น้อมนำศาสตร์พระราชา ด้วยพลังปราชญ์ชาวบ้าน สร้างฝายมีชีวิต

น้อมนำศาสตร์พระราชา ด้วยพลังปราชญ์ชาวบ้าน สร้างฝายมีชีวิต

เปิดฝายมีชีวิตแห่งที่ 13 ของจังหวัด ลำดับที่ 384 ของประเทศ ที่ตำบลหนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ ต้นแบบการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ องค์กรเอกชนและประชาชน

วันที่ 17 พ.ค. 60 ที่บริเวณห้วยคำงัวเน่า บ้านโนนชาด ต.หนองแวง อ.สมเด็จ จ.กาฬสินธุ์ นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดฝายมีชีวิต ลำดับที่ 13 ของจังหวัดกาฬสินธุ์ ลำดับที่ 384 ของประเทศไทย ภายใต้โครงการผสานรวมพลังประชารัฐขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจ สู่ความเข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เปลี่ยนภาระเป็นพลัง 90 ฝายถวายในหลวง ร่วมสร้างฝายมีชีวิต ซึ่งมีพระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เจ้าอาวาสวัดป่านาคำ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ประธานศูนย์พัฒนาคุณธรรม จ.กาฬสินธุ์ นายสมเจตน์ เต็งมงคล นายอำเภอสมเด็จ นายวิชิต สมบัติมาก ผอ.สำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ นายนิยม โยหาสิทธิ์ นายก อบต.หนองแวง พร้อมภาคีเครือข่ายภาครัฐ องค์กรเอกชน ปราชญ์ชาวบ้านและประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก 

โดยนายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ภายหลังได้ทำพิธีเปิดฝายมีชีวิตแล้ว ได้นำประชาชนประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ไว้พระแม่ธรณี พิธีคาราวะพระแม่คงคา การตอกเสาเอกซึ่งเป็นไม้ไผ่ ขนาดใหญ่ ตักทรายใส่กระสอบ และร่วมกิจกรรมปลูกพืชในหลุมพอเพียง โดยฝายมีชีวิตมีโครงสร้างสำคัญประกอบด้วย บันไดนิเวศน์ ตัวฝายกั้นน้ำ ลำไผ่ และหูช้าง ก่อสร้างโดยใช้วัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่เป็นโครงฝาย ใช้กระสอบทรายช่วยกักเก็บน้ำ รวมถึงการปลูกไม้ยืนต้นรอบบริเวณฝายจากหลุมพอเพียง 

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ฝายมีชีวิตเกิดจากการรวมน้ำใจ รวมพลังของชาวบ้านที่จะสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้งโดยเฉพาะการปลูกพืชฤดูแล้งในพื้นที่ที่จากเดิมประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก นอกจากนี้ภายใต้การดำเนินโครงการและการจัดสร้างฝายมีชีวิตไม่มีงบประมาณจากทางราชการ แต่การจัดสร้างมาจากการระดมทุนที่ได้จากชาวบ้าน องค์กรเอกชนและผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ทั้งนี้สิ่งที่ได้ยังคือพลังประชาชนที่มาจากความเสียสละ ความร่วมแรงร่วมใจ ทั้งพระ ชาวบ้าน เด็กนักเรียน และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ในการถวายความดีแด่พ่อหลวงของปวงชนชาวไทย รัชกาลที่ 9 โดยฝายมีชีวิตคำงัวเน่า เป็นฝายที่เปิดอย่างเป็นทางการลำดับที่ 3 ของจ.กาฬสินธุ์ 

นายนิยม โยหาสิทธิ์ นายก อบต.หนองแวง กล่าวว่า พื้นที่คำงัวเน่า เดิมเป็นพื้นที่แห้งแล้งซ้ำซากสาเหตุเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งแม่น้ำลำคลองไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ อบต.หนองแวง ได้เข้าร่วมโครงการสร้างเครือข่ายครูฝายมีชีวิต ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยพระอาจารย์มหาสุภาพ พุทธวิริโย ประธานศูนย์พัฒนาคุณธรรมจ.กาฬสินธุ์ ได้ให้ความรู้ในการจัดอบรม 4 คืน 5 วัน ซึ่ง อบต.หนองแวงมีครูฝายทั้งหมด 11 คน ตั้งเป้าสร้างฝายมีชีวิต 3 แห่ง ซึ่งจุดนี้เป็นจุดแรกที่ก่อสร้างฝายมีชีวิตใช้เวลาก่อสร้างนาน 20 วัน โดยไม่มีงบประมาณจากทางราชการ อบต.หนองแวงสนับสนุนการขุดลอกและทำคันคู กระสอบทรายได้จากองค์กรเอกชนที่มีจิตศรัทธา นอกจากนี้ยังมีผู้สนับสนุนเป็นเงินกว่า 16,000 บาท โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น 15,000 บาท เป็นค่าอาหารกลางวัน ผู้ที่เข้ามาช่วยสร้างฝายทั้งเด็กนักเรียน และชาวบ้านมาด้วยความเสียสละไม่ได้รับค่าแรงใด ๆ รวมถึงการร่วมบริจาคต้นไม้ยืนต้นและพืชต่าง ๆ อีกจำนวนมาก โดยฝายมีชีวิต คำงัวเน่าได้ใช้กระสอบทรายประมาณ 3,786 กระสอบ ใช้เชือกทะเล 85 กก. ใช้ไม้ไผ่ราว 300 ลำ โดยกิจกรรมในรูปแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีกทั้ง 2 ฝาย คือห้วยหัวแดง และห้วยใหญ่ 

นายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผอ.ส่วนทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ลักษณะของฝายมีชีวิต คำงัวเน่า หากใช้งบประมาณในการก่อสร้างอาจจะสูงถึง 500,000 บาท แต่ด้วยภารกิจการส่งเสริมชาวบ้านสร้างฝายชาวบ้านฝายประชารัฐ ตามนโยบายคืนความสุขให้กับประชาชน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝายมีชีวิตคำงัวเน่า ที่เกิดจากพลังชาวบ้าน โดยมีพระมหาสุภาพ พุทธวิริโย เป็นผู้วางแบบและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มสร้างจนกระทั่งการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะระหว่างการก่อสร้างฝายมีพายุฝนตกหนักจนเกิดการเรียนรู้ระหว่างฝายกับคนที่จะต้องอยู่ร่วมกัน

นอกจากนี้พื้นที่โดยรอบฝายยังได้สนับสนุนให้ปลูกไม้ยืนต้นที่อนาคตจะเป็นป่าต้นน้ำ สร้างหลุมพอเพียง ที่จะทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีด้วยพืชพรรณปลอดสารพิษ โดยโครงการสร้างฝายมีชีวิตใช้วัสดุจากท้องถิ่นทั้งไม้ไผ่ กระสอบทราย และเชือกทะเล ตัวฝายมีขนาดกว้าง 4 เมตร ความยาว 6 เมตร สูง 1.2 เมตร ขณะที่ห้วยคำงัวเน่ามีความยาวถึง 2 กม. ซึ่งเมื่อสร้างฝายแล้วเสร็จสามารถกักเก็บน้ำได้มากถึง 10,650 ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 1 ตร.กม. ทั้งนี้ในพื้นที่จ.กาฬสินธุ์มีความตื่นตัวอย่างมากกับการสร้างฝายมีชีวิต ปัจจุบันมี การแสนอแผนเพื่อก่อสร้างฝายมีชีวิตแล้กว่า 174 แห่ง โดยอปท.ร่วม 72 แห่ง มีอยู่ระหว่างการดำเนินสร้าง 126 แห่ง และดำเนินการสร้างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วทั้งหมด 21 แห่ง