จี้แบงก์ลดดอกเบี้ย 'รายย่อย'

จี้แบงก์ลดดอกเบี้ย 'รายย่อย'

"อภิศักดิ์" จี้แบงก์เอกชนหั่นดอกเบี้ยเงินกู้รายย่อย ลดความเหลื่อมล้ำในระบบ หลังพบคิดดอกเบี้ยเงินกู้บริษัทใหญ่เพียง 1-2% ส่วนเอสเอ็มอีที่ 7-8% ทำรายย่อยต้นทุนสูง แข่งขันยาก

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวบนเวทีเปิดงานมหกรรมการเงินครั้งที่ 17 ในวานนี้(11พ.ค.) ว่า ต้องการเห็นสถาบันการเงินลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปล่อยให้แก่ลูกค้ารายย่อยลง เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวที่ถูกสถาบันการเงินคิดอัตราดอกเบี้ยในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สถาบันการเงินปล่อยให้แก่ลูกค้ารายใหญ่

โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดจากลูกค้ารายย่อยจะอยู่ที่ประมาณ 7-8% ขณะที่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่คิดกับลูกค้ารายใหญ่จะอยู่ในระดับ 1-2% เท่ากับว่า มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยราว 5-6%

“แบงก์เองก็บอกว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของลูกค้า แต่คำถาม คือ ความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดเล็กมันต่างกันมากที่จะทำให้คิดอัตราดอกเบี้ยต่างกัน 5-6% เชียวหรือ ดังนั้น ก็ฝากให้ไปดู สิ่งเหล่านี้ เราอยากสร้างให้เกิดความเท่าเทียม ทั้งนี้ การคิดดอกเบี้ยตามความเสี่ยงนั้น ถือว่า ทำได้ แต่ไม่ใช่คิดค่าความเสี่ยงที่สูง หรือ เรียกว่า Over Price”

นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการบังคับ ให้ถือเป็นเรื่องของกลไกตลาดและเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินคิดเองได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไม่มีแบงก์ไหนที่จะเป็นผู้นำในการปรับลดรายได้ของตัวเองให้ลดลง แต่เมื่อเราพูดอย่างนี้แล้ว ก็ต้องไปดู ส่วนแบงก์รัฐจะเป็นผู้นำในการลดดอกเบี้ยหรือไม่ ต้องบอกว่า แบงก์รัฐเองมีฐานลูกค้าคนละกลุ่ม โดยส่วนใหญ่จะปล่อยรายย่อยเป็นหลัก และ เราไม่มีนโยบายปล่อยกู้ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่

หวังช่วยลดปัญหาเหลื่อมล้ำ

ทั้งนี้ แนวทางการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยให้มีช่องว่างที่แคบลงเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่นั้น ถือเป็นแนวทางที่สถาบันการเงินจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคมตามนโยบายรัฐบาล

"ลูกค้ารายเล็กเขาจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อเขามีต้นทุนสูงกว่ารายใหญ่ ที่ผ่านมา เมื่อสถาบันการเงินลำบาก เราก็เข้าไปช่วย แต่ตอนนี้ สถาบันการเงินมีความแข็งแรงที่เรียกได้ว่า แข็งแรงอันดับต้นๆของโลก ดังนั้น สิ่งที่สถาบันการเงินต้องทำ คือ เข้าไปช่วยดูแลสังคมในเรื่องดังกล่าว

นายอภิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จุดประสงค์หลักของรัฐบาลในการบริหารเศรษฐกิจ คือ การทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจะต้องทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโต เพื่อให้ประชาชนพ้นความยากจน สิ่งที่รัฐบาลเดินอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การผลักดันให้เกิดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งหวังให้เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต และ จะส่งผลให้ประชาชนพ้นความยากจน อย่างไรก็ดี แม้ปัญหาความยากจนจะลดลง แต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังไม่หมดไป แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วก็ตาม

ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนขนาดใหญ่และรวมถึงสถาบันการเงินจะเข้ามีส่วนช่วยได้อีกประการหนึ่ง คือ ช่วยส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กที่เรียกว่าพี่ช่วยน้อง โดยรัฐบาลเองได้สนับสนุนโดยให้แรงจูงใจในการลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าสำหรับเม็ดเงินที่ธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปช่วยธุรกิจขนาดเล็ก แนวทางดังกล่าวจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ธปท.เร่งแก้หนี้ครัวเรือน

ด้าน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาคการเงินมีส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเรื่องการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ การเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนทางการเงิน รวมถึงการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งมีหลายมิติที่ธปท.ทำร่วมกับสถาบันการเงินทั้ง 1. ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ลดต้นทุนการเงินให้ประชาชน

2. การสร้างความภูมิคุ้มกันให้ระบบการเงินไทย สถาบันการเงินจะต้องมีความมั่นคง มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ไม่รับความเสี่ยงเกินควร 3. เปิดโอกาสให้ประชาชนในวงกว้างเข้าถึงบริการการเงินที่มีต้นทุนถูกลง ทำธุรกิจใหม่ๆ ใช้ธุรกิจทางการเงินตอบโจทย์ของชีวิต

นอกจากนี้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนร่วมกับสถาบันการเงินซึ่งจะมีความชัดเจนในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ก็เป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ประชาชนมีหนี้ที่เกินตัว ก่อหนี้เร็ว และมีเจ้าหนี้หลายราย ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหามีหลายมิติ ประชาชนจะต้องเข้าใจ มีวินัย การวางแผนการเงิน

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินจะต้องมีความรับผิดชอบ ให้บริการให้ตรงความต้องการลูกค้า เพราะหลายครั้งที่สถาบันการเงินขายของที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง แต่ไม่ได้ตรงกับความต้องการลูกค้า และไม่ได้มองเรื่องการบริการความเสี่ยง ก็ต้องมาดูว่าจะช่วยให้ประชาชนออกจากวงจรหนี้ได้อย่างไร การแก้ปัญหาจะมีหลายอย่างประกอบ ทำอย่างไรจะตอบโจทย์ ระยะยาวของประเทศ

แบงก์เผยมีกลไกตลาดกำกับ

นายปรีดี ดาวฉาย กรรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมีกลไกตลาดกำกับอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและการแข่งขัน หากใครสามารถบริหารได้ดีก็มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ยจะดูเฉพาะส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ไม่ได้ แต่ยังต้องดูสถานการณ์อื่นๆประกอบด้วย ทั้งการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมาก

“ส่วนต่างดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงอยู่แล้ว ธนาคารก็มีแนวโน้มที่จะทำอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่จะลดลงช่วงไหนนั้นขึ้นอยู่กับจังหวะ สภาพคล่อง และความต้องการสินเชื่อ รวมถึง ดอกเบี้ยนโยบาย หากดอกเบี้ยนโยบายลด ทุกธนาคารก็ต้องลงตามดอกเบี้ยนโยบายอยู่แล้ว”

ชี้เป็นเรื่องอีโคโนมีออฟสเกล

นายอนุวัติร์ เหลืองทวีกุล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า แนวโน้มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะค่อยๆ ปรับลดลง ไม่ได้อยู่ในระดับที่สูงมากเหมือนเดิม โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 2% ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็อยู่ในระดับกลาง มีทั้งประเทศที่สูงกว่าเรา และต่ำกว่าเรา ซึ่งต้องยอมรับว่าบางประเทศที่มีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าไทย ส่วนหนึ่งเพราะคิดค่าธรรมเนียมการกู้ยืมที่สูง ซึ่งแยกต่างหากจากอัตราดอกเบี้ย

แต่ของไทยได้รวมต้นทุนค่าธรรมเนียมอยู่ในอัตราดอกเบี้ยแล้วส่วนเรื่องที่ว่าการคิดดอกเบี้ยจากลูกค้ารายใหญ่ต่ำกว่าลูกค้ารายเล็กนั้น เป็นเรื่องของeconomy of scaleเพราะลูกค้ารายใหญ่มีต้นทุนในการบริหารจัดการต่ำกว่ารายเล็ก

นายกิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะยิ่งการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นจะยิ่งทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลงได้อีก

ทั้งนี้เชื่อว่าทางการไม่ได้ห่วงเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ยมากนักแต่ห่วงเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่า ซึ่งกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อเพราะไม่สามารถแสดงที่มาที่ไปของรายได้ที่ธนาคารสามารถตรวจสอบได้ ทำให้ธนาคารไม่สามารถอนุมัติสินเชื่อให้ได้ โดยปัจจุบันส่วนต่าง ดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารอยู่ที่3.7%

“ที่ผ่านมา ธนาคารพร้อมสนับสนุนเงินทุนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หากมีบัญชีที่โปร่งใสและมีความสามารถในการทำกำไร ซึ่งปัญหาความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งทุนส่วนหนึ่งอาจต้องใช้บทบาทของแบงก์รัฐเข้ามาตอบโจทย์”