‘ศิริภา จึงสวัสดิ์’ ชูนวัตกรรม ดัน 'อูเบอร์' ฝ่ากฏหมายไทย

‘ศิริภา จึงสวัสดิ์’ ชูนวัตกรรม ดัน 'อูเบอร์' ฝ่ากฏหมายไทย

"บริการไรด์ แชร์ริ่งมีแค่เพียงคนกลุ่มหนึ่งที่เข้าใจ จึงเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในธุรกิจบริการอูเบอร์ ว่าเหมือนผู้ให้บริการรายอื่นๆในตลาด แต่ที่จริงแล้วอูเบอร์มีความแตกต่างและเป็นบริการใหม่จริงๆ สำหรับตลาดเมืองไทย”

‘อูเบอร์’ เป็นหนึ่งบริการในโลกยุค “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์ม” ที่ยังต้องฝ่ากระแสข้อจำกัดทางด้านกฏหมายของโลกยุคเก่า บริการไรด์ แชร์ริ่งในไทย จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสง่าผ่าเผยมากนัก ไม่ใช่เฉพาะในไทย แต่ในบางเมืองทั่วโลก อูเบอร์ก็เผชิญกับปัญหาคล้ายๆ กัน ในยุคที่เทคโนโลยีแทรกซึมอยู่ในทุกอณูการใช้ชีวิต เส้นทางของอูเบอร์ในไทยอาจยังต้องเดินทางอีกยาวไกล นับเป็นความท้าทายที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง

ชู 3 ภารกิจดันอูเบอร์
‘ศิริภา จึงสวัสดิ์’ ผู้จัดการประจำประเทศไทย, อูเบอร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงยุทธศาสตร์จากนี้ของ อูเบอร์ ด้วยคอนเซปต์บริการไรด์ แชรริ่ง หรือบริการร่วมเดินทาง ท่ามกลางความท้าทายของข้อกฏหมาย ที่ยังต้องเดินหน้าทำความเข้าใจกับภาครัฐ เพื่อยกระดับให้อูเบอร์เป็นบริการที่ถูกกฏหมายในไทยให้ได้

"ปีนี้ภารกิจของอูเบอร์จะเน้นหนักใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานการเดินทางของไทยให้ดียิ่งขึ้น 2.ให้ผู้คนเดินทางได้อย่างปลอดภัยและมั่นใจทุกครั้ง 3.ทำให้พาร์ทเนอร์ร่วมขับและผู้โดยสารได้รับประสบการณ์ที่ดีจากบริการร่วมเดินทาง โดยอูเบอร์ต้องการร่วมเป็นส่วนหนึ่งพัฒนาระบบคมนาคมไทยบนพื้นฐานการคิดค้นนวัตกรรม และบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้คนในสังคมไทยเข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม มีขนส่งที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ"

ศิริภา บอกว่า ปัจจัยขับเคลื่อนที่จะผลักดันให้บริการ ไรด์ แชร์ริ่งในไทยได้รับความนิยมมากขึ้น คือ การให้บริการการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวกและเชื่อถือได้ โดยบริการของอูเบอร์นั้น แค่แตะปุ่มแล้วเดินทาง

“การใช้เทคโนโลยีทำให้เราให้ความมั่นใจแก่ผู้เดินทางว่า จะเดินทางอย่างปลอดภัยตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และเมื่อเดินทางถึงที่หมายแล้ว บริการไรด์ แชร์ริ่งกับคนไทยตอนนี้ต้องยอมรับว่า มีแค่เพียงคนกลุ่มหนึ่งเข้าใจในรูปแบบบริการใหม่นี้ ทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในธุรกิจบริการของอูเบอร์ว่า เหมือนกับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ที่มีอยู่ในตลาด แต่จริงแล้วอูเบอร์มีความแตกต่างและเป็นบริการใหม่จริงๆ สำหรับตลาดเมืองไทย”

ชี้คนไทย “คุ้นเคย”
ศิริภา บอกว่า วันนี้คนไทยที่เคยใช้บริการเข้าใจมากขึ้นว่า อูเบอร์ช่วยให้ชีวิตการเดินทางของพวกเขาดีขึ้นอย่างไร เช่น บ้านอยู่ซอยลึก เปิดแอพฯ อูเบอร์ แล้วเรียกรถเข้ามารับได้ โดยที่พวกเขาได้เป็นหนึ่งในผู้ใช้บริการรูปแบบ ไรด์ แชร์ริ่ง และนี่เป็นสิ่งที่ต้องสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง

“เรามาเพื่อเติมเต็มระบบการเดินทาง เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงบริการรถสาธารณะได้เท่าเทียม ไม่ว่าจะอยู่ในซอยลึก หรือบริเวณที่รถสาธารณะไม่ได้วิ่งผ่าน โดยเรียกบริการผ่านแอพพลิเคชั่น เราเข้าใจว่าบริการในรูปแแบบรถร่วมเดินทางหรือไรด์ แชร์ริ่ง เป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทย และกฏหมายไทย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราทุกฝ่ายต้องร่วมพูดคุยกันเพื่อศึกษาถึงบริการรูปแแบบใหม่นี้ และใช้เวลาทำความเข้าใจให้ตรงกัน”

ความคืบหน้าการหารือกับภาครัฐ จากการประชุมเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะภาครัฐเข้าใจถึงรูปแบบการให้บริการของอูเบอร์ว่า เป็นบริการแบบไรด์ แชร์ริ่ง และได้สรรหาองค์กรอิสระเข้ามาร่วมศึกษารูปแบบบริการ เพื่อหาทางออกในการเปิดให้บริการได้ในไทย โดยมีกฏหมายรองรับที่ถูกต้องซึ่งใช้เวลา 6-12 เดือนที่จะทำงานร่วมกัน

“อูเบอร์ มองว่า รัฐบาลไทย มีวิสัยทัศน์จากการที่ต้องการผลักดันประเทศไทย ด้วยนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน อูเบอร์ ถือเป็นอีกนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตการเดินทางของคนไทยให้มีทางเลือกได้มากขึ้น ตอบโจทย์ความสะดวกสบายแบบที่พวกเขาต้องการ”

ทั้งนี้ มั่นใจว่า แนวโน้มของบริการไรด์ แชร์ริ่ง ทั้งในตลาดไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงตลาดโลกในอีก 1-3 ปีข้างหน้า จะมีทิศทางที่ดี และคาดว่ามีการใช้งานบริการลักษณะนี้มากขึ้นในภูมิภาคนี้ ยกตัวอย่าง เช่น ล่าสุดที่อูเบอร์เริ่มเข้าไปขยายบริการในประเทศเมียนมา

ชี้ “อูเบอร์”ช่วยสร้างงาน
ปัจจุบัน เข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีที่กระจายไปในทุกภาคส่วน (Disruptive technologies) อูเบอร์ มองว่า เทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งที่อำนวยประโยชน์ให้ผู้บริโภค และเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้ผู้คนจำนวนมาก ผู้คนยอมรับในเทคโนโลยีใหม่ด้วยเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

แต่ความท้าทาย คือ คนมักเปรียบเทียบและเชื่อมโยงกับการทำธุรกิจรูปแบบเดิม ทั้งนี้คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นนายตัวเองมากขึ้น เห็นได้จากเทรนด์ของสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์

“อูเบอร์ ช่วยสร้างงานในมิติใหม่ เทคโนโลยีของอูเบอร์ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการช่วยแก้ปัญหาการว่างงาน ทั้งในระบบและนอกระบบ เช่น กลุ่มพาร์ทเนอร์ร่วมขับ ทั้งแบบเต็มเวลาหรือขับเป็นอาชีพเสริม กลุ่มพาร์ทเนอร์ร่วมขับที่เป็นผู้พิการทางการได้ยิน หรือแม้แต่คนที่อยู่ระหว่างการหางาน ในแง่ของบริการที่เรามีอย่าง อูเบอร์อีทส์ (UberEATS) ช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกขนาดได้เพิ่มศักยภาพของธุรกิจจากเทคโนโลยีของอูเบอร์ เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นก็มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังเหมือนว่ามีข้อร้องเรียนซึ่งส่งผลลบต่อบริการอูเบอร์อยู่บ้างเช่นกัน

ประเด็นนี้ “ศิริภา” บอกว่า อูเบอร์ เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีและมุ่งมั่นสร้างชุมชนผู้ร่วมนั่ง และผู้ร่วมขับที่รวมถึงการให้การฝึกอบรมพาร์ทเนอร์ร่วมขับให้มีทัศนะคติที่ดีในการให้บริการ และให้ความมั่นใจผู้โดยสารว่า จะได้รับประสบการณ์เดินทางที่ดี

หลากนวัตกรรมเสริมบริการ
โดยปีนี้ อูเบอร์ ได้ดันนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เสริมให้ผู้ร่วมขับคนไทย ไม่ว่าจะเป็น คอลล์เซ็นเตอร์แห่งใหม่ อำนวยความสะดวกการติดต่อขอความช่วยเหลือหรือคำแนะนำต่างๆ ให้พาร์ทเนอร์ร่วมขับ เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกพาร์ทเนอร์ร่วมขับที่มีปัญหาการได้ยิน การตรวจสอบใบหน้าผู้ร่วมขับที่เป็นการยืนยันสถานะและอัตลักษณ์ของผู้ร่วมขับว่าเป็นคนเดียวกัน

มีชั้นเรียนภาษาอังกฤษสำหรับพาร์ทเนอร์ร่วมขับ ให้สามารถสนทนากับผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ใช้บริการอูเบอร์ในไทย การอบรมดูแลสุขภาพร่างกายของพาร์ทเนอร์ร่วมขับ ระบบการสื่อสารโต้ตอบระหว่างผู้โดยสารและผู้ขับ รวมทั้งฟีเจอร์คำชมจากผู้โดยสาร ทั้งสองฝ่ายสามารถให้คะแนนกันได้เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ

หนึ่งในยุทธศาสตร์ของอูเบอร์ในไทย คือ ทำกิจกรรม และเป็นพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ในไทยหลากหลายรูปแบบ เช่น การลงนามความร่วมมือระหว่างอูเบอร์อีทส์ และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การเป็นพันธมิตรกับไลน์ และโครงการโตโยต้าถนนสีขาว รวมถึงกิจกรรมในเชิงซีเอสอาร์ด้วย

ศิริภา บอกด้วยว่า อูเบอร์ให้ความสนใจในความแตกต่างของพฤติกรรม หรือไลฟ์สไตล์ของผู้โดยสารแต่ละเมืองทั่วโลก เช่น ในไทยมีบริการอูเบอร์เอ็กซ์ (uberX) ผู้โดยสารสามารถเดินทางได้ในราคาที่เหมาะสม อูเบอร์ แบล็ค โดยสารด้วยรถยนต์อีกระดับเพื่อการเดินทางอย่างมีสไตล์ อูเบอร์อีทส์ สั่งอาหารตามร้านอาหารต่างๆ ผ่านแอพ

“ฟีเจอร์ ฟังก์ชั่นที่อูเบอร์เปิดให้บริการแต่ละเมืองจะแตกต่างกันด้วย และในส่วนของแมพ (Map) จะอัพเดทและพัฒนาให้สอดรับการเดินทางในเมืองนั้นๆ ตอนนี้ทีมอูเบอร์ พยายามเข้าใจ และศึกษาตลาดเมืองไทยต่อเนื่อง เพื่อจะได้นำนวัตกรรมของอูเบอร์ มาตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนไทยให้มากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ปีแรกที่อูเบอร์ เปิดให้บริการในไทย พื้นที่ที่ได้รับความนิยมจะกระจุกย่านใจกลางเมือง แต่ปัจจุบันครบ 3 ปี พบว่า มีการใช้บริการอูเบอร์ ขยายพื้นที่ในวงกว้างขึ้นไม่เพียงแค่ใจกลางเมืองเท่านั้น พบว่า มีการเปิดแอพฯ เรียกรถอูเบอร์ กระจายทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ ไปจนถึงปริมณฑลที่มีการใช้งานเพิ่มสูงขึ้น
ปัจจุบัน อูเบอร์มีบริการในจังหวัดอื่นๆ ด้วย เช่น เชียงใหม่ ชลบุรี พัทยา และล่าสุดที่จังหวัดเชียงราย