ถกเครียดแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะ 29 อปท.

ถกเครียดแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะ 29 อปท.

จังหวัดถกเครียดแก้ปัญหาที่ทิ้งขยะไม่ลงตัว อปท. 29 ยังไม่สามารถหาที่ทิ้งได้หลังขยะล้นศูนย์กำจัดขยะชีวภาพ จนกระทบชาวบ้าน

ที่ห้องประชุมสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 12 พฤษภาคม นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมนายสุเมธ อำภรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) นครราชสีมา นายวีรศักดิ์ ศรีโสภา ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) นครราชสีมา ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 29 แห่ง ที่นำขยะไปกำจัดที่ศูนย์ขยะมูลฝอยที่ 3 เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา และผู้แทนเทศบาลเมือง (ทม.) ปักธงชัย อ.ปักธงชัย ทม.สีคิ้ว อ.สีคิ้ว ทต.ด่านขุนทด อ.ด่านขุนทด และ ทต.แชะ อ.ครบุรี

ซึ่งเป็น อปท. ที่มีระบบจัดการขยะด้วยวิธีการเชิงกลชีวภาพ (SUT - MBT) เพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะ (RDF) และปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมประชุมแก้ไขปัญหากรณี ทน. นครราชสีมา ได้แจ้งจะหยุดรับกำจัดขยะจาก อปท. 29 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 15 พค. นี้ เนื่องจากบ่อฝังกลบมีปริมาณขยะ 4.4 แสนตัน เต็มพื้นที่รองรับและรอกองทัพบกอนุมัติให้ใช้พื้นที่ 50 ไร่ เพื่อก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะ

ซึ่งบรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด เนื่องจากแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นและยาว ยังไม่สามารถดำเนินการ โดยติดขัดข้อกฎหมาย รวมทั้ง 4 อปท. ที่มีระบบจัดการขยะด้วยวิธีกลชีวภาพ ได้แบ่งรับแบ่งสู้การรับกำจัดขยะ โดยอ้างปัญหาพื้นที่รองรับไม่เพียงพอและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการขนขยะทั้งกลิ่นและน้ำขยะ ซึ่งอาจมีชาวบ้านในเส้นทางและมีบ้านพักอาศัยในละแวกบ่อขยะไม่พอใจ

นายวิเชียร ฯ ผวจ.นครราชสีมา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ร้องขอให้ ทน. ฯ ขยายเวลารับจำกัดขยะเพิ่มอีก 15 วัน หรือจนถึงวันที่ 31 พค. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและขยายโอกาสให้ อปท.ที่ไม่มีพื้นที่รองรับขยะได้แสวงหาพื้นที่ทิ้งขยะในสถานที่มีระบบจัดการตามหลักวิชาการ ซึ่งนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายก ทน. ฯ ได้ให้ความอนุเคราะห์ จังหวัดนครราชสีมา จึงขอขอบคุณเป็นอย่างสูง ในที่ประชุมได้ชี้แนะให้ 4 อปท. ที่มีระบบกำจัดขยะด้วยวิธีกลทางชีวภาพ ฯ ช่วยเหลือ อปท.ใกล้เคียง โดยรับกำจัดขยะบางส่วนและขอขอบคุณ มทส. ได้เสนอขอรับกำจัดขยะอีกบางส่วน ซึ่งเป็นการแก้ไขเฉพาะหน้า

ขณะนี้ผู้มีอำนาจในกองทัพบกได้ทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นจึงได้พยายามดำเนินการพิจารณาอนุญาตให้เร็วที่สุด สำหรับแผนระยะยาว ทน.นครราชสีมา มีโครงการตั้งโรงไฟฟ้าใช้ขยะเป็นวัตถุดิบ ซึ่งมีประสิทธิภาพรับปริมาณขยะได้วันละ 600 -700 ตัน แต่ต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม ส่วนข้อเสนอของ โรงงาน ทีพีไอ จ.สระบุรี จะรับกำจัดขยะให้ จ.นครราชสีมา โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งและกำจัดราคาตันละ 300 บาท ยังติดเงื่อนไขบางอย่าง โดยสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตีความขยะเป็นทรัพย์สินของ อปท. หากนำไปให้เอกชนอาจขัดต่อระเบียบกฎหมาย

ได้มอบหมายนายธนพล จันทรนิมิ รอง ผวจ.นครราชสีมา และนายวีระศักดิ์ ฯ ท้องถิ่นจังหวัด ฯ ปรึกษาหารือกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ สตง. เพื่อหาข้อสรุปจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่ได้ ต้องวางแผนกำหนดทิศทางแก้ปัญหาทางอื่น ต้องมีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

นายจำลอง มหิงษาเดช ผู้ใหญ่บ้านหนองปลิงใหม่ หมู่ 9 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ฐานะผู้นำชาวบ้านที่มีบ้านพักและที่ทำกินอยู่ในละแวกศูนย์กำจัดขยะ ฯ เปิดเผยว่า ได้รับผลกระทบจากบ่อขยะทั้งกลิ่นและน้ำเสีย แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไขเยียวยาความเดือดร้อนอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่ๆ ขยะหลายแสนตันไม่ได้เกิดจากชาวบ้านแต่ถูกนำมาทิ้งนานร่วม 20 ปี ได้สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง การขยายเวลารับกำจัดขยะ ชาวบ้านเคยถูกหลอกให้ดีใจมาหลายครั้ง ซึ่งจะ ประชุมหารือ เพื่อขอมติชาวบ้าน เคลื่อนไหวเรียกร้องขอความเป็นธรรม อาจถึงขั้นต้องปิดศูนย์ ฯ ผู้ใหญ่ในบ้านนี้เมืองนี้ ควรมาเที่ยวชมบ่อขยะแล้วจะเข้าใจเห็นใจชาวบ้าน ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการช่วยเหลือเร่งด่วนด้วย