จี้ปลดล็อก ‘กฎระเบียบ’ เอื้อธุรกิจ

จี้ปลดล็อก ‘กฎระเบียบ’ เอื้อธุรกิจ

จี้ปลดล็อก "กฎระเบียบ" เอื้อการทำธุรกิจคล่องตัว

เมื่อกลางเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วยทีมวิจัยจากธนาคารโลกได้เดินทางเข้ามารวบรวมข้อมูลด้านต่างๆ จากหน่วยงานราชการของไทย เพื่อจะนำไปประเมินในการจัดทำรายงาน Doing Business 2018 เพื่อจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of doing business) ซึ่งจะมีการแถลงรายงานดังกล่าวในเดือนต.ค.2560

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า การจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก ได้มีการจัดอันดับเป็นประจำทุกปี โดยวัดผลจากประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของหน่วยงานราชการ โดยไทยได้รับการจัดอันดับมาตั้งแต่ปี 2548 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมี 10 ตัวชี้วัดในการจัดอันดับ

ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ (Starting a Business) การให้ใบอนุญาตก่อสร้าง (Dealing with Construction) การเข้าถึงไฟฟ้า (Getting Electricity) การจดทะเบียนสินทรัพย์ (Registering Property) การได้รับสินเชื่อ (Getting Credit) การคุ้มครองผู้ลงทุน (Protecting Minority Investors) การจ่ายภาษี (Paying Taxes) การอำนวยความสะดวกด้านการค้า (Trading Across Border) การบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง (Enforcing Contracts) และการแก้ไขปัญหาล้มละลาย (Resolving Insolvency)

สำนักวิจัย ประเมินว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาความยุ่งยากในการทำธุรกิจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นักลงทุนยังลังเลเข้าลงทุน ดังเห็นได้จากการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจที่ธนาคารโลกจัดให้ไทยอยู่อันดับที่ 46 ประจำปี 2559 จากจำนวน 190 ประเทศไทย

แม้อันดับดังกล่าวปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 49 ในปีก่อน แต่ก็ยังอยู่ห่วงจากอันดับสูงเดิมในอดีต รวมทั้งยังห่างจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกันค่อนข้างมาก

ผลงาน 5 ด้านที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปีล่าสุด คือ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการได้รับสินเชื่อ ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย

อย่างไรก็ตาม จุดที่ควรปรับปรุงแก้ไข 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการให้ใบอนุญาตก่อสร้าง ถูกปรับลดลงจากอันดับที่ 39 เป็น 42 การเข้าถึงไฟฟ้าจากอันดับที่ 11 เป็น 37 การจดทะเบียนสินทรัพย์ หล่นจากอันดับที่ 57 เป็น 68 การจ่ายภาษี ถูกปรับลดจากอันดับที่ 70 เป็น 109 และการอำนวยความสะดวกด้านการค้า ถูกปรับลดลงเล็กน้อยจากอันดับที่ 56 เป็น 57

หากเจาะเฉพาะจุดอ่อน พบว่า “ด้านการจ่ายภาษี” ดูจะเป็นจุดอ่อนมากที่สุด เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ปี 2559 เป็นปีแรกที่นำปัจจัยกระบวนการหลังยื่นภาษีมาใช้ เช่น การคืนภาษีหรือตรวจสอบการยื่นภาษี แต่ไทยก็ยังทำได้ล่าช้า นอกจากนี้ อัตราภาษีโดยเฉลี่ยที่ต้องชำระเมื่อเทียบกับรายได้ยังสูง ขณะที่ระยะเวลาของกระบวนการภาษียังยาวไม่คล่องตัว

การเข้าถึงไฟฟ้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าที่ยังล่าช้าอยู่บ้าง รวมไปถึงการจัดการระบบติดตามไฟฟ้าดับและการต่อเชื่อมกับไฟฟ้าใหม่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการพยายามให้ธุรกิจต่างๆ สามารถขอใช้ไฟฟ้าได้เร็วขึ้น และการให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเชื่อมต่อไฟฟ้ากับโครงข่ายได้ภายในเวลาสั้น

ส่วนการให้ใบอนุญาตก่อสร้างและการจดทะเบียนสินทรัพย์ ควรมีการลดกฎระเบียบต่างๆ ลง และเพิ่มความคล่องตัวของส่วนงานราชการให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของภาคเอกชน ไม่เช่นนั้นนักลงทุนต่างชาติอาจลังเลที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตได้ เพราะขณะนี้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกได้ทำการปฎิรูปในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนากิจกรรมทางธุรกิจให้ดีขึ้น อีกทั้งยังคงมีการปรับปรุงเพื่อให้เกิดบรรยากาศทางธุรกิจที่สะดวกสำหรับผู้ประกอบการในท้องถิ่นด้วย

การอำนวยความสะดวกด้านการค้า ยังใช้เวลาในการดำเนินการตามข้อบังคับเรื่องการค้าระหว่างประเทศในการส่งออกนาน

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า การแก้ไขกฎหมายหรือปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนยังลังเลเข้ามาลงทุน และบางส่วนอาจตัดสินใจย้ายฐานไปลงทุนประเทศอื่นได้

ส่วนเป้าหมายว่าไทยจะต้องขยับขึ้นไปอยู่ในอันดับเท่าไรนั้น เป็นเรื่องที่ตอบยาก แต่เชื่อว่าภาครัฐจะพยายามทำให้อันดับดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งคงต้องลุ้นไทยขยับอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจในรายงาน Doing Business 2018 ที่จะมีการประกาศในเดือนต.ค.นี้