'สินเชื่อ' เม.ย.โตสุดรอบปี

'สินเชื่อ' เม.ย.โตสุดรอบปี

 สินเชื่อเดือนเม.ย. "โตสุดรอบปี" โบรกฟันธง‘เอ็นพีแอล’ยังพุ่ง

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินภาพรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยว่า เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สินเชื่อขยายตัว 0.45% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ นับเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบปี ส่งผลให้เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2559 สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์โดยรวมกลับมาเติบโต 0.35% หลังจากหดตัวแรงในเดือนม.ค. ซึ่งการกลับมาขยายตัวของสินเชื่อน่าจะมาจากสินเชื่อรายใหญ่เป็นหลัก

สำหรับในเดือนเม..มี 6 ธนาคาร จาก 10 ธนาคาร ที่สินเชื่อเติบโตขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีอัตราการเติบโตของสินเชื่อมากสุด โดยเติบโตถึง 1.43% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทำให้สินเชื่อของธนาคารกรุงศรีอยุธยากลับมาขยายตัว 0.04% เมื่อเทียบกับปลายปี 2559

ส่วนธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ “แอลเอชแบงก์” ยังคงเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตสูงสุดในปี 2560 โดยเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา ขณะที่ ธนาคารทิสโก้ มีอัตราการหดตัวของสินเชื่อมากสุด โดยลดลง 0.98% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทำให้ธนาคารทิสโก้ ยังเป็นธนาคารที่มีสินเชื่อหดตัวมากสุดในปี 2560 โดยลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา

สำหรับการปรับอัตราดอกเบี้ยลงของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป มองว่า ไม่น่าจะมีผลต่อรายได้ดอกเบี้ยมากนัก และไม่น่าจะมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อ โดยมองว่า น่าจะทำเพื่อช่วยลดภาระผ่อนชำระของลูกค้ามากกว่า

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ยังคงให้น้ำหนักลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในระดับ “ปกติ” โดยมองว่า สินเชื่อน่าจะเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตามมองว่า ยังมีความเสี่ยงจากหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องได้ในไตรมาส 2 ปี 2560

ช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย และ ธนาคารกรุงไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี (เอ็มอาร์อาร์) ลง 0.5% หลังจากนั้นไม่นานธนาคารขนาดกลางและเล็กที่เหลือก็ทยอยปรับลดตาม

ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์หลายๆ แห่งในรอบนี้ เชื่อว่ามาจากการที่รัฐบาลมีเจตนากระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และลูกหนี้รายย่อยที่ประสบปัญหา ด้วยการลดภาระต้นทุนทางการเงินลง

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ย เอ็มอาร์อาร์ ส่วนใหญ่จะอิงกับการคิดดอกเบี้ยของลูกหนี้เอสเอ็มอีและขนาดเล็ก ส่วนลูกหนี้สินเชื่อบ้าน คาดว่าการลดดอกเบี้ยจะกระทบกำไรประมาณ 3-4% โดย ธนาคารไทยพาณิชย์ จะถูกระทบหนักสุด ขณะที่ ธนาคารกสิกรไทยจะถูกกระทบน้อยสุด

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรี มองว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวถือเป็นข่าวลดสำหรับกลุ่มธนาคาร ซึ่งจากการวิเคราะห์ sensitivity ของเราพบว่า การลดดอกเบี้ยรอบนี้จะกระทบกับกำไรสุทธิปี 2560 ของธนาคารใหญ่ประมาณ 3-4%

“เราคาดว่ากำไรของธนาคารไทยพาณิชย์จะถูกกระทบมากที่สุดที่ 4.2% เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยกู้สินเชื่อบ้านสูงที่สุด ในขณะที่ผลตอบแทน (ยิลด์) ของสินเชื่อธุรกิจก็จะถูกกระทบไปด้วยจากการลดอัตราดอกเบี้ย เอ็มแอลอาร์ ถึงแม้ว่า ธนาคารกรุงเทพ จะมีสัดส่วนการปล่อยกู้ เอสเอ็มอี และสินเชื่อบ้านน้อยที่สุด แต่เราคาดว่ากำไรของธนาคารจะลดลง 3.5% เพราะปรับลดทั้ง เอ็มโออาร์ และ เอ็มอาร์อาร์”

ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรี คาดว่า กำไรของธนาคารกสิกรไทยจะลดลง 3.3% และ ธนาคารกรุงไทย ลดลง 3.7% ส่วนผลกระทบต่อธนาคารขนาดเล็กจะน้อยกว่าธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากมีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อรถยนต์สูง ซึ่งเป็นสินเชื่อที่คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่

นอกจากนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ยังได้ปรับลดน้ำหนักกลุ่มธนาคารเหลือระดับ “ปกติ” โดยแนะนำหุ้นของธนาคารขนาดเล็กมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่

“หุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวดีกว่าตลาด 4% เมื่อเทียบกับปลายปีที่ผ่านมา แต่จากการลดดอกเบี้ยซึ่งอยู่เหนือความคาดหมาย ทำให้เรามองว่ามีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับลดลงได้ในระยะสั้น และเราชอบธนาคารเล็กมากกว่าธนาคารใหญ่ เพราะน่าจะถูกกระทบน้อยมากจากการลดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม”

ด้าน ฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า การปรับลดดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์โดยไม่ได้คาดหมายในรอบนี้ จะส่งผลให้กำไรของกลุ่มธนาคารลดลงประมาณ 4% หากปัจจัยอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง โดยผลกระทบที่เกิดกับแต่ละธนาคารจะแตกต่างกันไป

“เราคาดว่าธนาคารไทยพาณิชย์จะถูกกระทบหนักสุด เนื่องจากธนาคารมีสัดส่วนการปล่อยกู้สินเชื่อสินเชื่อบ้านสูงที่สุด และยังปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หลักลงทุกประเภท”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการลดดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลกระทบไปทั้งหมด เพราะการลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้และช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้นานขึ้น ซึ่งในอีกด้านหนึ่งจะส่งผลดีในแง่คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มแสดงสัญญาณการฟื้นตัว และการลดดอกเบี้ยรอบนี้ก็ไม่ได้ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวหรือพื้นฐานของเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป จึงมองว่าราคาหุ้นของธนาคารที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา เป็นโอกาสที่เข้าลงทุน