'ดีเอสไอ' เปิด 7 วิธีตุ๋นแชร์ลูกโซ่

'ดีเอสไอ' เปิด 7 วิธีตุ๋นแชร์ลูกโซ่

"ดีเอสไอ" เตือน 7 วิธีการหลอกลวงของขบวนการแชร์ลูกโซ่ พบเห็นขอให้รีบแจ้งความดำเนินคดีอย่าหลงเชื่อร่วมทุน

พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยถึงมาตรการป้องกันและปราบปรามแชร์ลูกโซ่ ว่า ดีเอสไอเตรียมเปิดตัวแอพพลิเคชั่น ประมวลผลแชร์ลูกโซ่บนแอพพลิเคชั่น ดีเอสไอแมปเอกซ์เทรนด์ ซึ่งจะแสดงไอคอนของแชร์ลูกโซ่ในรูปแบบต่างๆให้ประชาชนกดเพื่อประมวลผล โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวจะเชื่อมข้อมูลที่ระบุพิกัด การอบรมสัมมนาแผนการตลาดแชร์ลูกโซ่ ส่งต่อไปยังศูนย์ดำรงธรรม เพื่อสั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่เข้าดำเนินการได้ทันที คาดว่าจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้ภายในเดือนมิ.ย.นี้ นอกจากนี้ดีเอสไแจะเชื่อมต่อฐานข้อมูลกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และองค์การอาหารและยา (อย.). เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบแผนการตลาดของกลุ่มผู้ประกอบการขายตรง และสามารถตรวจสอบเลขอย.ของผลิตภัณฑ์ที่นำมาประกอบการเชิญชวนให้ลงทุนว่า เลขอย.ตรงหรือไม่ เนื่องจากในคดีแชร์ลูกโซ่ต่างๆที่รับไว้สอบสวน พบว่าสินค้าที่เป็นแขร์ลูกโซ่จะใช้เลขอย.ปลอม ติดแสดงในผลิตภัณฑ์

ล่าสุดดีเอสไอได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ผ่านเวปไซต์และโซเซียลมีเดียถึง 7 วิธีการหลอกลวงของขบวนการแชร์ลูกโซ่ 1. ผู้ชักชวนเป็นบุคคลใกล้ชิด 2 อ้างบุคคลหรือผู้ที่มีขื่อเสียงในสังคมเข้าร่วมกิจกรรม 3 อ้างหลักฐานผลประโยชน์และเงินมหาศาลที่จะได้รับ 4 ใช้โฆษณาชวนเชื่อ 5 แสดงผลการลงทุนน้อยแต่ประโยชน์ตอบแทนสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว 6. จัดฉากการอบรมสัมมนาอย่างยิ่งใหญ่ 7. พูดจาหว่านล้อมกดดันให้เหยื่อรีบตัดสินใจ ถ้าพบพฤติการชักชวนลงทุนเข้า 7 ลักษณะดังกล่าว ขอให้ประชาชนตะหนักว่าเจอเข้ากับแชร์ลูกโซ่ ขอให้รีบแจ้งความดำเนินคดี

สำหรับแชร์ลูกโซ่เป็นขบวนการต้มตุ๋นและฉ้อโกงประชาชน ที่อยู่คู่สังคมไทยมาตลอด. โดยรูปแบบและวิธีการหลอกลวงจะปรับเปลี่ยนไปตามกระแสนิยมและกลุ่มเหยื่อเป้าหมายที่มิจฉาชีพหวังเข้าไปดึงเงินในกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ชนชั้นกลาง พนักงานออฟฟิส หรือกลุ่มเศรษฐีผู้มีการศึกษาดี ทำให้เกิดสารพัดแผนการตลาดแชร์ลูกโซ่เชิญชวนให้ใช้เงินทำงาน ระดับความเสียหายแต่ละวงแชร์เฉลี่ยตั้งแต่หลักหมื่นบาทถึงหลักล้านบาท อาทิ แชร์น้ำมันกฤษณา แชร์ข้าวสาร แชร์เฟรนไซน์ แชร์ทองคำ แชร์น้ำมัน แชร์เทรดหุ้นเทรดเงิน โดยวิธีการหลักของแชร์ลูกโซ่คือไม่ใช่การซื้อขายจริง ผู้ร่วมทุนจะได้ถือเอกสารสัญญาแทนสินค้า จ่ายเงินปันผลทุกสัปดาห์ ทุก 15 วัน หรือทุก 30 วัน เมื่อหลงเชื่อร่วมลงทุนจะได้รับปันผลใน 1-2 งวดแรก เพื่อจูงใจให้เหยื่อเพิ่มเงินลงทุน หลังจากนั้นไม่เกิน 3-6 เดือน จะหยุดจ่ายเงินปันผล อ้างขาดทุนก่อนจะปิดเวปไซต์หรือปิดกิจการหนี