‘แล็บประชารัฐ’บูมเศรษฐกิจฐานราก

‘แล็บประชารัฐ’บูมเศรษฐกิจฐานราก

เซ็นทรัลแล็บสร้างแพลตฟอร์ม “แล็บประชารัฐ” ขยับลงมาให้บริการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งโอทอปและเอสเอ็มอี ขานรับนโนบายภาครัฐช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น

เซ็นทรัลแล็บสร้างแพลตฟอร์ม “แล็บประชารัฐ” ขยับลงมาให้บริการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้งโอทอปและเอสเอ็มอี ขานรับนโนบายภาครัฐที่นำมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่น ตั้งเป้าอีก 5 ปีเข้าตลาดหลักทรัพย์


เซ็นทรัล แล็บ (Central lab Thai) จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ถือหุ้นโดยกระทรวงการคลัง 49% และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) 51% มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้บริการตรวจวิเคราะห์ผลทางห้องปฏิบัติการแก่ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกสินค้า อาทิ ตรวจหาสารเคมีตกค้าง สารโลหะหนัก ตรวจเชื้อก่อโรค การตัดต่อพันธุกรรม การปนเปื้อนในอาหารสัตว์ บรรจุภัณฑ์ สารตกค้างในปุ๋ย เป็นต้น รวมทั้งบริการตรวจรับรองมาตรฐานนอกห้องปฏิบัติการ อาทิ การตรวจรับรองด้านพืช GAP Organic การสอบระบบการผลิตโรงงาน จีเอ็มพี เอชเอซีซีพี เป็นต้น


หนุนโลคอลอีโคโนมี


นายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัล แล็บ กล่าวว่า กว่า 13 ปีที่ผ่านมาเน้นให้บริการแก่ผู้ส่งออกหลัก แบ่งเป็นกลุ่มอาหาร 71% ส่วนที่เหลือ 29% เป็นสินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มอาหารจากจำนวน 2 แสนกว่าตัวอย่าง แต่จากนี้ไปจะให้บริการแก่ผู้ประกอบรายย่อยในรูปแบบของการเป็นแล็บประชารัฐ พร้อมทั้งเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเพื่อเตือนภัยแก่ผู้บริโภคด้านอาหารปลอดภัย


“แล็บประชารัฐจะเป็นกลไกช่วยสนับสนุนการยกระดับและพัฒนามาตรฐานผู้ประกอบการไทยทุกกลุ่มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น ตามแนวทางของรัฐบาลที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เป็นตัวสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต” สุรชัย กล่าว


หลังจากที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสว.จัดโปรโมชั่นตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าสำหรับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในลอตแรก 2,000 รายๆ ละ 5,000 บาท ไม่ว่าจะเป็น ผักผลไม้สด อาหารดิบ ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง น้ำดื่ม ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีและกำลังดำเนินการต่อลอตสอง 2,000 รายใน มิ.ย.นี้


นอกจากนี้ยังร่วมกับหน่วยงานหลักที่ดูแลแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ที่ดูแลกลุ่มเกษตรกร สำนักงานกองทุนหมู่บ้านที่ดูแลวิสาหกิจชุมชน กรมการพัฒนาชุมชนที่ดูแลกลุ่มโอทอป กระทรวงอุตสาหกรรมและ สสว. ดูแลกลุ่มเอสเอ็มอี ในแต่ละหน่วยงานจะเข้ามาช่วยเรื่องงบอุดหนุนให้กับกลุ่มเป้าหมายรายละ 5,000 บาทให้สามารถเข้ารับบริการของเซ็นทรัลแล็บทั้ง 6 สาขา อาทิ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา


สร้างความเชื่อมั่น


“ในปีนี้เราพยายามที่จะเพิ่มจุดบริการย่อยในการนำตัวอย่างส่งมาตรวจ จังหวัดละ 1-2 แห่ง เพื่อความสะดวกรวดเร็ว ปกติใช้เวลาตรวจ 5-7 วันขึ้นอยู่กับเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องการจะตรวจ ที่นี่ถือเป็นแล็บขนาดใหญ่ที่สามารถให้บริการได้หลากหลายมาตรฐานกว่า1,000 รายการ ที่สำคัญเป็นแล็บกลาง ที่รัฐให้การสนับสนุนงบประมาณ ทำให้ค่าบริการถูกกว่าของเอกชน ซึ่งมี 200 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะให้บริการเฉพาะด้าน”
ปัจจุบัน เซ็นทรัล แล็บ มีรายได้ต่อปี 400 ล้านบาท กำไร 50-80 ล้านบาท มีพนักงานทั้งหมด 400 คนทั่วประเทศ ตั้งเป้าปี 2565 จะสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ แนวโน้มการบริการตรวจสอบสินค้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกับต่างประเทศ เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญความปลอดภัยในการบริโภคอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทุกปี


“จากนี้ไปผู้ประกอบการรายเล็กจะสามารถรู้ได้ว่า วัตถุดิบและกระบวนการผลิตสินค้ามีความสะอาด ปลอดภัยไหม หรือปนเปื้อนสารต้องห้ามหรือไม่ ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาดได้ง่ายขึ้น จากการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จริง ทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภค รวมทั้งสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าและโอกาสในการจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ช่องทางออนไลน์” นายสุรชัยกล่าว