กำลังซื้ออุปโภคบริโภค“ติดลบ”

กำลังซื้ออุปโภคบริโภค“ติดลบ”

ปัจจุบันแม้ภาครัฐจะเดินหน้าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและโปรเจคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่การลงทุนในภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะทรงตัว

ส่งผลให้ “กำลังซื้อ”ผู้บริโภคชะลอตัว สะท้อนจากตัวเลขการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ปกติเติบโตเฉลี่ยปีละ 6-8%  แต่พบว่าไตรมาสแรกปีนี้อยู่ในอัตรา “ติดลบ”

             สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าจากข้อมูลสำรวจการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้บริโภค หรือ “นีลเส็น รีเทล อินเด็กซ์” พบว่าการจับจ่ายสินค้าเอฟเอ็มซีจี ตั้งแต่ปี 2558 เริ่มเติบโตถดถอยที่ราว 4% และปีก่อนอยู่ที่ 2% 

            ล่าสุดช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ปีนี้ “ติดลบ”  โดยด้าน “มูลค่า” ติดลบ 4.4%  ขณะที่ด้าน “ปริมาณ” ติดลบ 6.1%  ซึ่งหมายถึงผู้บริโภคซื้อสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตด้วยจำนวนลดลง  จากปัจจัยกำลังซื้อถดถอย 

            โดยพบว่ากลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกกลุ่มมีมูลค่าการจับจ่ายลดลง  เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม  ติดลบ 4.2%  ,เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ติดลบ  8.2% , ของใช้ภายในบ้าน  ติดลบ 1.2% ,ของใช้ส่วนบุคคล ติดลบ 0.5% และอื่นๆ ติดลบ 2.2%   พบว่ากลุ่มที่เติบโตมีเพียงสแน็ค ที่ 2.7% มาจากการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย

            สถานการณ์กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดขายลดลงในไตรมาสแรก ส่งผลให้อุตสาหกรรมโฆษณาติดลบตามไปด้วย เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นกลุ่มที่ใช้งบโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก รวมทั้งในประเทศไทย

            โดยเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อ ม.ค.-เม.ย.2560  มีมูลค่า  3.4 หมื่นล้านบาท  ติดลบ 5.45%  เทียบปีก่อน นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ใช้งบโฆษณาลดลง กลุ่มที่ใช้เม็ดเงินอันดับต้นๆ ต่างใช้งบประมาณลดลงด้วยเช่นกัน  ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ สถาบันการเงิน  กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม  เป็นต้น

            สมวลี กล่าวอีกว่าปัจจุบันรูปแบบการลงทุนด้านสื่อสารการตลาดของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แบ่งออกเป็น 2 ส่วน  คือ “เทรด โปรโมชั่น”  และ “การลงทุนมีเดีย” ทั้งด้านการตลาดและโฆษณา  ในช่วงที่สินค้าไม่สามารถทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย  ผู้ประกอบการจะปรับสัดส่วนการใช้งบประมาณ โดยให้น้ำหนักด้านการจัดโปรโมชั่น เพื่อกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้น  ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ากลุ่มค้าปลีก มีการจัดโปรโมชั่นร่วมกับซัพพลายเออร์ด้วยความถี่เพิ่มขึ้น

            “สถานการณ์ที่ยอดขายชะลอตัว  แบรนด์ต่างๆ จะตัดงบโฆษณา เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับยอดขาย รวมทั้งโยกงบประมาณไปทำโปรโมชั่นมากขึ้น เพื่อเร่งให้เกิดตัวเลขยอดขายทันที  ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้การใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อปีนี้อยู่ในภาวะถดถอย”

            อย่างไรก็ตามมองว่ารูปแบบการใช้งบโฆษณาผ่านสื่อ หากสามารถวัดผลการลงทุนในสื่อได้อย่างชัดเจน หรือวัดผลการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  เชื่อว่าผู้ประกอบการ พร้อมที่จะใช้งบประมาณผ่านสื่อ เพื่อเป็นเครื่องมือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผลักดันยอดขาย

            “จะเห็นได้ว่าสื่อที่มีการวัดเรทติ้ง จำนวนผู้บริโภคที่เข้าถึงสื่อได้ชัดเจน เช่น ทีวี  จะครองสัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาก้อนใหญ่ และสูงกว่าสื่อที่ไม่สามารถวัดเรทติ้ง เพราะสามารถสร้างความมั่นใจด้านการลงทุนในสื่อให้กับผู้ใช้งบโฆษณาได้ดีกว่า”