญาการพัฒนาสำหรับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือประชาชน ให้ทุกคนพอมีพอใช้ รู้จักพึ่งพาตัวเองและแบ่งปันผู้อื่น รู้จักพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกัน

หลักปรัชญาที่ใกล้ตัว แต่เราหลงลืมไปคือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางปฏิบัตินำไปสู่ความยั่งยืน แม้แต่องค์การสหประชาชาติ(UN)ยังได้บัญญัติไว้ว่าเป็นหลักการพัฒนายั่งยืน(Sustainable Development)”

จากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นต้นแบบทิศทางเดียวกันกับการสร้างความผาสุกให้กับปวงชนชาวไทย ทิศทางการพัฒนาในแนวเดียวกันกับ ดัชนีความสุขแห่งชาติ (GNH –Gross – National –Happiness) ของภูฏาน ประเทศหนึ่งเดียวในโลกที่สร้างดัชนีชี้วัดความจริญจากความสุขของประชาชนในประเทศ แทนการวัด GDP ตั้งแต่ปี1972(พ.ศ.2515)จนกระทั่งมีเกณฑ์การวัดผลที่ชัดเจน

กลายเป็นองค์ความรู้ มรดกของประเทศอันทรงคุณค่าที่มีนักธุรกิจเข้าไปศึกษาและสร้างองค์ความรู้ขยายไปในภาคธุรกิจ อาทิ บีกริม(B.Grimm)  ผู้ดำเนินธุรกิจหลากหลาย (Conglomerate) ที่นำGNHมาปรับใช้สร้างสุขให้พนักงาน ทำงานเพื่อองค์กรและสังคม ส่วน Eileen Fisher แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา เจ้าของแบรนด์ลงทุนเดินทางไปศึกษาGNH ที่ภูฏาน จนกลับมาประกาศวิสัยทัศน์เพื่ออนาคต เป็นแบรนด์แฟชั่นที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ.2563)

ทั้ง2ปรัชญาจึงมาประกบกันได้ โดยการดึงนักธุรกิจไทยไปร่วมศึกษาจัดเวิร์คช็อป ด้านการพัฒนายั่งยืน โดยบีกริม ร่วมกับ GNH Centre BhutanและSustainable Brand BangkokจัดกิจกรรมBrand Leaders Journey, GNH& Business Bhutan ระหว่างวันที่11-14 ก.ย.2560 โดยดึงผู้บริหารองค์กรชั้นนำจากประเทศไทยและทั่วโลกเดินทางไปร่วมแลกเปลียนเรียนรู้ร่วมกัน

“ความยั่งยืนหากจะหวังถึงการเปลี่ยนแปลงในองค์กรธุรกิจ สังคม และประเทศชาติได้ต้องเริ่มต้นจากผู้นำ จึงเชิญผู้นำเข้าไปศึกษาความรู้ด้านการพัฒนายั่งยืนกับตัวจริงเสียงจริง ซึ่งเรามีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงร.9 อยู่แล้ว แต่ยังขาดการวัดผลด้านความสุข เมื่อมาประกบกันกับภูฎาน จึงเป็นกรณีศึกษาที่จะสร้างองค์ความรู้การพัฒนายั่งยืนที่เกิดการขับเคลื่อนกระจายองค์ความรู้”

ดร.ฮา วิน โฮ ผู้อำนวยการโครงการศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ภูฏาน(GNH Centre Bhutan) เล่าย้อนถึงที่มาของการวัดดัชนีความสุข GNH ในภูฎาน เกิดขึ้นหลังจากสมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก แห่งราชอาณาจักรภูฏาน กษัตริย์องค์ที่4แห่งราชวงศ์ภูฏานได้พระราชทานพระราชดำรัสไว้ในปี 1972 ว่า

"ความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” เพราะเป็นการค้นพบประเทศปัญหาการพัฒนาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งในอินเดีย และจีน จึงทำให้ประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรเพีย6แสนคน เดินหน้าค้นหาเครื่องมือชี้วัดความจริญที่แท้จริง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการฟังเสียงของประชาชนที่ให้คำตอบความต้องการสูงสุดประเทศคือความสุข ไม่ใช่ความเจริญด้านวัตถุ ที่มีเกณฑ์การวัด ประกอบด้วย

1.การพัฒนายั่งยืน (Sustainable Economic Development) ถ่วงดุลกับการโถมเข้ามาของกระแสทุนนิยม

2.การรักษาสภาพแวดล้อม (Conservation of the Environment) ธรรมชาติช่วยเยียวยาจิตใจ และมีทรัพยากรให้ใช้อย่างยั่งยืน

3.การส่งเสริมวัฒนธรรมประจำชาติ (Promotion of National Culture)อัตลักษณ์ที่ทำให้คนในชาติมีศรัทธา เห็นคุณค่าในตัว สังคม และประเทศ ที่ต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัฒน์ และสุดท้ายคือ หลักธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance)ฝ่ายปกครอง ผู้นำประเทศที่บริหารประเทศอย่างเป็นธรรม

ความสุขที่ในภูฏานไม่ได้หมายถึงความเจริญทางวัถตุ แต่หมายถึงการใช้ชีวิตอย่างสมดุลและกลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่เกิดอารมณ์สวิงไปมา ในแต่ละวัน มีความภูมิใจในวัฒนธรรมและความเชื่อในชนชาติตัวเองที่แข็งแรง มีคุณค่าซึ่งเป็นรากฐานสำคัญ รวมถึงมีสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชน จริงอยู่ที่เงิน และการพัฒนาสำคัญ แต่ไม่ใช่เป้าหมายของชีวิต เพราะแท้จริงเราต้องการปัจจัยพื้นฐาน บ้าน อาหาร การศึกษาก็เพื่อเติมเต็มความสุขทางจิตใจ

ความสุขที่ชาวภูฏานมีดัชนีชี้วัดจึงมองให้เห็นองค์รวม และสมดุล ระหว่างความสุขทางจิตใจ มีครอบครัวที่อบอุ่น อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ทำงานอย่างมีความสุข มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อสังคมรอบข้าง

ขณะที่จูเลีย คิม นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และที่ปรึกษาอาวุโสของศูนย์ความสุขมวลรวมประชาชาติ ผู้หญิงเชื้อชาติเกาหลี ที่เติบโตในแคนาดา และไปทำงานมาทั่วโลก รวมถึงนิวยอร์ค เล่าว่า การมาศึกษาเรื่องGNHที่ภูฏานทำให้เธอหลงรักและปักฐานอยู่ในประเทศนี้ โดยหลักการพัฒนาของGNHเน้นเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาความเจริญทางวัตถุ ซึ่งทุกคนต้องการปัจจัยพื้นฐานเท่าเทียมกัน ความปลอดภัย ความมั่นคง จึงเปิดรับการพัฒนา แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคุณค่าอัตลักษณ์ ประเพณีที่บ่งบอกความเป็นตัวเรา ประเพณีของท้องถิ่น

เราทุกคนต้องการความเจริญทางด้านพื้นฐานใช้ชีวิตด้วยความปลอดภัย มีการศึกษา มีอาหารที่ดีให้ลูก ส่วนความสุขGNHคือการวางสมดุลระหว่างความต้องการวัตถุ กับความสุขพื้นฐานในจิตใจ มีความเป็นตัวตน มีภาษา วัฒนธรรมซึ่งมีคุณค่าของตัวเอง ดีกว่าทุกคนบนโลกเหมือนกันหมด ใช้สินค้าแบรนด์เดียวกันทั่วโลก นั่นคือผลกระทบของโลกาภิวัฒน์ ที่ภูฎานได้เรียนรู้จากประเทศที่พัฒนาด้านวัตถุและเกิดปัญหาตามมา

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลก แต่ปัจจุบัน เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประชาชนขาดความศรัทธาในผู้นำ ประชาชนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย นั่นคือผลพวงจากความเจริญที่วัดเพียงGDP

ทางกลุ่มประเทศเอเชีย เริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เกิดขึ้นจากประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป และในสหรัฐอเมริกาในบางรัฐ ซึ่งในเอเชีย ประเทศที่มีรากฐานด้านพระพุทธศาสนาคือรากฐานสำคัญที่ทำให้คนรู้จักพอเพียงและมีความสุขกับสิ่งที่มี