ดีเอสไอ ตรวจพื้นที่5จุดต้องสงสัยเหมืองทองคำพิจิตร

ดีเอสไอ ตรวจพื้นที่5จุดต้องสงสัยเหมืองทองคำพิจิตร

เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอ พร้อมส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่รวบรวมข้อมูล 5 จุดต้องสงสัย เพื่อคลี่คลายคดีกรณีเหมืองทองคำในพื้นที่พิจิตร พบสิ่งผิดปกติหลายแห่งรอสรุปผลความชัดเจนอีกครั้ง

ความคืบหน้ากรณีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นำโดยนายพิเชษฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางน้ำทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมคณะนำหมายค้นศาลอาญากรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เหมืองทองคำของ บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร เพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม จากกรณีมีการร้องทุกข์แจ้งความดำเนินคดี การประประกอบกิจการของเหมืองทองคำ

ล่าสุดคณะซึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมจังหวัด แขวงการทาง ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลพื้นที่ 5 แห่ง ซึ่งเป็นจุดต้องสงสัยว่ามีการกระทำความผิด ประกอบด้วย ถนนเส้นทางสาธารณะซึ่งมีระยะทาง 700 เมตร ที่อยู่ภายในเหมือง ซึ่งเป็นจุดที่สงสัยว่ามีการประกอบกิจการทับเส้นทางสาธารณะ, บริเวณกองกากแร่ที่ต้องสงสัยว่ามีการประกอบกิจการนอกเขตสัมปทานบัตร และสถานที่ซึ่งสงสัยว่าการครอบครองออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่า และการขยายการประกอบกิจการในพื้นที่ก่อนได้รับใบอนุญาต รวมถึงรุกล้ำ บริเวณถนนทางหลวงหมายเลข 1301 หนองขนาก-วังโป่ง ทางหลวงแผ่นดิน หลักกิโลเมตรที่ 0 ถึงหลักกิโลเมตรที่ 6 ซึ่งต้องสงสัยว่ามีการรุกล้ำทางหลวงแผ่นดิน โดยเจ้าหน้าที่ใช้เวลาตรวจสอบในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน

นายพิเชษฐ์ ทองศรีนุ่น ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางน้ำทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า สำหรับผลการลงพื้นที่เบื้องต้นพบมีสิ่งผิดปกติทางกายภาพหลายจุด เช่น ทางสาธารณะเดิมที่มีความยาว 700 เมตร หายไปไม่มีสภาพความเป็นเส้นทางสาธารณะ และมีการขุดเจาะบนเส้นทางสาธารณะเป็นลักษณะหลุมบ่อขนาดใหญ่ ความยาวประมาณ 120 เมตร,รั้วแนวเขตของเหมืองทองคำมีระยะห่างจากถนนทางหลวงไม่เพียงพอตามกฎหมายกำหนด ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อประกอบในการทำสำนวนคดี

โดยการลงพื้นที่ของดีเอสไอ มีกำหนดลงพื้นที่ระหว่างวันที่ 16-18 พฤษภาคม 60 เพื่อตรวจพื้นที่กำหนดลงพื้นที่ตามการร้องทุกข์ การประกอบกิจการเหมืองทองคำมิชอบด้วยกฎหมาย 5 กรณี ได้แก่ 1.กรณีประกอบกิจการเหมืองทองคำทับเส้นทางสาธารณะ 2. กรณีการยึดถือครอบครองและสร้างสิ่งรุกล้ำทางหลวงแผ่นดิน 3.กรณีบุกรุกครอบครองออกเอกสารสิทธิ์ทับพื้นที่ป่าไม้ 4.กรณีประกอบกิจการเหมืองทองคำนอกเขตสัมปทานบัตร และ 5.กรณีขยายโรงประกอบการโลหะก่อนได้รับอนุญาต

สำหรับการลงพื้นที่เหมืองทองคำของบริษัทอัคราฯ ของคณะจากดีเอสไอ เป็นการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลต่อเนื่อง เป็นครั้งที่ 2 หลังจากเกิดกรณีปัญหาจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำระหว่างผู้ประกอบการกับประชาชนซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ว่าได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ ซึ่งมีปัญหามาอย่างยาวนาน จนเป็นที่มาของการรับเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอ โดยเมื่อปีที่ผ่านมามีการลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน ทั้งบริเวณโดยรอบ และภายในเหมืองทองคำ ทั้งทางอากาศและทางบก ไปแล้ว 1 ครั้ง การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบในการในการทำสำนวนคดีเพื่อคลี่คลายคดีต่อไป