ประหยัด นันทศีล ภารกิจเซาะหินสุดขั้วโลก

ประหยัด นันทศีล ภารกิจเซาะหินสุดขั้วโลก

“ประหยัด นันทศีล” หนึ่งเดียวของไทยที่รู้ลึกรู้จริงในเรื่องหินแปร ที่นำพาชีวิตของเขาไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไกลถึงขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะนักวิจัยของญี่ปุ่น เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจแล้วกลับมาพร้อมตัวอย่างหินกว่า 200 ชิ้นที่จะไขความลับแหล่งพลอยโลก

เพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการสำรวจขั้วโลกใต้ร่วมกับคณะนักวิจัยของประเทศญี่ปุ่น “ประหยัด นันทศีล” ปริญญาเอกธรณีวิทยาที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหินแปรซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 650 ล้านปีในยุคพรีแคมเบรียน ทั้งเป็นบุคลากรคนแรกของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปฏิบัติการสุดขั้วโลกนี้
         “เป็นครั้งแรกของผมที่ได้ไปขั้วโลก แต่เป็นหน้าร้อนของขั้วโลกใต้ อุณหภูมิติดลบประมาณ 5 องศาเซลเซียส จึงหนาวไม่มาก อีกทั้งพื้นที่ส่วนที่คณะวิจัยไปทำงานนั้นอยู่ริมทะเลตามแนวขอบทวีปแอนตาร์กติก ซึ่งมีร่องน้ำอุ่นพาดผ่านจึงทำให้อากาศไม่หนาวมาก “แต่หากต้องการสัมผัสความหนาวดีกรีขั้วโลกของจริง ก็ต้องเข้าไปลึกเข้าไปในแผ่นดินมากๆ” นักธรณีวิทยาไทยตอบคำถามที่ถูกถามมากที่สุด

++ ปฐมบทการเดินทาง
              ประหยัด อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ได้ทำงานร่วมกับ ศ.ดร.โยอิชิ โมโตโยชิ นักวิจัยแถวหน้าของญี่ปุ่นและยังมีบทบาทสำคัญในโครงการสำรวจขั้วโลก ซึ่งกำลังมองหานักธรณีวิทยาเข้าร่วมทีม จึงได้ทาบทามเขาพร้อมด้วยนักธรณีวิทยาจากมองโกเลียและอินโดนีเซีย โดยมีเป้าหมายคือการสำรวจหินแปรขั้นสูงที่ปรากฏให้เห็นในหลายๆ พื้นที่ของขั้วโลกใต้
                “ทันทีที่ถูกถามว่าสนใจร่วมทีมไหม ผมก็แชทถามภรรยาซึ่งก็สนับสนุนเต็มที่ ตอนนั้นซีรี่ส์ญี่ปุ่นเกี่ยวกับการสำรวจขั้วโลกกำลังออนแอร์ ภรรยาเคยถามว่าจะได้ไปแบบนี้ไหม ผมตอบทันทีว่าฝันยังไม่กล้าฝัน พอได้รับการชักชวน ผมจึงไม่ลังเลเพราะเป็นโอกาสที่พิเศษมากและคงเกิดขึ้นครั้งเดียวในชีวิต ก็เลยให้คำตอบแก่หัวหน้าทีมในวันถัดมาทั้งๆ ที่เขาให้เวลาตัดสินใจ 7 วัน และทั้งๆ ที่ ลูกสาวของผมอายุเพียง 10 เดือน”
               โดยทั่วไปแล้ว ขั้นตอนการร่วมทีมสำรวจฯ เป็นการพิจารณาคัดเลือกของคณะกรรมการฝ่ายไทย นำโดย ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ แล้วเสนอให้สถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งประเทศญี่ปุ่นพิจารณาอีกครั้ง
              “กรณีของผมไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน แต่ ณ ขณะนั้น ทางคณะสำรวจฯ แสดงความเจาะจงอยากได้ผู้เชี่ยวชาญด้านหินแปร ในไทยก็มีผมเพียงคนเดียวที่ยังทำงานวิจัยด้านนี้อยู่”
                     หลังจากตัดสินใจแล้วก็เข้าสู่ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนเดินทาง นอกจากเรื่องเอกสารแล้วและการเคลียร์งานต่างๆ แล้ว ก็มีเรื่องการตรวจสุขภาพตามรายการที่กำหนดไว้
               “ตรวจสุขภาพละเอียดยิบเหมือนจะไปดาวอังคาร มีอยู่รายการหนึ่งที่ในไทยสามารถตรวจได้แค่ที่เดียว มีผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว เป็นการตรวจดูความพร้อมของอวัยวะภายในว่าแข็งแรงพอไหมที่จะไปอยู่ในสภาพอากาศติดลบเป็นเวลานานๆ นอกจากนี้ ก่อนเดินทางต้องเตรียมร่างกายให้แข็งแรง แต่ผมก็งานยุ่งมาก ไม่มีเวลาออกกำลังกาย แต่ก็ยังโชคดีตรงที่ระหว่างเดินทางในเรือประมาณ 3 สัปดาห์ ผมก็มีเวลาฟิตร่างกายโดยเน้นวิ่งทุกวันบนเรือ ก็ถือว่าพอช่วยสร้างความฟิตก่อนออกปฏิบัติงานภาคสนามได้”
                     ชีวิตขั้วโลกไม่ยากลำบากอย่างที่คิด ทั้งอากาศก็หนาวสบายๆ อาหารการกินอยู่และความสัมพันกับทีมงาน ทุกอย่างราบรื่นยกเว้นเรื่องเดียวคือ อาการคิดถึงบ้านโดยเฉพาะลูกสาว เขาบอกว่า “นี่คือความลำบากเดียวที่เกิดขึ้น”


++ ‘หินแปร’บันทึกประวัติโลก
                  ย้อนความรู้ว่าด้วยเรื่องหินแปร คือหินที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางกายภาพ ( อุณหภูมิ ความดัน) และทางเคมี กล่าวคือ เมื่อหินดั้งเดิม เช่น หินอัคนี หินตะกอน หรือแม้แต่หินแปรเอง สัมผัสกับลาวา ก็เกิดการแปรสภาพอย่างช้าๆ กลายเป็นหินแปร ถ้ายังนึกไม่ออกก็ยกตัวอย่าง หินอ่อนเป็นหินแปรที่แปรมาจากหินปูน ควอตซ์ไซต์ก็เป็นหินแปรที่แปรสภาพมาจากหินทราย เป็นต้น
                  “ผู้ที่ศึกษาเรื่องหินแปรในเชิงลึกมีน้อยมาก ในไทยก็มีผมเท่านั้น อินโดนีเซียก็มีอยู่คนเดียว แต่ญี่ปุ่นและอเมริกามีมาก นักธรณีวิทยาอาจมองว่า หินแปรเป็นเรื่องยาก น่าเบื่อ ทั้งๆ ที่ข้อมูลความรู้ด้านหินแปรมีความสำคัญ เพราะเป็นหินที่บันทึกประวัติของโลกไว้เยอะมาก แหล่งทรัพยากร เช่น เพชร พลอย แร่เหล็กใหญ่ๆ ก็เกิดอยู่กับหินแปร เราอาจจะคุ้นเคยเรื่องแหล่งน้ำมันซึ่งอยู่ในชั้นหินตะกอน จึงสนใจเรียนเรื่องหินตะกอนกันมาก”
               ประหยัด บอกว่า เสน่ห์ของหินแปรคือ ความลึกลับน่าค้นหาจากการบันทึกเรื่องราวในอดีตไว้ นักวิจัยต้องพยายามอ่าน ค้นหาและตีความ “ผมเหมือนนักโบราณคดีเพียงแต่ทำโบราณคดีของโลกที่ย้อนไปหลายๆ ร้อยปีในยุคก่อนที่จะมีสิ่งมีชีวิต ขณะที่นักโบราณคดีทำแค่ประวัติของมนุษย์”
                เป้าหมายการเดินทางครั้งนี้ของคณะสำรวจขั้วโลกคือ การสำรวจหินแปรขั้นสูง ประหยัดได้เก็บตัวอย่างหินจำนวนทั้งสิ้น 216 ตัวอย่าง ซึ่งมีน้ำหนักรวมกัน 281 กิโลกรัมกลับมาวิเคราะห์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และเครือข่ายวิจัยในประเทศญี่ปุ่นและยุโรปต่อไป
ส่วนการวิจัยครั้งนี้มุ่งการทำความเข้าใจเหตุการณ์ทางธรณีวิทยาที่เคยเกิดมาแล้วในอดีตหลายร้อยล้านปีถึงหลายพันล้านปี ว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นกี่ครั้งและแต่ละครั้งรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากบูรณาการร่วมกับข้อมูลของสภาพธรณีวิทยาในปัจจุบันแล้วจะทำให้เข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาของโลกนี้ซึ่งเป็นบ้านของพวกเราทุกคนได้

                    สำหรับตัวอย่างหินที่มีความน่าสนใจทางเศรษฐกิจคือ ตัวอย่างหินแปรที่เป็นแหล่งกำเนิดของพลอยไพลินและทับทิม จากการสำรวจครั้งนี้พบว่า พลอยเกิดในหินแปรหลากหลายชนิด สันนิษฐานว่าพลอยในหินแปรแต่ละชนิดน่าจะมีรูปแบบและวิวัฒนาการของการเกิดที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อให้เข้าใจอย่างแท้จริง ผลจากการศึกษาวิจัยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทางเศรษฐกิจเช่น ช่วยทำให้เข้าใจการเกิดและประเมินศักยภาพของแหล่งพลอยในทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักที่ป้อนให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีของประเทศไทย เนื่องจากทวีปแอฟริกาและแอนตาร์กติกาเคยอยู่ร่วมกันเป็นทวีปเดียวกันมาก่อน

++ ซึมซับจิตวิญญาณบูชิโด
           นอกจากตัวอย่างหินกว่า 200 ก้อนที่ยังอยู่ระหว่างการจัดส่งมาเมืองไทย ภารกิจครั้งนี้ยังทำให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีคิดและการทำงานของคนญี่ปุ่นที่มีระเบียบแบบแผนชัดเจน ทุกขั้นตอนต้องเป๊ะๆ
               “สิ่งที่ประทับใจมากคือจิตวิญญาณแห่งบูชิโด-วันฟอร์ออล อะไรที่ฉันทำได้ฉันจะทำเพื่อทุกคน อะไรที่สละได้ก็จะสละเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม งานในแคมป์มีมาก เขาก็อาสาช่วยทำ อาหารที่เตรียมมีหลากหลาย เขาก็ใจกว้างให้คนอื่นเลือกก่อน ผมเชื่อว่าจิตวิญญาณนี้แหละที่ขับเคลื่อนให้ญี่ปุ่นเจริญก้าวหน้าแม้จะสะบักสะบอมจากสงคราม เหมือนอย่างที่เขาเข้าแถวรับแจกอาหาร ไม่เบียดแย่งชิงกัน เด็กและผู้สูงอายุให้ได้รับก่อน”
              นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิตและการปรับตัวเข้ากับทีมงานที่ไม่รู้จัก การยอมรับซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เป้าหมายของทีมเวิร์คสำเร็จ ต้องโอเพ่นมายด์เรียนรู้คนอื่น ขณะเดียวกันก็ต้องมีส่วนร่วมนำเสนอความเห็นด้วย ไม่ใช่รอรับข้อมูลฝ่ายเดียว
              “สิ่งอื่นที่ตามมาคือ ในประเทศเองวงการธรณีวิทยาเหมือนกับเสียงของผมดังขึ้น มีคนฟังมากขึ้น ส่วนหินตัวอย่างที่เก็บมาก็เชื่อว่าจะทำให้มีความก้าวหน้าทางวิชาการได้เร็วกว่าที่ไม่ได้ไป ความน่าสนใจของหินตัวอย่างมีมาก ในวงการวิชาการก็มีโอกาสที่จะถูกอ้างอิงตีพิมพ์ จะช่วยส่งเสริมในชีวิตการทำงานด้วย”
           ความจริงที่เกิดกับชีวิตของเขาคือ เป็นที่รู้จักมากขึ้น ถูกจับตามองและถูกติดตามมากขึ้น น่าจะมีเด็กหลายคนได้รับแรงบันดาลใจหรือแรงกระตุ้นในสิ่งที่เขานำเสนออกไป

 ‘ณ ตอนนี้ คิดว่าพอแล้ว’
            ภารกิจสำรวจธรณีขั้วโลกครั้งนี้ก็เป็นไปตามเป้าหมายมาก จากคำบอกเล่าของหัวหน้าทีมญี่ปุ่นว่า ประสบความสำเร็จถึงร้อยละ 120 เมื่อเทียบกับปีอื่นๆ จากไซต์งานเป้าหมายกำหนดไว้ 10 จุด แต่สามารถทำได้ 5-6 จุดเท่านั้น ขณะที่ปีนี้พลาดแค่จุดเดียวเท่านั้น แถมด้วยบางจุดที่ไม่ได้คิดว่าจะไปก็ได้ไป ส่วนเหตุการณ์ระทึกตื่นเต้นก็มีเช่นกัน
              “ทีมงานกำลังขนอุปกรณ์เครื่องมือลงเฮลิคอปเตอร์ มีเมฆมาก็คิดว่าไม่มีอะไรมาก แต่ก้อนเมฆต่ำลงเรื่อยๆ หัวหน้าทีมเห็นท่าไม่ดีก็เลยสั่งให้ยกเลิกการสำรวจ แล้วรีบเก็บสัมภาระกลับขึ้นเครื่อง ทั้งๆ ที่ขนลงยังไม่เสร็จ รีบบินกลับเรือ เป็นไซต์งานเดียวที่ต้องยกเลิก ถ้าเรายังอยู่ก็จะมีสภาพเหมือนติดเกาะหลายวัน เพราะเครื่องบินก็มาช่วยไม่ได้ เราก็ต้องอยู่ด้วยตัวเองให้ได้”
              “ส่วนตัวผมคิดว่าคงไม่ได้กลับไป แต่ก็ไม่ถึงกับปิดตายประตู โอกาสก็ขึ้นอยู่กับว่า ทางคณะสำรวจต้องการเสริมผู้เชี่ยวชาญด้านหินแปรอีกหรือไม่ แต่ ณ ตอนนี้ คิดว่าพอแล้ว ไม่อยากไป แต่ไม่แน่อีก 5 ปีอาจเปลี่ยนความคิดได้” คำตอบจากประหยัดเมื่อถามถึงโอกาสที่จะได้กลับไปทำวิจัยขั้วโลกใต้อีกครั้ง
                  แต่ละคนมีเหตุการณ์สำคัญหรือจุดพลิกผันของชีวิตหลายครั้ง การได้ร่วมทีมสำรวจขั้วโลกใต้ที่มีนักวิจัยนานาชาติก็เป็นอีกหนึ่งไมล์สโตนของ “ประหยัด นันทศีล” ส่วนครั้งถัดไปจะเป็นอย่างไร คงไม่มีใครตอบได้