สร้างทายาทธุรกิจ โจทย์หญิงแกร่งปตท.สผ.

สร้างทายาทธุรกิจ โจทย์หญิงแกร่งปตท.สผ.

‘ประณต ติราศัย’หญิงแกร่งยุคบุกเบิกปตท.สผ.30 ปี บนเส้นทางธุรกิจพลังงาน สารพัดบทบาทที่เธอทุ่มเทเต็มที่เสมอ ก่อนทิ้งทวนวัยเกษียณ ขอผ่องถ่ายความรู้สู่เลือดใหม่มาเสริมทัพสืบทอดพันธกิจ

  ย้อนไปกว่า 30 ปีก่อน ในยุคที่บริษัทพลังงานแห่งชาติอย่าง ปตท. ต้องการขยายธุรกิจ สำรวจและและผลิตปิโตรเลียม”  กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้การรวบรวมขุนพลนักบริหารรวมถึงนักฎหมาย รวม 33 ชีวิต มาร่วมกันก่อร่างสร้าง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ให้เป็นรูปเป็นร่าง

นอกจาก ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์” ปรมาจารย์ด้านพลังงานของไทย จะเป็นอดีตผู้ว่าการปตท.คนแรกแล้ว เขายังเข้ามานั่งมาเป็นแม่ทัพปตท.สผ.เป็นพนักงานคนแรก ขณะที่พนักงานคนที่ 2 ของปตท.สผ.ในยุคนั้น คือนักกฎหมายหญิงแกร่ง นาม ประณต ติราศัย” 

ตลอด 3 ทศวรรษของการเป็นลูกหม้อองค์กรแห่งนี้ เธอเติบใหญ่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานมากมาย และเมื่อนับถอยหลังสู่วัยเกษียณอีก 10 เดือนข้างหน้า กรุงเทพธุรกิจ BizWeek  มีโอกาสพูดคุยกับ“ประณต"ซึ่งปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกิจการองค์กรและกำกับการปฏิบัติตามนโยบาย ปตท.สผ.

พี่เป็นพนักงานหญิงคนแรกของปตท. สผ. ส่วนพนักงาน(ผู้บริหาร)คนแรก คือ ดร.ทองฉัตร และตอนนั้นบริษัทมี33คน ล้วนแต่เป็นพนักงานของปตท.เพียงแต่ภายหลังหลังโอนมาอยู่ปตท. สผ.” เธอย้อนประวัติและยอมรับว่า “อยู่ยาวมาก ปีหน้าจะเกษียณแล้ว”

ประณต ไม่ได้ออกสื่อบ่อยนัก แต่ด้วยบทบาทใหม่ที่ได้รับมอบหมายทำให้ต้องเผยตัวต่อสื่อมากขึ้น

ถอยหลังไป 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การเริ่มต้นทำงานของประณต เมื่อต้องสวมบทบาทเป็นนักกฎหมายให้กับปตท. แต่ภารกิจความรับผิดชอบมีมากขึ้น เมื่อต้องโอนย้ายมาปลุกปั้นงานด้านบริหารทรัพยากรมนุษย์ จุดเปลี่ยนการทำงานสำคัญบนเส้นทางธุรกิจพลังงานของเธอมีมากมาย 

ถ้าถามว่าภูมิใจกับอะไรบ้าง ก็ต้องบอกว่ามีอยู่หลายไมล์สโตน ตั้งแต่จัดตั้งบริษัทได้เห็นปตท.สผ.ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ได้เห็นการเติบโตของบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่4แสนบาท จนปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน3,900ล้านบาท”

การเปลี่ยนผ่านปตท.สผ.ไปสู่การเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมเต็มตัวต่อจากบริษัท โททาลเอ็กซพลอเรชั่น แอนด์ โปรดักชั่น ในแหล่งผลิตบงกช ซึ่งทำให้ต้องผลักดันคนไทยเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆแทนชาวต่างชาติ มีการวางแผนพัฒนาคนเป็นรายบุคคล ซึ่งจังหวะนี้เองทำให้เธอต้องรับผิดชอบและดูแลงานในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ฯ 

อันนี้ถือเป็นงานใหญ่ และก็เป็นงานที่ทุกคนภูมิใจ เพราะเป็นงานที่วางรากฐานให้กับปตท.สผ.” ที่สำคัญสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและความมั่นใจถึงปัจจุบันว่า ปตท.สผ.สามารถเข้าไปเป็นผู้ผลิตปิโตรเลียมได้ในหลายๆแหล่ง

ขณะที่สถานการณ์ธุรกิจพลังงานในอดีตถึงปัจจุบัน เธอบอกว่า เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ทั้งปริมาณปิโตรเลียม(ซัพพลาย)ในไทยที่ไม่ได้มีมากนัก ทิศทางราคาน้ำมันที่ต่ำลง ยังเป็นสัญญาณให้ตั้งคำถามถึงความ “คุ้มทุน” ต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้ปตท.สผ.ต้องมองหา โอกาสใหม่” บนพื้นฐานธุรกิจพลังงานอย่างต่อเนื่อง

เราต้องแสวงหาลู่ทางเพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว” รวมถึงการมองโอกาสทางธุรกิจด้านอื่น

“ยังเชื่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เรายังต้องใช้ไปอีกเป็น 10 ปี แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องหาลู่ทางในอนาคตไว้ด้วย เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน” ทางเลือกที่เผยให้เห็นถึงทิศทางเคลื่อนธุรกิจพลังงานในอนาคต ขั้นแรกคือหาโอกาสในการร่วมมือกับปตท.ในฐานะบริษัทแม่ เพื่อลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี 

หากปตท.สผ.ผนึกกำลังกับปตท.ได้ในส่วนที่เป็นกิจการต้นน้ำ (Upstream) เราก็จะสามารถทำธุรกิจได้ครบวงจร” เธอบอก 

ขณะที่ความร้อนแรงหนีไม่พ้นการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งยังต้องจับตานโยบายของภาครัฐว่าจะเลือกรูปแบบการประมูลแบบใด 

“ไม่ว่านโยบายรัฐจะออกมาใสนรูปแบบไหน ปตท.สผ.ก็พร้อมนะ เพราะเราดำเนินธุรกิจอยู่ในอ่าวไทย เรียนรู้เรื่องสัมปทานมาอยู่แล้ว เรื่องสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเราก็ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC)ดังนั้นไม่ว่ารัฐจะใช้ระบบสัมปทานหรือระบบ PSC เราก็พร้อม” เธอย้ำเจตนารมย์

ต่อความเสี่ยงที่ว่าหากปตท.สผ.พลาดไม่ได้สัมปทานผลิตปิโตรเลียมต่อ เธอมองผลกระทบที่จะตามมามีหลายด้าน คือรายได้ของปตท.สผ.จะหายไป 25% สินทรัพย์ที่ปตท.สผ.มีอยู่รัฐจะตีมูลค่าอย่างไร การต้องหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศ ขณะที่รัฐก็จะสูญเสียรายได้มหาศาลจากทั้งภาษี ค่าภาคหลวง การจ้างงาน เป็นต้น

ท้าทาย..มาก(ลากเสียงยาวพร้อมหัวเราะ) เพราะเป็นรายได้สัดส่วน25%มันก็เยอะ เราต้องหาเข้ามาชดเชยให้ทัน” เธอมองภายใต้สถานการณ์เลวร้ายสุด

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เผชิญหมาดๆ คงเป็น ประเด็นฮอต!ที่ส่งตรงจากสหรัฐถึงไทย กับประเด็นข่าวกรณีโรลส์-รอยซ์ให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ปตท.และปตท.สผ. เพื่อให้สัมปทานการทำธุรกิจร่วมกับทั้งสองแห่ง เรียกว่าเป็นเรื่องร้อนที่มาพร้อมกับบทบาทใหม่ของประณต

มารับงานประชาสัมพันธ์ก็เจอเรื่องโรลส์-รอยซ์ ก็มองเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งเราก็ให้ความร่วมมือเต็มที่และทันทีที่ทราบเรื่องนี้” เธอบอกและขยายความว่า

สิ่งที่ปตท.สผ.ทำหลังมีกรณีรับสินบนโรลส์-รอยซ์ คือตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และส่งข้อมูลให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ร่วมมือกับภาครัฐเต็มที่

ท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้ บริษัทได้พลิกให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาเรื่องของการกำกับดูแลกิจการที่ดี ธรรมาภิบาล สร้างจิตสำนึกให้แก่พนักงานว่าจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการปฏิบัติงานตามหลักจริยธรรม ที่ทำต่อเนื่องอยู่แล้ว ให้เข้มข้นมากขึ้น

เร่งการปลูกฝังกันเป็นวัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนพัฒนา ทบทวนกระบวนการตรวจสอบต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโอกาสมในการทุจริต มองอีกมุมก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้น” เธอย้ำ

ปตท.สผ.ได้รับรางวัลมากมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี เช่น ได้คะแนนสูงสุดจากการประเมินตามหลักการกำกับดูแลกิจการ ของสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ ASEAN CG Scorecard ได้รับการประเมินในระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เป็นต้น เหตุการณ์โรลส์-รอยซ์ จะกระเทือนกับสิ่งที่ได้รับในอดีตหรือไม่ 

เธอบอกว่า ถ้าจะเอาเรื่องในอดีตมาตัดสินปัจจุบัน ดูจะไม่ถูกต้องนัก โดยเรื่องที่ผ่านมา บริษัทก็เข้าไปตรวจสอบ และยืนยันว่าเราดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และถ้าเราพบคนของเรากระทำผิด เราก็จะไม่ประนีประนอม”

นอกจากเข้มภายในองค์กรแล้ว กับพันธมิตร ผู้ค้า(Vendor)ภายนอกก็ไม่ต่าง เพราะปัจจุบันมีการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการถึงขนาดนำไปเป็นเงื่อนไขการทุจริตไปอยู่ในสัญญาร่วมทุน หนุนให้ผู้ค้าที่ไปลงนามกับแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เพื่อปฏิบัติตามการกำกับดูแลกิจการด้วย เป็นต้น

เรียกว่า ผ่านเรื่องราวมามาก ก่อนเกษียณยังมีอะไรที่อยากสร้างให้คนรุ่นหลังบ้าง ประณตบอกว่า เวลานี้คือการพยายามหาผู้สืบทอดธุรกิจ(Successor) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น 

คิดว่าปตท.สผ.ต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้รับกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และการพัฒนาความสามารถของบุคลากรให้พร้อมรับกับการทำงานในอนาคต เพราะพนักงานในรุ่นบุกเบิกด้วยกันก็จะเริ่มเกษียณ”

ขณะที่การวางตัวผู้สืบทอดธุรกิจสัดส่วน 1 ต่อ 1 ยังไม่เพียงพอ แต่ต้องมีแคนดิเดท (ตัวเลือก) 1 ต่อ 3 คน เพราะเชื่อว่าระหว่างทางย่อมมีผู้ที่ “ไม่ผ่าน” บททดสอบ "ตัวเลือกที่มาแทน ระบุคนไว้แล้ว ถ้าใช้ศัพท์ก็กำลังถ่ายทอดตะขาบให้อยู่(หัวเราะ)”

คนแบบไหนที่เป็นเป้าหมายสืบทอดธุรกิจ ประณตย้ำว่า.. “คนที่ปตท.สผ.ต้องการมากที่สุดคือทำงานอย่างมีอาชีพ มีจริยธรรมในการทำงาน ซื่อสัตย์สุจริต และพร้อมที่จะพัฒนาตัวเองเพื่อเรียนรู้สิ่งใหญ่ๆ นี่คือสิ่งที่อยู่ในจิตวิญญาณของเรา เราต้องการคนที่เป็นนักสำรวจและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่” ซึ่งกระบวนการคัดเลือกคนเหล่านี้เข้มข้นตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปทำงานในองค์กรแห่งนี้