เจาะการออกแบบ Open House กับ แอสทริด ไคลน์

เจาะการออกแบบ Open House กับ แอสทริด ไคลน์

"จุดท้าทายคือ คุณจะเก็บความได้เปรียบของพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้อย่างไร ในขณะที่ยังคงจัดให้มีพื้นที่เล็กๆ ที่ผู้คนจะรู้สึกสบาย อบอุ่น และไม่ถูกเปิดเผยจนเกินไป" -แอสทริด ไคลน์

เบื้องหลังงานออกแบบ มักมีโจทย์ที่ตั้งไว้เสมอ.. การเดินเข้าไปใน Open House  พื้นที่ โค-ลิฟวิ่ง สเปซ (Co-living space) แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ชั้น 6 ของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ เหมือนเดินเข้าไปในอาณาจักรไลฟ์สไตล์...เกินกว่าพื้นที่นั่งทำงาน

นักโฆษณาและดีไซเนอร์ ลีโอ เบอร์เนทท์ (Leo Burnett) เคยกล่าวไว้ว่า “ความอยากรู้อยากเห็น...ในทุกๆ อย่าง คือความลับของผู้มีความคิดสร้างสรรค์”

จากแนวคิดดังกล่าวนี้เองที่ บรม พิจารณ์จิตร กรรมการผู้จัดการ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี นำมาเป็นคอนเซปต์หลักในการสร้างสรรค์ Open House โดยต้องการให้เป็น ‘พื้นที่แห่งความสุข’ ซึ่งทุกคนสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำงานต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดความคิดใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์กับเพื่อนๆ ใช้เวลากับครอบครัว ทำงานและพักผ่อนด้วยกันได้อย่างลงตัว

Open House ที่สร้างขึ้นจาก ‘ความอยากรู้อยากเห็น’ แห่งนี้ ออกแบบโดย แอสทริด ไคลน์ (Astrid Klein) สถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออกแบบ Klein Dytham architecture (KDa) ตั้งแต่ปีพ.ศ.2534 สำนักงานอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

KDa มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในมากมาย เช่น ออกแบบอาคารสถานีรถไฟ Atami JR Station, ตกแต่งภายในสำนักงาน Google แห่งใหม่ในกรุงโตเกียว, ออกแบบ Green Green Screen ผนังต้นไม้ความยาว 274 เมตรริมถนนโอโมเตะซันโด (ถนนแฟชั่นย่านฮาราจูกุ) เพื่อใช้บังพื้นที่ก่อสร้างอาคารมิกซ์ยูสที่ออกแบบโดยทะดะโอะ ซันโด ตลอดระยะเวลาสามปีของการก่อสร้าง, ตกแต่งผนังหน้าอาคารของร้านยูนิโคล่ย่านกินซ่า, ออกแบบเลาจน์ให้กับสายการบินเวอร์จิ้นในสนามบินนาริตะ ฯลฯ 

Open House ไม่ใช่โครงการแรกของ ‘แอสทริด’ ในเมืองไทย เธอเคยออกแบบ Think Space ที่เซ็นทรัล อีสวิลล์ ซึ่งเธอบอกว่ามีความแตกต่างกันมาก

“โครงการนี้อยู่ใจกลางเมือง และอยู่ภายในเอ็มบาสซี่ คอมเพล็กซ์ กลุ่มเป้าหมายมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ พาร์ค ไฮแอท (โรงแรม Park Hyatt Bangkok) เปิดบริการ มันคือพื้นที่สำหรับการออกมาสังสรรค์ (hang out) อากาศกรุงเทพฯ ร้อนมาก คุณไม่สามารถออกไปอยู่นอกอาคาร แต่คุณสามารถนั่งอยู่ที่นี่ ซึ่งอากาศเย็นสบายและสนุกไปกับพื้นที่สีเขียวภายใน” 

ความท้าทายในการออกแบบพื้นที่แห่งนี้คือ ‘เนื้อที่’ ที่มีขนาดมหึมาถึง 7,000 ตารางเมตร หรือเท่ากับจำนวน ‘ห้องชุด’ ขนาดพิมพ์นิยม 28 ตารางเมตรตามโครงการรถไฟฟ้า จำนวน 250 ห้อง

“พื้นที่ที่นี่ใหญ่มาก โดยปกติพื้นที่ใหญ่ ผู้คนจะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นมดตัวเล็กๆ หรือไม่ก็รู้สึกหลงทาง และรู้สึกไม่ใช่สถานที่สำหรับเขา แต่การใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็ให้ความรู้สึกหรูหราได้ คุณมีที่ว่างให้หายใจ มีสวนสีเขียวในร่ม จุดท้าทายคือ คุณจะเก็บความได้เปรียบของพื้นที่ขนาดใหญ่ไว้อย่างไร ในขณะที่ยังคงจัดให้มีพื้นที่เล็กๆ ที่ผู้คนจะรู้สึกสบาย อบอุ่น และไม่ถูกเปิดเผยจนเกินไป สองอย่างนี้ต้องสมดุลกัน คือการแบ่งพื้นที่ แต่ไม่ใช่ปิดกั้นซึ่งกันและกัน” แอสทริด กล่าว

Open House แบ่งพื้นที่เป็น 8 โซนหลัก ประกอบด้วย Eating Deck ร้านอาหารกึ่งบริการตนเอง, Eat by the Park ร้านอาหารบริการเต็มรูปแบบ, Open House Bookshop by Hardcover ร้านหนังสือ, Co-Thinking Space พื้นที่ทำงานส่วนบุคคล โต๊ะและห้องประชุม, Art Tower พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ, Design Shop ร้านจำหน่ายสินค้าดีไซน์และงานหัตถกรรม, Open Playground สนามเด็กเล่น สำหรับเด็กสูง 50-120 เซนติเมตร และ Diplomat Screens Embassy by AIS โรงภาพยนตร์ระดับวีไอพี

สถาปนิกแบ่งพื้นที่ 8 โซนออกเป็นมุมต่างๆ แล้วแยก ‘ร้านอาหารกึ่งบริการตนเอง’ ที่มีให้เลือกมากถึง 8 ร้าน ออกจากกันด้วย ไม้ซี่ที่นำมาเรียงกันเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ โดยติดตั้งลอยอยู่เหนือร้านต่างๆ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นเครื่องหมายบอกที่ตั้งร้านไปในตัว แบ่งแยกแต่ไม่ปิดกั้น เพราะความโปร่งของซี่ไม้ที่เรียงกัน พร้อมกับเชื่อมโซนต่างๆ ให้กลายเป็น Open House หนึ่งเดียวด้วย ลวดลายใบไม้ ที่ใช้ตกแต่งฝ้าเพดาน ทุกใบวาดด้วยมือ ไม่ใช่ลายพิมพ์

“ดีไซน์หลักๆ คือการออกแบบให้มีสวนในร่มสำหรับทุกคน เด็ก พ่อแม่ ตายาย เมื่อคุณเห็นพรมสีเขียว จะนึกถึงสนามหญ้า มองขึ้นไปบนเพดานมันดูเหมือนเรือนกระจกปลูกต้นไม้(greenhouse) เพื่อปลูกความคิด, การทำให้บรรยากาศสดชื่น ไม่ใช่เพราะความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ แต่สดชื่นจากการรับรู้ด้วยจิตใจ คุณจะสดชื่นและผ่อนคลาย” แอสทริด กล่าวและว่า การเลือกใช้วัสดุส่วนใหญ่เป็น ไม้ เพราะเข้ากับเมืองร้อนได้ดี ดูเข้าถึงง่ายและเป็นมิตร ผู้คนจะรู้สึกผ่อนคลาย

การนำพื้นที่ขนาด 7,000 ตารางเมตรใจกลางกรุงเทพฯ มาทำเป็นร้านอาหารไม่กี่สิบร้าน ร้านหนังสือ พื้นที่เวิร์คชอป พื้นที่นั่งอ่านหนังสือ จะคุ้มค่าหรือไม่

"แน่นอน จุดประสงค์หลักของศูนย์การค้าคือการจับจ่ายซื้อของ แต่ฉันคิดว่าลูกค้าเป็นผู้มีการศึกษา ฉลาด รู้จักการวางตัวและเข้าสังคม พวกเขาไม่ต้องการถูกเตือนตลอดเวลาว่าต้องซื้อของ  ถ้าพวกเขาถูกบอกตลอดเวลาว่าจำเป็นต้องซื้อ เขาไม่ซื้อหรอก ปกติถ้าคุณมีความสุข ไม่กังวล คุณก็พร้อมจะใช้จ่าย เพราะต้องการความทรงจำที่ดีในช่วงเวลานั้น...

ที่นี่ให้พื้นที่ที่คุณสามารถพักผ่อนและแฮงค์เอาท์โดยปราศจากความรู้สึกถูกกดดันให้ต้องซื้อของตลอดเวลา แต่มีเรื่องให้ทำได้ตลอดทั้งวัน เช่น มากินอาหารเช้า เสร็จแล้วทำงานนิดหน่อย อาจมีประชุม ต่อด้วยกินกลางวัน จากนั้นเดินเลือกหนังสือที่ชอบมาอ่าน เราจัดให้เด็กมีที่เล่นสนุก  มีมุมหนังสือเด็กที่ทำให้พ่อแม่มีความสุข ถ้าเด็กๆ ชอบ พ่อแม่ก็จะกลับมาอยู่เรื่อยๆ นั่นคืออีกหนึ่งแนวคิด" แอสทริด กล่าว

หนังสือภายใน Open House ดำเนินการคัดสรรโดย เชน สุวิกะปกรณ์กุล ดูแลรวมไปถึง Art Tower และ Design Shop รวมพื้นที่กว่า 800 ตารางเมตรสำหรับจัดแสดงหนังสือ

"ในส่วนของหนังสือประกอบด้วยหนังสือเด็ก วรรณกรรมไทย ศิลปวัฒนธรรมไทย หนังสือจากสำนักพิมพ์กำมะหยี่ สันกฤต เอิร์นเนส ริเวอร์บุ๊คส์ ซิลค์เวอร์ม ทาสเชน(Taschen) เทมส์แอนด์ฮัดสัน (Thames & Hudson) ลอเรนซ์ คิง(Laurence King) ไททัน(Tytan) หนังสือศิลปะตะวันตก(westerm arts)พวกสถาปัตย์ การออกแบบ ภาพถ่าย หนังสือเก่าจากจีน หิมาลายา อินเดีย หนังสือเอาท์ออฟพรินต์ แต่ยังเป็นหนังสืออ้างอิงได้อยู่.... 

อีกเซ็คชั่นหนึ่งที่พิิเศษคือหนังสือญี่ปุ่น แคตตาล็อคพิพิธภัณฑ์นิทรรศการญี่ปุ่นและการถ่ายภาพ ช่างภาพญี่ปุ่นดังๆ หลายคน เช่น ไดโดะ โมริยาม่า(Daido Moriyama) มีสไตล์หลากหลาย เขาวัฒนธรรมกระดาษอยู่แล้ว แม้มีดิจิทัลขนาดไหน แต่เขาไม่ทิ้งกระดาษ ก็ยังอ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ งานถ่ายภาพ งานพิมพ์ จึงก้าวหน้ามาก ทำหนังสือสวย คนจะชอบหากัน ไม่มีที่ไหนที่มีเยอะเท่านี้ ญี่ปุ่นเองก็หาไม่ได้ เพราะเรารู้ว่าต้องไปติดต่อใคร เราไปแฟรงค์เฟิร์ตบุ๊คแฟร์ 20 ปีแล้ว พอเราเอ่ยปากว่าจะทำอะไร เขาก็เชื่อมือ ผมสต็อคหนังสือเป็นสิบล้าน(บาท)" คุณเชนกล่าวถึงการทำงานร่วมกับ Open House

หนังสือที่จัดแสดงเปิดจำหน่ายทุกเล่ม และหยิบไปเปิดอ่านได้ในส่วนที่เป็นพื้นที่สำหรับนั่งอ่านหนังสือ คือส่วนที่เป็นโซฟาสีเขียว ซึ่งอยู่ในระยะที่ไม่ไกลจากชั้นหนังสือตามที่คุณเชนแจ้งสถาปนิกไว้ ขอไว้อย่างเดียว อย่านำหนังสือเข้าไปในพื้นที่รับประทานอาหาร หรือกินไปด้วยอ่านหนังสือไปด้วย เพราะมีโอกาสที่หนังสือจะเลอะเทอะเปรอะเปื้อน 

หากอ่านหนังสือเสร็จแล้วจำไม่ได้ว่าหยิบมาจากตรงไหน ก็มีจุดคืนหนังสือ เจ้าหน้าที่จะนำไปเก็บยังชั้นวางภายหลัง

-------------------------

Open House บนชั้น 6 เซ็นทรัล เอ็มบาสซี่ กรุงเทพฯ เปิดบริการทุกวัน 10.00-22.00 น. เฉพาะศุกร์-เสาร์ เปิดบริการถึงเที่ยงคืน โทร.0 2119 7777 หรือ www.CentralEmbassy.com

-------------------------

ภาพ : เอกรัตน์ ศักดิ์เพชร