'ทีโอที'จี้รัฐไฟเขียวแผนหาพันธมิตรร่วมทุนคลื่น2300-2100

'ทีโอที'จี้รัฐไฟเขียวแผนหาพันธมิตรร่วมทุนคลื่น2300-2100

"ทีโอที" กระทุ้งรัฐ-คลัง ไฟเขียวแผนจัดหาพันธมิตรร่วมทุนพัฒนาคลื่น 2300 และ 2100 หวังปลดล็อคแผนฟื้นฟูกิจการ ชี้สอดคล้องนโยบายรัฐดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการ

แหล่งข่าวจากบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัททีโอที จำกัด(มหาชน)ได้อนุมัติให้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัดเข้าร่วมเป็นพันธมิตรคู่ค้าทีโอทีบนคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่จะนำมาให้บริการไร้สายและอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ทั่วประเทศ โดยดีแทคจะลงทุนสร้างเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคม 20,000 แห่งเพื่อนำไปใช้กับคลื่นดังกล่าวในสัดส่วน 60% ส่วนที่เหลือให้ทีโอทีนำไปทำตลาดพร้อมทั้งจ่ายผลตอบแทนให้ทีโอทีปีละ 4,510 ล้านบาท ไปจนสิ้นสุดระยะเวลาการใช้คลื่นในปี 2568 นั้นถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นของการรุกแสวงหาพันธมิตรธุรกิจของทีโอที

ขณะเดียวกันบอร์ดทีโอที ยังเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาเช่าเสาและอุปกรณ์โทรคมนาคมบนคลื่น 2100 MHzใหม่จากบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์คจำกัด (AWN) ในเครือเอไอเอสมาเป็นบริษัท ซุปเบอร์บรอดแบนด์เน็ตเวอร์คจำกัด หรือ SBN และทำสัญญาการใช้โครงข่าย (โรมมิ่ง) กับ AWN แทน เพื่อให้สอดคล้องกับสัญญาที่บริษัทกสท โทรคมนาคมเคยทำกับทรูมูฟก่อนหน้าและที่ทีโอทีจะทำกับดีแทค โดยทีโอทีจะได้รับเงินจากการใช้คลื่นของเอไอเอสราวปีละ 3,900 ล้านบาทหรือรวม 27,300 ล้านบาทเมื่อรวมรายได้จากดีแทคด้วยจะทำให้ทีโอที มีรายได้เข้าองค์กรตลอดระยะเวลาการใช้คลื่นไปจนถึงปี 2568 ราว 59,300 ล้านบาท ยังไม่รวมรายได้ค่าเช่าโครงข่ายของเอไอเอสอีกปีละ 3,600 ล้านและในส่วนที่่ทีโอทีจะหาตลาดเพิ่มเติมจากทรัพย์สินของดีแทค

“ถือเป็นการปลดล็อคแก้ไขปัญหาขาดทุนของทีโอทีที่พยายามมาโดยตลอดและเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางการฟื้นฟูกิจการที่เหมาะสมดีกว่าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนทีโอที และแคท ที่กระทรวงดีอีและ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.)พยายามกดดันมาโดยตลอด เพราะแนวทางดังกล่าวแม้จะอ้างว่าเป็นหนทางรอดในการดำเนินธุรกิจและลดการลงทุนซ้ำซ้อนของแคทและทีโอที แต่ก็ไม่มีหลักประกันที่ดีว่าบริษัทร่วมทุน 2-3 บริษัทที่จะจัดตั้งจะแข่งขันกับเอกชนได้ ขณะที่แนวทางการดึงพันธมิตรธุรกิจเข้ามาเป็นคู่ค้าร่วมทำตลาดบนคลื่น 2300 และ 2100 NHz น้ันมีรูธรรมที่ชัดเจนและยังสอดคล้องกับแนวทางการดึงเอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือนโยบาย พีพีพีอีกด้วย”

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า หากพิจารณาถึงแผนฟื้นฟูกิจการของสายการบินนกแอร์ ที่การบินไทยถือหุ้นอยู่ด้วยในสัดส่วน 40%นั้นจะเห็นได้ว่า เมื่อการบินไทยปฏิเสธที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท จากที่ต้องการเพิ่มทุนจาก 625 ล้านบาทเป็น 1,500 ล้านบาทโดยเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับหุ้นส่วนเดิม แต่เมื่อการบินไทยปฏิเสธที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุน ฝ่ายบริหารนกแอร์ก็มีแผนดึงพันธมิตรธุรกิจรายอื่นเข้ามาเสียบแทนทันที

“สิ่งที่ คนร.ควรจะให้ความสนใจก็คือการที่บินไทยลอยแพสายการบินนกแอร์น้ันจะกระทบไปถึงแผนจัดตั้ง “ไทยกรุ๊ป” และแผนฟื้นฟูการบินไทยในภาพรวมต้องระส่ำตามไปด้วยหรือไม่ ในเมื่อแผนฟื้นฟูการบินไทยที่จะมีการจัดตั้ง “ไทยกรุ๊ป”และมีนกแอร์เป็นแขนขาอยู่ด้วย มากกว่าจะมาตั้งข้อกังขากับการดึงพันธมิตรธุรกิจของทีโอทีที่มีความเป็นรูปธรรมมากกว่า