'ชูเกียรติ'มั่นใจปีนี้ไทยจะส่งข้าวออกเกิน 10 ล้านตัน

'ชูเกียรติ'มั่นใจปีนี้ไทยจะส่งข้าวออกเกิน 10 ล้านตัน

"ชูเกียรติ" มั่นใจปีนี้ไทยส่งออกข้าวมากกว่า 10 ล้านตัน มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท เผย 4 เดือนแรกส่งออกแล้ว 3.5 ล้านตัน ชี้ "จีน-ฟิลิปปินส์-แอฟริกา" เป็นคู่ค้าสำคัญ

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การค้าข้าวของโลกปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยปริมาณข้าวประมาณ 41.5 ล้านตัน เทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 40 ล้านตัน ขณะที่ผลผลิตข้าวไทยในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 18.5 ล้านตัน มากกว่าปีที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 16.5 ล้านตัน สำหรับราคาข้าวในตลาดโลก ราคาข้าวหอมมะลิ คาดว่าจะอยู่ที่ตันละ 750 – 780 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,250 – 27,300 บาท/ตัน ) ข้าวขาว 5 % คาดว่าจะอยู่ที่ตันละ 390 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,650 บาท/ตัน ) และข้าวนึ่ง 5 % คาดว่าจะอยู่ที่ตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,350 บาทต่อตัน) ส่วนราคาข้าวเปลือกปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่เกวียนละ 8,500 -9,000 บาท สูงกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 6,000 – 6,500 บาท จากสถานการณ์ราคาข้าวตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้จากการขายข้าวที่ดีมากขึ้นตามไปด้วย

ด้าน การส่งออกข้าวไทยในปีนี้มีทิศทางที่ดี คาดจะส่งออกได้มากกว่า 10 ล้านตันอยู่ที่ประมาณ 10.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 160,000 ล้านบาท มากกว่าปี 2559 ที่ส่งออกได้ 9.87 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 154,000 ล้านบาท เนื่องจาก ราคาข้าวไทยใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่ง รวมทั้งตลาดที่สำคัญในภูมิภาคแอฟริกา และเอเชียยังคงมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อการบริโภค ประกอบกับกำลังซื้อของ ประเทศผู้ซื้อเริ่มดีขึ้น ซึ่งถือเป็นสัดส่วนการส่งออกข้าวที่ใกล้เคียงกับประเทศอินเดีย ส่วนจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกหรือไม่นั้น ต้องประเมินในช่วงครึ่งปีหลังอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 ส่งออกข้าวไปแล้ว 3.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 40,000 ล้านบาท โดยมีคู่ค้าที่สำคัญ คือ จีน ฟิลิปปินส์ แอฟริกา

ด้านปัจจัยบวกสนับสนุนการส่งออกข้าวของไทย คือ การที่รัฐบาลระบายข้าวจากสตอกรัฐ ทำให้มีอุปทานข้าวที่จะส่งมอบให้ประเทศที่นิยมบริโภคข้าวเก่า ขณะที่ราคาส่งออกข้าวของไทยอยู่ในระดับใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญช่วยให้การแข่งขันดีขึ้น ด้านราคาน้ำมันมีทิศทางขยับสูงขึ้น ส่งผลต่อกำลังซื้อของกลุ่มประเทศที่พึ่งพาการส่งออกน้ำมันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ ปัจจัยลบ คือ ประเทศคู่แข่ง ทั้ง อินเดีย เวียดนาม และเมียนมาร์ มีการพัฒนาสินค้าและเร่งการส่งออกมากขึ้น ด้านประเทศผู้นำเข้าข้าวมีมาตรการกีดกันทางการค้าหลากหลายรูปแบบ เช่น มาตรการด้านสุขอนามัย มาตรการด้านภาษีและการกำหนดโควต้านำเข้าที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยและยังมีความผันผวนของค่าเงินบาทและตลาดการเงินจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกของไทย รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางและปัญหาในภาคการเงินของประเทศจีนและประเทศ ในสหภาพยุโรป ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยควรพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น และหาแนวทางลดต้นทุนการผลิต โดยภาครัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลืออย่างจริงจัง ไม่ใช่การช่วยเรื่องราคาข้าวเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องหาวิธีช่วยลดต้นทุนในการผลิตอย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันให้กับข้าวไทยในตลาดโลก และควรหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น ตลาดตะวันออกกลาง อาทิ อิรักและอิหร่าน เนื่องจากมียอดคำสั่งซื้อข้าวในแต่ละปีมากกว่า 1 ล้านตัน