เชื่อปลดล็อคอีอีซีช่วยดึงเอกชนลงทุนมากขึ้น

เชื่อปลดล็อคอีอีซีช่วยดึงเอกชนลงทุนมากขึ้น

"คณิศ" เชื่อนายกฯปลดล็อคอีอีซีช่วยดึงเอกชนเข้ามาลงทุนไม่ต่ำกว่า 30 ราย ในระยะเวลา 1 ปี เบื้องต้นมีผู้แสดงความสนใจแล้ว 6 ราย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) อธิบายว่ามาตรา 44 ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเร่งดำเนินการโครงการอีอีซีใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ของโครงการเร่งด่วนในพื้นที่อีอีซี พร้อมกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษเพิ่มจากผู้ขออนุญาต เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษแก่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ โดยต้องดำเนินการให้เสร็จในเวลาไม่เกิน 1 ปี 2.เร่งกระบวนการและลดขั้นตอนการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) และ 3.กำหนดให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้เกินกว่าร้อยละ 50 ในกิจการหน่วยซ่อมอากาศยาน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีสูงและมีสิทธิบัตรสำหรับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ซึ่งจะไม่ยอมลงทุนหากไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้น จึงต้องปรับปรุงลักษณะของผู้ได้รับใบรับรองในเขตอีอีซีเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการเดินอากาศเดิม

ทั้งนี้ เมื่อมีการปลดล็อกแล้วจะทำให้มีภาคเอกชนมั่นใจและตัดสินใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีประมาณ 30 ราย ภายในระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากกระบวนการขออนุญาต เพื่อลงทุนของไทยลดความซ้ำซ้อนและใช้เวลาสั้นลง เบื้องต้นมีเอกชน 6 รายแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นกิจการใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มอากาศยาน ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ครบวงจร รวมถึงหุ่นยนต์และชิ้นส่วน

นายคณิต กล่าวด้วยว่า วันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซีจะมีการพิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าเรือ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และมาบตาพุด เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายอีอีซีชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 16 มิถุนายนนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ประชุมบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อติดตามความคืบหน้าการลงทุน