‘ดิจิทัล เทรนด์ ซัมมิต’ไขรหัสความสำเร็จยุค4.0

‘ดิจิทัล เทรนด์ ซัมมิต’ไขรหัสความสำเร็จยุค4.0

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และ สถานีโทรทัศน์ดิจิทัล NOW 26 ได้จัดสัมมนา หัวข้อ "ดิจิทัล เทรนด์ ซัมมิต: Digital Trends Summit

ผู้ร่วมสัมมนาต่างเห็นตรงกันว่า ยุคดิจิทัล หนึ่งในเครื่องมือที่กลายเป็นตัวจักรขับเคลื่อนการเติบโตธุรกิจ คงหนีไม่พ้น การนำเทคโนโลยีเข้าเสริมความแข็งแกร่งผลิตภัณฑ์ การบริการ และการตลาด

 วรรณา สวัสดิกูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่าการเริ่มต้นหากต้องการเข้าสู่ดิจิทัล ถ้าเป็นเป็นธุรกิจเล็กหรือธุรกิจครอบครัว ให้เริ่มทำจากที่ง่ายๆ เช่น เปิดเฟซบุ๊คแฟนเพจ จากนั้นทดลองลงมือปฏิบัติ เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับพัฒนาและก้าวต่อๆ ไป

ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องยากมาก ไม่ต้องลงทุนมาก แต่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ ทดลอง และปรับเปลี่ยน ปรับตัวไปเรื่อยๆ”

ส่วนองค์กรขนาดใหญ่ ผู้นำองค์กรหรือซีอีโอต้องมีความเข้าใจ และเป็นแกนนำที่จะเดินไปข้างหน้าร่วมกับพนักงาน เป็นเรื่องที่ต้องก้าวขาออกมาจากคอมฟอร์ตโซน ที่นอกจากประเด็นเรื่องเงิน เป็นเรื่องของการพัฒนาคน และสำคัญที่สุดความเข้าใจของผู้บริหาร

แต่ทั้งนี้ หนึ่งในปัญหาที่เกิดกับแทบทุกองค์กรในไทยคือ ขาดแคลนคนที่จะทำงานด้านดิจิทัล หวังว่าภาคการศึกษาจะหันมาให้ความสำคัญในฐานะวิชาเอก ไม่ใช่แค่ส่วนเสริม ส่วนของซัมซุงการรับพนักงานจะหาคนที่มีความหลงใหลในสิ่งที่ทำ มีทัศนคติที่เป็นบวกเรื่องที่จะนำเทคโนโลยีมาสร้างความเป็นไปได้หลากหลาย และต้องมีความยืดหยุ่น

สำหรับปัจจัยที่จะเอื้อให้ธุรกิจเติบโต และหวังว่าภาครัฐจะให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาความพร้อมของอินฟราสตรักเจอร์ รวมถึงการพัฒนาด้านการศึกษา

ทุกวันนี้บิ๊กดาต้าเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่ทำให้เข้าใจพฤติกรรม ความต้องการของลูกค้า ลดการสูญเสียโอกาส เนื่องจากการลงทุนซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่มักเปลี่ยนกันทุก 3-5 ปี ไม่ได้บ่อยอย่างสมาร์ทโฟน ดังนั้นหากปล่อยพลาดย่อมเสียโอกาส

เข้าใจ-ตอบสนองเร็ว

แบ๊บติสต์ ลีเกิ้ล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด ลาซาด้า ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยเติบโตเร็วมาก มีปัจจัยบวกเช่นการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือที่สูง ขณะเดียวกันผู้บริโภคหันมาใช้เริ่มหันมาจับจ่ายสินค้าบนออนไลน์กันมากขึ้น ทุกวันนี้สัดส่วนอีคอมเมิร์ซยังน้อยกว่า 2% ของตลาดค้าปลีก ดังนั้นยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

“การรับรู้ของตลาดไทยเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งส่งผลดีทั้งส่วนของการพัฒนาภาพรวมตลาดและการให้บริการ”

อนาคตของอีคอมเมิร์ซไทย คาดว่าจะยิ่งมีแพลตฟอร์มการให้บริการ สินค้าจำหน่ายที่มากขึ้น เกิดความสะดวกสบายทั้งด้านเพย์เมนท์ โลจิสติกส์ อีกทางหนึ่งบริษัทหวังว่ารัฐบาลไทยจะให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อพัฒนาสร้างความพร้อมด้านอินฟราสตรักเจอร์ของประเทศ

สำหรับการรับมือลูกค้า เนื่องจากคนบนโลกออนไลน์มักไม่ค่อยมีความอดทน ดังนั้นจำต้องตอบสนองให้เร็ว พยายามทำความเข้าใจปัญหา ความต้องการ มีช่องทางที่หลากหลายสำหรับติดต่อสื่อสาร แก้ปัญหา

“การให้บริการลูกค้าทุกอย่างต้องง่าย เสนอทางเลือกที่หลากหลาย ปลอดภัย พร้อมเข้าใจถึงความต้องการของแต่ละท้องถิ่น เราเองกว่าจะมาถึงวันนี้ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านช่วงของการลดลองต่างๆ เพื่อนำกลับมาพัฒนาบริการให้ดีมากขึ้น”

ปรับตามผู้บริโภค

พัชราพร ขวัญเจริญทรัพย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ไอเดียการพัฒนาธุรกิจมักมาจากการศึกษาตลาดก่อนเปิดตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรจะพูดกับตลาดประเทศไทยได้ดีที่สุด

สิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาคือ อะไรคือปัญหา อะไรคือความต้องการ แล้วจะทำอย่างไรถึงจึงจะตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด การให้บริการต้องมีความสะดวก ครบถ้วนกับความต้องการ และมีการอัพเดทอยู่เสมอ”

นอกจากนี้ ที่ต้องนำกลับมาวิจัยคือ สิ่งที่เสนอออกไปมีผลตอบรับหรือสามารถเข้าถึงได้มากเพียงใด สอดคล้องกับตลาดท้องถิ่นนั้นๆ หรือไม่ บางครั้งการแข่งขันอาจไม่ใช่กับผู้ให้บริการด้วยกันเอง แต่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมที่เคยชินของผู้บริโภค

ขณะที่ บางบริการที่ยังไม่อาจทำรายได้ได้โดยตรงเพราะผู้บริโภคนิยมใช้ของฟรีมากกว่า ก็ต้องทางอื่นๆ เพื่อทำรายได้แทน หากเรื่องใดไม่เชี่ยวชาญก็หาพันธมิตรเข้ามาช่วย การรักษาฐานลูกค้าต้องให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นอยู่เสมอ

ในมุมของธุรกิจต้องการกฎหมายที่เอื้อต่อการนำดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มความสะดวก กฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อการดำเนินงาน การลดช่องวางทางดิจิทัล การให้การศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์การนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเศรษฐกิจไทย

“ดิจิทัลอยู่กับทุกคน ทุกเวลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งมีการเข้าไปผูกติดมากขึ้นตามระดับ ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรต้องมีดิจิทัลเป็นหนึ่งในปัจจัย เป็นตลาดที่ทั้งในและต่างประเทศมองว่าหอมหวน เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ”

'ฟินเทค’ตัวช่วยยุคธุรกิจ4.0

อิศราดร หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท โอมิเสะ จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับชำระเงินออนไลน์ กล่าวว่า ทุกวันนี้การแข่งขันของฟินเทคค่อนข้างรุนแรง แต่ละรายมีการโฟกัสที่แตกต่างกันไป

“หากการใช้งานยิ่งมีความง่าย โอกาสการเกิดยอดขายยิ่งมากขึ้น เรียกได้ว่ายิ่งง่าย ยิ่งกระตุ้นต่อมวู่วามในการซื้อ เป็นการเพิ่มพาวเวอร์การใช้จ่าย การใช้เงินในอนาคต”

อิศราดร มีมุมมองว่า การทำธุรกิจ ไม่จำเป็นต้องเป็นรายแรกในโลกก็ได้ แต่ต้องมีความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไรและต้องเกาให้ถูกจุด สำคัญต้องมีความรับผิดชอบ สามารถทำในสิ่งที่ให้คำมั่นไว้ให้ได้

การเริ่มต้นแม้จากแค่ตลาดที่ไม่ได้ใหญ่มากหากแต่เข้าถึงได้จริงก็ดึงดูดลูกค้าหรือนักลงทุนเข้ามา ส่วนความผิดพลาดคือบทเรียน อย่ากลัวที่จะลอง การเปลี่ยนเป็นดิจิทัล ต้องมีการให้การศึกษา เสริมแรงจูงใจที่จะเข้ามาใช้งาน ไม่ใช่มีแต่ความกลัว เช่นเรื่องภาษี

ผมเองไม่ได้จบมาจากมหาวิทยาลัยด้านธุรกิจชื่อดัง เดินมาแบบมวยวัด ที่มาถึงจุดนี้ได้ก็เคยล้มเหลวมาก่อน ทว่าไม่เคยยอมแพ้”

สำหรับโอกาสทางการตลาดของฟินเทค มองว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาลยิ่งเปิดตลาดเสรีเพิ่มโอกาสธุรกรรมแบบข้ามประเทศได้มากขึ้น เรื่องนี้บทบาทบริษัทมุ่งพัฒนาเชิงอินฟราสตรักเจอร์ สร้างเครือข่าย ทำให้การใช้งานง่ายที่สุด เรียลไทม์

“เรื่องนี้สำคัญคือทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนผ่านจากการใช้งานรูปแบบดั้งเดิมไปสู่ดิจิทัล รวมถึงการเชื่อมโยงที่จะเอื้อประโยชน์การใช้งาน เปิดทางให้เกิดการสร้างธุรกิจใหม่ๆ”

ด้านปัจจัยที่จะเอื้อต่อธุรกิจอย่างมาก คือนโยบายของรัฐบาล การผลักดันกฎเกณฑ์ด้านเพย์เมนท์ที่เอื้อต่อการลดใช้เงินสด ช่วยให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วขึ้น ที่ผ่านมาธุรกิจมีข้อจำกัดหลายประกาย เช่นกฎหมาย กระบวนการขอใบอนุญาตต่างๆ แต่มีแนวโน้มที่ดี แต่ละประเทศเริ่มปรับตัว ตื่นตัวที่จะพัฒนาให้สอดคล้องกับการใช้งานยุคใหม่