กลยุทธ์จากเล็กสู่ใหญ่ ‘anitech’

กลยุทธ์จากเล็กสู่ใหญ่ ‘anitech’

“คิดแบบสตาร์ทอัพ, ทำแบบเอสเอ็มอี และ มีระบบแบบมหาชน”

 เป็นเสมือนพิมพ์เขียวที่ พิชเยนทร์ หงษ์ภักดี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัด ใช้ก้าวเดินมาโดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

บริษัท สมาร์ท ไอดี กรุ๊ป จำกัดจัดตั้งขึ้นเพื่อผลิตและจำหน่ายแบรนด์ อุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ หูฟัง และอุปกรณ์เกมส์ ภายใต้แบรนด์แอนิเทค (anitech) เจาะกลุ่มตลาดแมส จากนั้นก็ได้เพิ่มแบรนด์โนบิ (nobi) และเพนทากอนซ์ (pentagonz) เน้นเจาะตลาดไฮเอนด์

การพัฒนาธุรกิจดังกล่าวเริ่มจากการได้มองเห็นโอกาสของการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จำนวนมากที่จะเกิดขึ้น มีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อและควบคุมการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตกว่า 50,000 ชิ้น นั่นก็สะท้อนว่า สิ่งที่เดินมานั้นถูกทางแล้ว

แม้จะมองว่าเป็นโอกาส พิชเยนทร์ บอก แต่ทุกอย่างก็ต้องเจอกับความท้าทาย

จากที่พัฒนาสินค้าผ่านไลน์การผลิตของตัวเอง ต้องแบกรับต้นทุนและการบริหารจัดการ เมื่อวันหนึ่งพบว่าเทรนด์การผลิตสินค้าเกิดขึ้นที่ใดก็ได้ในโลกขอเพียงต้นทุนอยู่ในจุดที่เหมาะสม

“เมื่อเห็นเทรนด์แล้วว่า การผลิตจะล้นโลก 7 ปีที่แล้วก็ได้ทำการยกเลิกไลน์การผลิตไปแล้วหันมาโฟกัสเรื่องดีไซน์ และซัพพลายเชน

ซึ่งมองในวันนี้ ธุรกิจสมัยใหม่ เริ่มไม่มีโรงงานกันแล้ว”

การทำธุรกิจโดย “คิดแบบสตาร์ทอัพ” เน้นการทำงานที่โฟกัส และสร้างการเติบโตโดยจับดีมานด์ของตลาดแมสเอาไว้ให้อยู่หมัด จากนั้นก็สเกลธุรกิจได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมทัพ

    หนึ่งในก้าวของการเคลื่อนจากการผลิตและขายอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้งานมาสู่การดึงเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโปรดักท์

ล่าสุดส่ง Smart Plug Application Control อุปกรณ์ที่ควบคุมการทำงานของปลั๊กผ่านแอพพลิเคชั่นเป็นอีกโปรดักท์ที่ดึงเอา IoT หรือ Internet of Thinks เข้ามาใช้งาน

“แนวโน้มของการใช้งานเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ หรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวนั้นให้ทำงานผ่านการเชื่อมต่อทางอินเทอร์เน็ต และให้สามารถพูดคุยกันเองระหว่างอุปกรณ์ผ่าน Application ไม่ว่าจะอยู่ที่ที่ไหนก็ตาม

ยกตัวอย่าง ก่อนถึงบ้าน หรือแม้แต่ออกจากบ้านมาแล้ว อยากให้อุปกรณ์ตัวใดทำงานก็สั่งผ่านแอพบนมือถือ หรือจะเปิดปิดประตู เป็นต้น เรียกว่า ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยี”

นี่เป็นครั้งแรกที่พัฒนาสินค้าออกมา พิชเยนทร์ บอก เป้าหมายต้องการทดสอบตลาดและรอดูผลตอบรับ ก่อนที่จะก้าวสู่สเต็ปต่อๆไป

“เทคโนโลยีเรามีพร้อมอยู่แล้ว ในส่วนของฮาร์ดแวร์ก็พร้อม รอเพียงความพร้อมของตลาดที่จะรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปใช้ เมื่อถึงจุดนั้นก็เตรียมส่งสินค้าตัวใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดได้เลย อย่างเช่น Small appliance จะเป็นอีกกลุ่มโปรดักท์ที่เตรียมจะเปิดตัว นอกจากอุปกรณ์ต่อพ่วงที่มีอยู่เดิม”

นอกจากนี้ อีกแนวทางที่เตรียมผลักดันให้เกิดขึ้นนั่นคือ การรุกทำตลาดในประเทศกลุ่มอาเซียนและในเอเชีย

พิชเยนทร์ มองว่า กลุ่มสินค้าอุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ มือถือ และกลุ่มสินค้าปลั๊กไฟถือเป็นกลุ่มสินค้าคอนซูเมอร์ไลฟ์สไตล์ (Consumer Lifestyle) ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน อีกทั้งสินค้าเหล่านี้ยังไม่มีผู้นำตลาดที่แท้จริง ก็เป็นอีกโอกาสที่แบรนด์ในกลุ่มจะเข้าไปขยายตลาดให้ครอบคลุมทั้ง 10 ประเทศในกลุ่ม AEC ในปี 2561 และขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ทั่วเอเชียต่อไป

“คิดแบบเอสเอ็มอี เป็นเรื่องของการเติบโตแบบ Organic Growth จากตลาดที่ขยายใหญ่และยอดขาย ในสัดส่วน 20-30% มาโดยตลอด บริหารจัดการความเสี่ยงให้ได้ สุดท้ายมองเรื่องความยั่งยืนของธุรกิจ

ขณะที่คิดอย่างเป็นระบบแบบมหาชนก็เป็นอีกแนวทางที่สำคัญ”

ที่ผ่านมา ได้พัฒนาระบบการจัดการภายในขององค์กร และระบบ Supply Chain ใหม่เพื่อการพัฒนาธุรกิจจากกลางถึงเล็กสู่ธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น

รวมถึงเพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI ในปี 2561

โดยมองเป้าหมายที่ การเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต