Siam Street Nerd ชุมชนความรู้ผู้หลงใหลภาพถ่ายสตรีท

Siam Street Nerd ชุมชนความรู้ผู้หลงใหลภาพถ่ายสตรีท

สยามมนุษย์สตรีท - มนุษย์สยามผู้หลงใหลภาพถ่ายสตรีท และตกหลุมรักช่วงเวลาเสี้ยววินาทีที่ทุกอย่างมาเจอกันในจังหวะเวลาที่ดีที่สุด สร้างองค์ประกอบที่สะดุดใจ แล้วบันทึกไว้ได้ฉับพลัน

คุยกับซัน - อาทิตย์ เลิศรักษ์มงคล แอดมินและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คแฟนเพจ สยามมนุษย์สตรีท - Siam Street Nerd เพจที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพสตรีทโฟโต้ – Street Photography ที่มีเรื่องราวเนิร์ดๆ ของทั้งการถ่ายภาพสตรีท และการใช้กล้องฟิล์ม เพราะภาคหนึ่งของซัน เขาเปิดร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับกล้องฟิล์มอยู่ด้วย หลังจากก้าวออกจากสายงาน Music Producer ซันสนใจการถ่ายภาพ ชอบถ่ายภาพผู้คนที่พบเห็นโดยไม่มีการจัดฉาก จากที่ไม่รู้ว่าสิ่งนี้มีคำจำกัดความว่าอะไร เขาก็ได้พบกับภาพของรุ่นน้องคนหนึ่งในเพจ Street Photo Thailand

“เป็นภาพที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่ธรรมดา ทำให้อะไรบางอย่างในภาพเปลี่ยนไป ก็ตามเข้าไปดูก็เลยรู้จัก เลยศึกษา ไปเรียน ไปเวิร์คชอปจริงจังกับกลุ่ม Street Photo Thailand ก็ตื่นเต้นและชอบมาก”

จากนั้นก็เหมือนกลายเป็นความหลงใหล นอกจากเป็นสมาชิกของ เพจ Street Photo Thailand แล้ว ซันยังทำเพจสยามมนุษย์สตรีทแยกออกมา เพื่อสร้างคอนเทนท์เกี่ยวกับงานสตรีทโฟโต้ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีภาษาไทย เขาเรียบเรียงและเล่าออกมาจนกลายเป็นเนื้อหาที่มีความเฉพาะตัว เชื่อมโยงบริบทต่างๆ มาประกอบกัน แสดงถึงความเนิร์ดได้ดี

“พอเรียนรู้ก็ศึกษาว่าการถ่ายภาพสตรีทมีที่มา มีประวัติศาสตร์ มีศิลปินที่ทำด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มีมาเป็นร้อยปี โดยเฉพาะช่วง 50 – 60 ปีหลังก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าความรู้ด้านนี้ยังไม่ถูกเผยแพร่มากในเมืองไทย แต่ทั่วโลกมีกลุ่มที่พูดถึงเรื่องนี้เยอะ เขามีองค์ความรู้เรื่องการถ่ายภาพร่วมสมัยเยอะ แต่ในเมืองไทยต้องยอมรับว่ามีการเรียนการสอนเรื่องศิลปะร่วมสมัยทุกด้านยังน้อยมาก อย่างการถ่ายภาพ เราก็ถูกฝังมานานว่ามีอยู่มิติเดียว คือมิติด้านความสวยงาม เช่น ถ่ายภาพพระอาทิตย์ตก วิว นางรำ ขี่ช้าง ที่เซ็ทให้สวย  ฝรั่งเรียก ซาลอน โฟโต้ มันอยู่ในวัฒนธรรมเรามายาวนานในศตวรรษหลัง คนไทยก็ไม่ค่อยยอมรับการถ่ายภาพร่วมสมัยเท่าไหร่”

สตรีทโฟโต้เป็นสาขาย่อยของการถ่ายภาพร่วมสมัย ซึ่งอยู่ใต้ร่มของศิลปะร่วมสมัยอีกทีหนึ่ง งานศิลปะร่วมสมัยคืองานที่ศิลปินพูดถึงหรือตีความสังคมในช่วงเวลานั้น มีเนื้อหาที่เป็นปัจจุบันขณะ ในการถ่ายภาพจึงเป็นการบันทึกสิ่งที่มีอยู่ ณ วันนี้ โดยมีตัวแปรหลายอย่างทั้งสภาพสังคม และเทคโนโลยีการถ่ายภาพของแต่ละยุค ที่มีผลให้ภาพถ่ายออกมาต่างกัน ศิลปะร่วมสมัยจึงสื่อถึงวัฒนธรรมของแต่ละยุค

เพื่อที่จะพูดถึงเรื่องนี้ นอกจากซันจะค้นหาความรู้เรื่องสตรีทโฟโต้ เช่น หลักการ ข่าว หรือเรื่องราวที่น่าสนใจของช่างภาพทั้งไทยและเทศ มาเล่าสู่กันฟังแล้ว เขายังศึกษาให้ลึกขึ้นไปอีก เขาบอกว่า “การที่เราจะเข้าใจภาพหนึ่งภาพได้ เราต้องรู้ที่มาและบริบทของมันด้วย” เขาจึงเลือกปูพื้นฐานตัวเองให้กว้างไปถึงประวัติศาสตร์ศิลป์ในแง่ต่างๆ

แม้การถ่ายภาพสตรีทในไทยจะไม่ได้เป็นกระแสหลัก แต่ก็ได้รับความสนใจในระดับหนึ่ง ในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มสตรีทโฟโต้ของไทยก็เติบโตขึ้น

“คนไทยถ่ายภาพสตรีทได้เจ๋งมาก ออกไปประกวดทั่วโลกก็ได้รับการยอมรับ ล่าสุดกำลังจะมีหนังสือที่ออกกลางปีนี้ 100 Great Street Photographs รวมงานสตรีทโฟโต้ยุคใหม่ที่น่าสนใจ คนไทยก็อยู่ในนั้นหลายคน ในวงกว้างอาจยังไม่รู้จักมาก แต่ในวงการถ่ายภาพ การถ่ายสตรีทเริ่มเป็นเทรนด์แล้ว แต่ก่อนความเข้าใจของคน การถ่ายภาพสตรีทคือ ถ่ายภาพขอทาน คนเข็นรถเข็น พระบิณฑบาต เดินแสงสวยๆ ในหัวลำโพง แค่นั้น จริงๆ มีอะไรมากกว่านั้นเยอะ”

ซันเล่าว่าสตรีทโฟโต้เกิดขึ้นได้หลายอย่าง “ทั้งบังเอิญเจอหรือเราสามารถพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น ถ้าเราเห็นคนเดินใส่เสื้อสีแดงมา ฉากเป็นสีแดง เห็นเด็กยืนอยู่ตรงนี้ใส่แดงเหมือนกัน คิดว่าเขาต้องเดินมาแน่เลย เราก็รอ และเฟรมมันให้ได้ทุกอย่าง เหมือนการเล่นเกม แต่เกมนี้ใช้ทั้งดวงและทักษะทางศิลปะ”

การถ่ายภาพสตรีทครึ่งหนึ่งคือดวง ครึ่งหนึ่งคือฝีมือ เพราะภาพสตรีทที่สะกดสายตามักมีคุณภาพการถ่ายภาพที่สูง ทั้งแสง สี องค์ประกอบ และจังหวะ “เราจะถ่ายคนเดิน เราก็ต้องรู้ว่าจังหวะที่สวยที่สุดคือการก้าวขา เราก็ต้องจับจังหวะนั้น เราต้องรู้อยู่ในใจเลย มันมีองค์ความรู้อยู่”

ซึ่งองค์ความรู้นี้ก็จัดว่าใหม่มาก เพราะสตรีทโฟโต้ ก็เป็นคำที่เพิ่งบัญญัติมาในยุค 50s คนที่ถูกคนรุ่นหลังพูดถึงว่าเป็นปรมาจารย์ด้านนี้ยังไม่ยอมรับคำนี้เลยด้วยซ้ำ ฉะนั้น การถ่ายภาพสตรีทจะมี “หลักการ” ที่เจาะจงอยู่หรือ? ซันบอกว่ามีอยู่ “แต่อยู่ที่คุณจะเชื่อไหม เพราะในช่วงยุค 2000 เป็นต้นมา มีคนถ่ายภาพสตรีทเก่งๆ รวมตัวกันช่วยกันกำหนดความเป็นสตรีทโฟโต้ขึ้นมา คือ หนึ่ง คุณต้องถ่ายในที่สาธารณะ สอง ไม่จัดฉาก สาม ต้องสร้างสรรค์ ไม่แค่ทื่อๆ ตรงๆ แต่ถามว่าตายตัวไหม ไม่แน่ ถามว่านี่คือวิธีไหม ก็แล้วแต่ ในอนาคตมันอาจเปลี่ยนไปก็ได้ ในบ้านคนอาจกลายเป็นที่สาธารณะก็ได้ แล้วกลายเป็นงานสตรีทก็ได้ แต่ ณ วันนี้ นี่คือจุดเริ่มต้น”

เพื่อให้เห็นภาพความเป็นสตรีทโฟโต้ชัดเจน เราถามถึงช่างภาพที่ซันชื่นชอบ จริงๆ แล้วมีหลายคน แต่เขาให้ชื่อมา 1 ชื่อ

มาร์ติน พาร์ (Martin Parr) ประธานเอเจนซี่ช่างภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก แมกนั่มโฟโต้ และเป็นช่างภาพสารคดีที่ทรงอิทธิพลมากในอังกฤษ ช่วงยุค 80s งานถ่ายภาพสารคดีของเขาคือการเล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนด้วยทัศนคติหรือความสนุก แต่การถ่ายภาพสตรีทมีการบิดนิดนึงให้เกิดความสนุก หรือมุมมองบางอย่างที่อยากจะเห็น เช่น ถ้าผมอยู่ในที่สนุกมาก แต่ผมเศร้า ผมอาจบิดมุมให้คนรู้สึกเศร้าก็ได้ มาร์ติน พาร์ ถ่ายภาพสตรีทบ้าง ผมชอบที่เขาสามารถเล่าเรื่องได้เป็นซีรี่ส์ โดยไม่ได้ใช้ภาพเดียว บางภาพเห็นภาพเดียวเหวอไปเลย แต่การถ่ายภาพเป็นซีรี่ส์ มีเสน่ห์อีกแบบ

“งานที่ดังของเขาอยู่ในยุค 80s ชื่อ Last Resort เขาจะยิงแฟลช เขาจะจับซับเจ็กต์แปลกๆ มีความประหลาดอยู่ งานลาส รีสอร์ต เจ๋งตรงที่เขาเล่าบริบทสังคมยุค 80 ในอังกฤษ ช่วงปลายของนายกฯ มากาเร็ต แทตเชอร์ นโยบายรัฐที่ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ เขาไปถ่ายที่ชายหาด นิว ไบรตัน เป็นซีรี่ส์ภาพที่บ่งบอกว่าชีวิตผู้คนในยุคนั้นแย่แค่ไหน ขนาดไปเที่ยวก็แออัด สกปรก รกรุงรัง จับโมเมนท์แปลกๆ แต่สวย มันเจ๋งตรงที่ถ่ายภาพสตรีทข้ามไปอีกขั้น คือเล่าเรื่องทางสังคมได้ด้วย เป็นหนึ่งในภาพซีรี่ส์ของเขาที่ดังมาก และใช้เทคนิคการยิงแฟลช เพื่อจะเร่งสีให้มากขึ้น ซึ่ง ณ วันนั้นเป็นเทคนิคที่แปลก”

แต่ใช่ว่าภาพสตรีทจำเป็นต้องเล่าเรื่อง “บางผลงานเช่นของแฮร์รี่ กรูยีต์ (Harry Gruyeart) ก็ไม่มีเรื่องเล่าในนั้น แต่จังหวะดีมาก แสงดีมาก สีสวยมาก แล้วเราก็ชอบมากเหมือนกัน”

ความเป็นภาพสตรีทมีหลากหลายมาก เคลื่อนตัวตามการผันเปลี่ยนของยุค จากฝรั่งเศส ช่วงปี 1930 ที่คนรุ่นหลังยกย่องให้อองรี คาร์เทียร์ เบรซง (Henri Cartier-Bresson) เป็นผู้ให้กำเนิดสตรีทโฟโต้ ต่อด้วยการแตกแขนงของช่างภาพข่าวของฝั่งอเมริกา เกิดเป็นภาพสตรีทโฟโต้ที่มีโทนของความวุ่นวายและเรื่องราวของสังคมของยุคต่างๆ จนมาถึงปัจจุบันภาพสตรีทที่ให้อารมณ์แปลกๆ เป็นการตกตะกอนของยุคโพสต์โมเดิร์นในแบบของปี 2000 เป็นต้นมา ถึงจะมีพัฒนาการมาไม่น้อย สตรีทโฟโต้ก็ยังคงจัดอยู่ในงานอดิเรก ที่ไม่ว่าช่างภาพสตรีทชื่อดังในประเทศไหน ก็ไม่อาจยึดเป็นอาชีพได้

สร้างรายได้ไม่ได้ แต่ข้อดีก็คือ ทุกคนที่ถ่ายภาพแนวนี้ทำด้วยแพชชั่นล้วนๆ ซันว่าอย่างนั้น

////////////////////////

The Decisive Moment จังหวะนี้เท่านั้น

อองรี คาร์เทียร์ เบรซง (Henri Cartier-Bresson) ช่างภาพข่าว ผู้ชอบบันทึกภาพผู้คน เรื่องราวของมนุษย์และสังคม เขาคือคนปรมาจารย์ด้านแคนดิดโฟโต้ ผู้ได้ครอบครอบกล้องฟิล์ม 35 มม. นวัตกรรมด้านการถ่ายภาพใหม่ในยุคนั้น ซึ่งเปลี่ยนจากกล้องตัวใหญ่โต มาเป็นกล้องพกพาสามารถติดตัวไปถ่ายที่ไหนก็ได้ ภาพถ่ายสิ่งที่เห็นจึงถือกำเนิดขึ้นมาในยุคนั้น ช่วงปี 1930 ในปารีส ฝรั่งเศส เขายังได้รับการยกย่องจากช่างภาพยุคหลังว่าเป็นผู้ให้กำเนิดการถ่ายภาพสตรีทโฟโต้ เขาบัญญัติคำว่า Decisive Moment ขึ้น คือวินาทีนี้เท่านั้น จะเกิดก่อนหน้านั้น หรือช้ากว่านั้นแม้สักเสี้ยววินาทีหนึ่งก็ไม่ได้