“สยามไบโอฯ” นิวเอสเคิร์ฟ คืนชีวิตยืนยาว

“สยามไบโอฯ” นิวเอสเคิร์ฟ คืนชีวิตยืนยาว

“สยามไบโอไซเอนซ์” บริษัทไทยบริษัทแรกที่รุกลงทุนผลิตยาชีวภาพ หนึ่งในอุตสาหกรรมอนาคต การเป็นเจ้าของเทคโนโลยียา ยังปลดแอกไทยจากการพึ่งพายานำเข้า ทำให้ราคายาต่ำลง คนมีรายได้น้อยมีสิทธิเท่าเทียมในการรักษาโรคร้ายแรง หายป่วยกลับสู่ตลาดแรงงานเคลื่อนเศรษฐกิจ

เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีล้ำหน้าที่ถูกนำมาคิดค้นพัฒนายาชีวภาพ (Bio Pharma) ทางเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยกว่ายาที่ผลิตจากสารเคมี

ทว่า ปัญหาของไทยก็ยังต้องพึ่งพาการนำเข้ายาที่มีราคาสูงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐ และยุโรป เฉลี่ยปีละ 1.6 หมื่นล้านบาทสำหรับผู้ป่วยโรคร้ายแรงที่มีทั้งสิ้น 5 ล้านราย ยาที่มีราคาแพงยังทำให้การเข้าถึงยาของผู้ป่วย มีจำกัดเพียง 2% หรือราว 1 แสนรายเท่านั้น 

กลายเป็นที่มาของการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการจัดตั้ง “บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เมื่อปี 2552 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด  กับ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อยอดการผลิตยาชีวภาพ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

ผ่านคำบอกเล่าของ อภิพร ภาษวัธน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ระบุว่า กลุ่มธุรกิจลงทุนไปกว่า 2,000 ล้านบาท แบบไม่มีกำไรใน 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อผลิตยาชีวภาพ อุตสาหกรรมใหม่ที่ซับซ้อน ต้องใช้ความอดทนในการพัฒนาและวิจัย กว่าจะต่อยอดการผลิตไปสู่ระดับตลาดได้ในปัจจุบัน

“โรงงานยาไบโอใช้เวลา 2 ปีตั้งโรงงาน อีก 2 ปีต่อมาขึ้นทะเบียน ก่อนใช้เวลาผลิตยาเก็บไว้ในสต็อก ยังไม่สามารถวางจำหน่ายได้ทันทีจนกว่าจะเจรจากับโรงพยาบาลสำเร็จ ซึ่งต้องเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกรรมการบริหารในโรงพยาบาล ที่สำคัญแม้โรงพยาบาลจะอนุมัติจัดซื้อแล้ว ยังต้องไปโน้มน้าวหมอให้สั่งจ่ายยาที่ผลิตจากบริษัทคนไทย อีกเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาสั่งสมความน่าเชื่อถือ" อดีตผู้บริหารสูงสุด เอสซีจี เคมีคอลส์ เล่า

ด้าน ดร.ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เสริมว่า ผลการลงทุนจนกระทั่งผลิตยาไบโอสู่ตลาดในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาว่า แม้จะไม่เกิดผลในเชิงรายได้แต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ตลาดยาในประเทศพอสมควร เพราะเพียงยาไบโอ 2 รายการ คือ ยาบำบัดภาวะเลือดจางในผู้ป่วยโรคไต และยาบำบัดภาวะเสี่ยงการติดเชื้อผู้ป่วยมะเร็ง ผลิตในไทยออกสู่ตลาด ส่งผลให้ราคายานำเข้ายอมลดราคาลงกว่าครึ่งในระยะเวลาต่อมา

ยาไบโอของไทยได้ทำลายสมดุลตลาด ทำให้คู่แข่งบริษัทยาต่างชาติยอมลดราคายาลงมาครึ่งหนึ่ง

เขายังเล่าว่า บริษัทยังตั้งเป้าผลักดันยาดังกล่าว ไปสู่ “โกลบอลแบรนด์” เติบโตช้าแต่มั่นคง ด้วยการลงทุนวิจัยทางวิชาการต่อยอดผลิตภัณฑ์ยาไปสู่ เวชภัณฑ์ รวมถึงเวชสำอางค์ ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจยั่งยืน ทั้งในตัวธุรกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ขับเคลื่อนประเทศ

เราวางทิศทางการเติบโตเป็นผู้ผลิตยาระดับโลก  จะแสวงหาความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งการวิจัยและพัฒนากับพันธมิตรต่างประเทศ โดยเข้าไปจดทะเบียนยาในประเทศของพันธมิตร เพื่อขยายตลาดส่งออกใน 3-5 ปีจากนี้"

ล่าสุด ลงทุนเพิ่ม 3,000 ล้านบาท ร่วมกันกับ บริษัท Center of Molecular Immunology จากคิวบาต้นแบบที่พัฒนายาไบโอใช้ภายในประเทศ ในชื่อบริษัทเอบินิส (Abinis) ฝ่ายไทยถือหุ้น 70/30% ก่อตั้งโรงงานวิจัยแห่งที่ 2 เพื่อร่วมกันพัฒนายาชีวภาพสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง และโรคแพ้ภูมิตัวเอง 6 รายการ โดยมีเป้าหมายใช้ในประเทศและส่งออก

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจได้ไปจดทะเบียนยาที่พัฒนาแล้ว 2 รายการในอาเซียน ยกเว้นสิงคโปร์และมาเลเซีย พร้อมส่งออก โดยจะกำลังทยอยจดทะเบียนยาเพิ่มเติมอีก 6 รายการ ที่จะไปจำหน่ายในคิวบา รวมถึงกลุ่มประเทศอื่นเป็นลำดับต่อไป" เขาเล่า และว่า

ในตลาดโลกกลุ่มอุตสาหกรรมยาไบโอเป็นที่มีมูลค่าสูงถึง 8 ล้านล้านบาทต่อปี มีการเติบโตสูงถึงปีละ 10% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา นับเป็นตลาดแห่งอนาคตที่เติบโตทั้งในเชิงมูลค่าที่มีกำไรจากการจำหน่ายจะอยู่ภายในประเทศ

นอกจากนี้ การต่อยอดรายได้ในกลุ่มเวชภัณฑ์และเวชสำอางค์ เนื่องจากพบว่า ตลาดเวชสำอางค์ เป็นตลาดใหญ่กว่าตลาดยา นั่นจึงเป็นเหตุผลของการพัฒนาเทคโนโลยีชะลอวัย ด้วยสารกระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวใหม่ (EGF-Epidermal Growth Factor) ภายใต้แบรนด์ Ardermis 

และเมื่อรัฐบาลเร่งผลักดัน "ไทยแลนด์ 4.0" เป็นกลไกสำคัญในการสร้างประเทศให้พัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร เป็น 1 ใน 10 เอสเคิร์ฟ (S-Curve) กับมาตรการเปิดให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สามารถใช้สินค้าที่มีนวัตกรรมในประเทศ ได้ในสัดส่วน 30% เป็นแผนหนึ่งที่เร่งให้ตลาดภายในประเทศเติบโตก่อนขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ

จากที่บริษัทที่เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป มาตรการของภาครัฐที่ส่งเสริมเรื่องนี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา (Catalyst) ทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมยาไปได้ไกลขึ้น มีผู้สนใจเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ดร.ทรงพล ยังระบุว่า กุญแจสำคัญในการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 อยู่ที่ "คน" จะเห็นได้จากคนในสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้จบหมอทุกคน แต่มาจากหลายสาขาอาชีพ บางคนมาจากสายงานปิโตรเคมี  วิททยาศาสตร์เคมี เภสัชศาสตร์ เป็นต้น 

แต่สิ่งที่ทุกคนมีคือ มีความรู้ความชำนาญทางด้านการบูรณาการหลายแขนงวิชา หรือ สหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary)

โดยบริษัทจะมีบทบาทสำคัญ ในการจับคู่ผลงานวิจัยจากหลายหลายด้านให้มารวมสู่การพัฒนายา 1 รายการ 

จุดแข็งของคนไทยโดดเด่นตรงที่ เปิดใจรับฟังชอบเรียนรู้สิ่งใหม่(Open mind) เมื่อเพิ่มความคิดด้านทัศนคติเชิงบวก ก็จะได้สร้างสรรค์งานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ

เขายังบอกด้วยว่า เมืองไทยมีผลงานวิจัยและพัฒนาดีๆจำนวนมาก แต่ต้องใส่คน และวิจัยเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าให้ได้

การเป็นผู้ลุยก่อนรายแรก (First Mover) เป็นประโยชน์ในการสร้างรากฐานให้กับอุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟในสาขาการแพทย์ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำที่ภาคการผลิตไปจนถึงปลายน้ำคือภาคบริการด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง

ที่สำคัญหากตลาดเกิดตื่นตัวมีผู้ลงทุนในประเทศมากขึ้น จนผลิตยาไบโอได้เพียงพอต่อความต้องการ ก็จะทำให้ไทยปลดล็อกการพึ่งพานำเข้ายาจากต่างประเทศ ที่ผูกขาดโดยเอกชนต่างชาติเพียงไม่กี่ราย ผู้ป่วยโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมถึงโรคไต ก็มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติ ทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี 

กลับคืนสู่ตลาดแรงงานเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ