ชำแหละรากเหง้า! โต้ตอบศิลปินแห่งชาติ ปมหมอลำซิ่งหยาบโลน

ชำแหละรากเหง้า! โต้ตอบศิลปินแห่งชาติ ปมหมอลำซิ่งหยาบโลน

"ผศ.ดร.ปฐมพงษ์ ณ จัมปาศักดิ์" นักวิชาการคนรุ่นใหม่ ชำแหละรากเหง้าอีสาน โต้ตอบศิลปินแห่งชาติ ปมหมอลำซิ่งหยาบโลน

จากที่สื่อสังคมออนไลน์ ได้มีการแชร์ข้อความของผู้ใช้เฟสบุ๊คว่า patompong champasakdi ได้โพสต์ข้อความเชิงวิพากษ์วิจารณ์ศิลปินแห่งชาติ ฉวีวรรณ ดำเนิน หรือ ดร.ฉวีวรรณ พันธุ ว่าได้ไปวิจารณ์หมอลำซิ่งและหมอลำในยุคใหม่ว่า ทำมาหากินเพื่อเลี้ยงปากท้องโดยไม่ได้คำนึงถึงศิลปวัฒนธรรมและความดีงาม พร้อมกับระบุว่าเป็นเพียงด็อกเตอร์จับสลากมานั้น

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อคนโพสต์ข้อความ และพบว่าเป็น ผศ.ดร.ปฐมพงศ์ ณ จัมปาศักดิ์ นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม และมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายกิจการพิเศษ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) และได้ติดต่อขอสัมภาษณ์

โดยผศ.ดร.ปฐมพงศ์ ณ จัมปาศักดิ์ ได้กล่าวยอมรับว่า เป็นผู้โพสต์ข้อความนั่นเอง และระบุว่า การโพสต์ในเฟสบุ๊คถือเป็นการโพสต์ในพื้นที่ส่วนตัว ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามแต่อย่างใด เพราะตนได้อ่านข่าวที่นำเสนอบทสัมภาษณ์ของฉวีวรรณ ดำเนิน ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก ที่ระบุว่า หมอลำยุคใหม่ไม่เหมาะสม และทำให้วงการหมอลำเสียหาย ตนจึงได้แสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลในมุมมองและทัศนคติของตนเอง เพราะเห็นว่าเนื้อข่าวของคมชัดลึกที่สัมภาษณ์ ดร.ฉวีวรรณ ดำเนิน เป็นข่าวที่เผยแพร่สาธารณะ และตนก็ได้นำเอาเนื้อหามานำเสนอในสาธารณะเช่นกัน โดยได้จับประเด็น คือ ศิลปินรุ่นใหญ่ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางหมอลำ โดยเฉพาะให้ความคิดเห็นหมอลำซิ่งเชิงลบ

“การโพสต์แสดงความคิดเห็นถือเป็นเรื่องเป็นสิทธิส่วนตัว ในอดีตหมอลำก็หยาบโลน เช่น คำร้อง ลำกลอน ทำนองอุบล การฟ้อนด้วยท่าทะลึ่ง ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ลำกลอนปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ส่วนเรื่องการโพสต์ว่าหมอลำรุ่นใหญ่ก็ไม่ได้เอ่ยถึงบุคคลใด บุคคลหนึ่ง แต่อย่างใด” ผศ.ดร.ปฐมพงษ์ กล่าว

ผศ.ดร.ปฐมพงศ์ กล่าวอีกว่า “ผมอ่านจากข้อความในข่าวที่นำเสนอ พออ่านจบแล้วผมพยายามจับประเด็นออกมา 3-4 ข้อ ในตรงนั้น ศิลปินรุ่นใหญ่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับหมอลำซิ่ง ว่าแต่งตัวหวือหวา ก่อนผมจะโพสต์ผมไปดูมาหมดแล้ว ต่อมา เขาเขียนในเรื่องของหมอลำซิ่งปฏิบัติตัวในแง่อย่างไร และออกมาในเชิงเป็นห่วงว่ายุคต่อไป หมอลำรุ่นใหม่จะลืมรากเหง้าวัฒนธรรมของเก่า โดยข้อนี้เอง ผมมองว่าพัฒนาการของหมอลำคืออดีตย้อนไปเมื่อ 70 ปีก่อน ที่เราศึกษามาสื่อและช่องทางในการแสดงออกไม่มากเหมือนในปัจจุบัน ทีนี้พอแสดงไปแล้ว ผมอยากจะทราบว่าลำกลอนทำนองของทุกจังหวัด คำลำกลอน ไปเห็นเอกสารลำกลอนตั้งแต่โบราณมีแต่คำหยาบโลนทั้งนั้น เรื่องการสอย แต่ไม่น่าจะสอยออกสื่อแต่ให้รู้ว่า การสอยคำลำกลอนมีคำหยาบโลนเช่นเดียวกัน ปัจจุบันหยาบ แต่หยาบมีมาตั้งแต่อดีตแล้ว”

นอกจากนั้นในอดีตยังมีท่าทางการฟ้อนรำ ที่แสดงท่าทางไปจับของลับกัน แต่เพียงสมัยนั้นแต่งตัวมิดชิด เพราะสังคมสมัยนั้นยังรับไม่ได้ พอโลกเราวิวัฒนาการขึั้นมาในความผสมกับการรับวัฒนธรรมตะวันตก คนดูลำกลอนเหล่านั้นอายุ 70-100 ปี คนเหล่านั้นตายไปหมดแล้ว แล้วศิลปวัฒนธรรมอีสาน หรือของทุกที่จะอยู่ได้จะต้องปรับตัวให้เข้ายุคสมัยและสังคมให้ได้ด้วย เราต้องดูว่าผู้บริโภค รับสื่อ เขาจะต้องชอบและปรับให้ทันกับสิ่งที่เขาต้องการ

“พอในยุคผม อายุ 35 ปี พวกเหล่านี้จะมีหมอลำประยุคขึั้นมาอีกอย่างหนึ่ง มีการร้องเพลง ลำซิ่ง ลำกลอน หรือ ลิเกอีสานนั่นเอง ประยุกต์มาเพื่อสนองความต้องการของสังคมอีกวัยหนึ่ง เราจะมาอาศัยแต่ของเก่าเดิม ปริมาณคนรับสารศิลปวัฒนธรรมส่วนนั้น มันเริ่มหมดไป คนอีสานเราต้องเข้าใจว่าบุญคือประเพณี จารีต ฮีตคองของอีสาน หนีจากความสนุกไม่ได้ ถ้าสมัยก่อนทำสาโทกินกัน คือมันถึงเป็นบุญ ถ้าไม่สนุกไม่ใช่อีสานแล้ว ผมเลยมองว่า ใน 60 ปีก่อนสนุกแบบสมัยนั้น 30 ปีก่อนก็สนุกในลำเรื่อง ลำต่อกลอนประยุค พอยุคปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่หมอลำซิ่งแล้ว"