อนุรักษ์ 4.0

อนุรักษ์ 4.0

ร่วมกันผ่าทางตันแล้วค้นหาคำตอบให้การอนุรักษ์เดินหน้าไปพร้อมกับการพัฒนาตามโมเดล ‘ประเทศไทย 4.0’

            “ประเทศไทย 4.0 คืออะไร?”

            “ทำไมต้องเป็น 4.0 ?”

            เป็นปริศนาที่คนจำนวนไม่น้อยกำลังงวยงงสงสัยเมื่อจู่ๆ ตัวเลขดังกล่าวนี้โผล่ขึ้นมาต่อท้ายชื่อประเทศไทย ซึ่งถ้าค้นความหมายกันจริงๆ เลขทศนิยมทำนองเดียวกันนี้มีมานมนานแล้ว โดยใช้เพื่อระบุว่ายุคสมัยนั้นรัฐบาลพยายามขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยอะไร

            เช่น ประเทศไทย 1.0 ที่เน้นภาคการเกษตร ทำนองว่าต้องปลูกข้าว พืชสวน พืชไร่ เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ นำผลผลิตไปขาย สร้างรายได้และยังชีพ ต่อมาเป็น ประเทศไทย 2.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมเบา คือ เริ่มใช้เครื่องมือเข้ามาช่วย ผลิตกระเป๋า เสื้อผ้า เครื่องประดับ และเป็นโมเดล ประเทศไทย 3.0 ที่เน้นอุตสาหกรรมหนัก เช่น ผลิตและส่งออกรถยนต์ เหล็กกล้า ก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ โดยใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเน้นการส่งออก

            ทว่าแผนพัฒนาประเทศไทยลำดับที่สาม (จุดศูนย์) มีขอบเขตจำกัดทำให้การพัฒนาประเทศไปได้ไม่ไกลกว่าที่เป็นอยู่ แบบ ‘ทำมากแต่ได้น้อย’ รัฐบาลปัจจุบันจึงวางแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศนี้ให้เป็น ประเทศไทย 4.0 ที่จะขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

            ในขณะที่ประเทศไทยกำลังถูกเร่งเร้าให้พัฒนาเป็นแบบนั้นแบบนี้ อีกด้านหนึ่งของดีของเดิมกลับถูกหลงลืม มิหนำซ้ำหลายอย่างถูกทำลายเพื่อหลีกทางให้การพัฒนาแบบต่างๆ อย่างที่เห็นเกิดขึ้นแล้วกับอาคารเก่าหลายหลัง อาคารสถานีรถไฟเก่า โบสถ์เก่า แม้กระทั่งอาคารสถานีตำรวจเก่า แต่ละที่มีความเชื่อมโยงกับบริบทสังคมย่านนั้นๆ และมีคุณค่าทางสถาปัตยกรรม กระทั่งบางคนต้องตั้งคำถามกันว่า “การอนุรักษ์ในยุค 4.0 จะเป็นไปอย่างไร? หรือแค่ง่ายๆ จะมีการอนุรักษ์หรือไม่?”

            เกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน บอกว่า การอนุรักษ์ไม่ว่าอนุรักษ์อะไร จะถูกมองว่าเป็นการขัดขวางการพัฒนา ไม่เคยถูกมองว่าการอนุรักษ์หรือเข้าใจรากนั้นจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสุดที่จะพัฒนาประเทศได้ และไม่ว่าจะมีนโยบายอะไรมาก็แทบจะไม่มีนโยบายเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และการอนุรักษ์ อะไรที่เคยถูกทำลายมากแค่ไหนก็ยังถูกทำลายไปเรื่อยๆ

            “เวลาเราพูดถึงคำว่า ‘อนุรักษ์’ คือรักษาสภาพเดิมไว้ให้เหมือนของเดิมที่สุด แต่ในเชิงสิ่งแวดล้อมหมายถึงการใช้ทรัพยากรอย่างไม่สิ้นเปลือง อันที่จริงการใช้ก็ไม่อนุรักษ์แล้วนะ

            การปลูกป่าก็เริ่มจากถางให้เหี้ยนก่อน แล้วค่อยปลูกใหม่ ไม่อย่างนั้นจะเหมือนไม่ได้ปลูกป่า คำถามคือนโยบายต่างๆ ที่ออกมาเพื่ออะไร? ในที่สุดก็เพื่อเงินที่เอาไปปลูกป่า เอาไปสร้างเขื่อน แต่ถามว่านั่นใช่ 4.0 หรือเปล่า ก็ไม่เห็นความแตกต่างว่าก่อนหน้านั้นกับอนาคตนั้นแตกต่างกันอย่างไร”

            สอดคล้องกับที่ ปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อดีตประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม สมาคมสถาปนิกสยามฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาของประเทศไทยคือยังไม่รู้เลยว่าจะเดินหน้าไปที่ไหน แต่เราตั้งว่าประเทศไทยจะเป็นอะไร ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าเราจะเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ดีที่สุดในโลก หรือเป็นประเทศท่องเที่ยวดีที่สุดในโลก หรืออุตสาหกรรมดีที่สุดในโลก เราไม่ได้ตั้งเป้านี้เลย แล้วเราจะตั้งนโยบายยุทธศาสตร์ให้เดินไปตรงไหนได้อย่างไร

            พระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนอย่างหนึ่งที่จะตอกย้ำว่าคนจำนวนมากยังไม่เข้าใจการอนุรักษ์ ผอ.มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อธิบายว่า เดิมทีเก็บค่าเข้าชมพระราชนิเวศน์ฯ 30 บาท แต่ทางมูลนิธิต้องครุ่นคิดว่าทำอย่างไรให้ 30 บาทของเขาเหล่านั้นได้ประโยชน์ที่สุด ซึ่งคนที่เดินเข้ามามีทั้งอาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ คนของกระทรวง และอื่นๆ อีกมากมาย แต่ท้ายที่สุดค่าเข้า 30 บาทนี้กลับถูกวิจารณ์ว่าไม่คุ้มค่า เพราะปีนี้ทางมูลนิธิไม่อนุญาตให้ขึ้นชั้นสอง

            “ปีนี้ทดลองไม่ให้ขึ้นวัง ปรากฏว่าโดนด่าไปหนึ่งสัปดาห์ เขาบอกว่าเสียดายที่มาแล้วไม่ได้ขึ้น แต่ถามว่าขึ้นไปแล้วได้อะไรมากกว่าเดิมหรือเปล่าก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องขึ้น ก็เลยอยากปรับทัศนคติเขาว่าของที่มีคุณค่าไม่ใช่แค่ได้ขึ้นไปเหยียบบนวัง แต่ลองเปลี่ยนไปดูสิ่งแวดล้อมไหม เรากำลังจะฟื้นป่าชายหาด นั่นก็คือมรดกทางสิ่งแวดล้อมที่เรามี”

            สำหรับเหตุผลที่ไม่ให้ขึ้นไปเพราะโครงสร้างของวังรับไม่ไหว และอีกเหตุผลหนึ่งคือทุกเท้าที่ขึ้นไปคือค่าใช้จ่าย ค่าซ่อมแซม ค่าสึกหรอ แล้วคนที่ขึ้นไปก็มักจะบ่นว่ามี “แค่นี้เหรอ ให้ดูอะไร” ซึ่งทางมูลนิธิก็บอกก่อนแล้วว่าไม่ให้ขึ้น ดูข้างล่างก็เหมือนกัน แต่คนรู้สึกว่ามาถึงแล้วต้องไปดูห้องน้ำพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ให้ได้

            เมื่อการพัฒนาจะเกิดขึ้นฉับพลัน แต่คนยังไม่ทันเข้าใจการพัฒนาที่ยั่งยืน ภารณี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการอิสระด้านผังเมือง จึงสะกิดเตือนว่าถ้าเร่งเกินไปอาจไม่ได้ประเทศไทยแบบที่วาดหวังไว้

            “สิ่งที่เห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็น ประเทศไทย 4.0 อาจเป็น ประเทศไทย 0.4 ก็ได้ เราสงสัยว่าความเป็น 4.0 ที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นั้นเป็นของใคร”

            เพราะกลไกประชารัฐที่รัฐบาลกำลังทำไม่ได้มีแค่ด้านเดียว ตัวอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐพยายามขับเคลื่อน ภารณีบอกว่ายังไม่เห็นเรื่องวัฒนธรรม ยังไม่มีเรื่องการอนุรักษ์ในประเทศไทย 4.0 ทั้งที่จุดเด่นที่สุดของประเทศไทยคือเรื่องวัฒนธรรม

            แต่ ปองขวัญ ขยายความให้ฟังว่า ประเทศไทย 4.0 แบบที่รัฐต้องการให้เป็นนั้นคือทำอะไรต้องเกิดการเพิ่มมูลค่าเพื่อความมั่งคั่ง ทว่าอย่าหลงลืมว่าประเทศไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นวันนี้หรือเมื่อวาน เรามีมรดกของชาติมากมาย

            “แต่สิ่งที่มีคุณค่าซึ่งบรรพบุรุษได้สร้างไว้เรากลับไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง เช่น เราไม่รู้ว่ามีอาคารที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ อย่างสถานีรถไฟเก่าก็เยอะเลย แต่เขาไม่ได้มองว่ามีคุณค่าหรือไม่ได้มาบันทึกว่าฉันมีสมบัติเหล่านี้กี่ชิ้น พอวันหนึ่งจะสร้างใหม่ก็ลืมไปว่านี่คือสมบัติ”

            จึงเป็นที่มาของข้อเสนอจากอดีตประธานกรรมาธิการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมคนนี้ว่า...

            “อยากจะเสนอรัฐบาลว่าผู้ที่ดูแลเรื่องอาคารสถานที่ของรัฐบาล เช่น กรมธนารักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กรุงเทพมหานคร เขตต่างๆ อยากเชิญชวนให้ท่านๆ เหล่านี้ทำบัญชีอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะเก็บข้อมูล พอคนจะรื้อก็จะได้เห็นว่าตรงนี้มีคุณค่าอะไรบ้าง”

            เมื่อได้บัญชีนี้ก็มาจัดลำดับคุณค่าว่าอยู่ลำดับไหน และดูกันว่าจะดูแลอย่างไร ซึ่งนั่นเป็นขั้นตอนต่อๆ ไป

            นอกจากอาคารสถานที่แล้ว ปองขวัญบอกว่าพวกเฟอร์นิเจอร์หรือวัตถุโบราณ แม้แต่สิ่งที่สร้างขึ้นสมัยใหม่ ถ้ามีคุณค่าก็ควรเก็บรักษา แล้วสร้างฐานข้อมูลขึ้นมา เป็นการพลิกโฉมการทำงานจากเชิงรับ ทำนองว่าเวลามีใครจะรื้ออะไรคนก็วิ่งมาบอกสมาคมสถาปนิกสยามฯ ตอนนี้ต้องทำงานเชิงรุก คือไปบอกคนที่ทำงานกับสมาคมฯ เช่น ไปบอกเขตแต่ละเขตให้ทำบัญชีอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์ จากจุดเล็กๆ นี้อาจสร้างความหวังของการอนุรักษ์ท่ามกลางการพัฒนาได้

            ทำนองเดียวกับที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปริญญา ชูแก้ว อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้คร่ำหวอดในการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเก่าที่กำลังเป็นประเด็นร้อนจะถูกรื้อทิ้งสังเวยโครงการรถไฟทางคู่ เล่าว่าการทำงานเชิงอนุรักษ์แบบนี้เขาไม่ได้ทำคนเดียว หลายครั้งมีลูกศิษย์ช่วยทำ เหตุผลหนึ่งคืองานเสร็จไวและไม่ยากลำบากเกินไป ส่วนอีกเหตุผลคือ การที่คนรุ่นใหม่ยุคประเทศไทย 4.0 ได้สัมผัสปัญหาอันเกิดจากการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์จะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาตระหนักได้ว่าคุณค่าของสิ่งต่างๆ ไม่ได้มีแค่เท่าที่คุณมี หรือใกล้ชิดเท่านั้น

            “ผมไม่ได้คาดหวังว่าลูกศิษย์จะต้องมาอินเรื่องอนุรักษ์กับผม เพียงแต่ว่าผมอยากจะบอกเขาว่าในประเทศของเรามีพื้นที่เยอะแยะมากมาย ไม่ใช่แค่ลาดกระบัง สุวรรณภูมิ สยาม หรือบ้านคุณ ยังมีชุมชน มีอาคาร มีบ้าน ซึ่งแทรกตัวอยู่เยอะแยะมากมาย นี่ต่างหากที่เราพยายามทำ”

          แน่นอนว่าถ้าเกิดการตระหนัก ย่อมเกิดผลลัพธ์ที่ดี เหมือนที่ เกล้ามาศ บอกว่า ถ้าคนภูมิใจในเอกลักษณ์ ในประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรม ในสิ่งแวดล้อม และเข้าใจการร่วมรักษา นี่ต่างหากที่จะทำให้เกิดการพัฒนาได้ ไม่ว่า 4.0 หรือเลขท้ายจำนวนใดก็ตาม