ตุ๋นแชร์ลูกโซ่รายวัน! คดีลงทุนครอสสัมมนา เสียหาย2,000ล้าน

ตุ๋นแชร์ลูกโซ่รายวัน! คดีลงทุนครอสสัมมนา เสียหาย2,000ล้าน

ผู้เสียหายแชร์ลูกโซ่ร้องดีเอสไอ ถูกชวนลงทุนแพคเกจคอร์สสัมนา อ้างจ่ายปันผล 7% ทุกสัปดาห์ ต่อเนื่อง 1 ปี ทำให้มีผู้หลงเชื่อร่วมทุน 40,000 ราย เสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) - 9 พ.ค.60 ผู้เสียหายจากการลงทุนกับบริษัทเดอะซิสเตม ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ จำกัด (TSPP) และบริษัทอินโนวิชั่น โฮลดิ้ง จำกัด เกือบ 200 คน ที่ร่วมลงทุนซื้อแพคเกจคอร์สสัมมนาเพื่อการเรียนรู้และการลงทุน ซึ่งมีผู้เสียหายรวม 40,000 คนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท ได้ยื่นคำร้องขอให้ดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษ โดยมี ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ดีเอสไอ เป็นผู้รับเรื่อง

นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิชกุล ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทเดอะซิสเตมฯ และ บริษัทอินโนวิชั่นฯ มีนายภูดิศ กิตติธราดิลก เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทั้งสองบริษัท และเป็นผู้ชักชวนประชาชนให้ลงทุนโดยสัญญาว่าจะจ่ายเงินค่าตอบแทนในอัตราร้อยละ 30 ต่อเดือน โดยแผนการตลาดจะให้ประชาชนสมัครสมาชิกบริษัทในรูปแบบแพคเกจต่างๆ 5แพคเกจ ประกอบด้วย แพคเกจวีไอพี ราคา 108,000 บาท แพคเกจพรีเมียมราคา 36,000 บาท แพคเกจแสตนดาร์ค 18,000 บาท แพคเกจมินิ 9,000 บาท แพคเกจไมโครราคา 4,500 บาท แต่ไม่มีสินค้าและแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งหลังจ่ายเงินซื้อแพคเกจครบ 30 วัน จะเริ่มจ่ายเงินปันผลให้ตามสัญญาเป็นระยะเวลา 1ปี โดยจะจ่ายทุกสัปดาห์ ในอัตราร้อยละ 7 นอกจากนี้ นายภูดิศ ยังโฆษณาว่าหากชักชวนคนอื่นมาร่วมซื้อแพคเกจด้วยจะได้รับค่าแนะนำร้อยละ 5 และจะได้รับค่าแนะนำเพิ่มมากขึ้นตามลำดับตามอัตราที่ชักชวนมาได้มาก ทำให้ประชาชนหลงเชื่อจำนวนมาก เนื่องจากการลงทุนในระยะแรกมีสมาชิกได้รับผลกำไรตามที่บริษัทโฆษณาจริง

นายสามารถ กล่าวอีกว่า นายภูดิศยังให้สมาชิกซื้อคอร์สสัมมนา เพื่อมีสิทธิ์เป็นผู้ถือใบหุ้นบุริมสิทธิ์ โดยหลอกสร้างความมั่นใจเพิ่มเป็น 2เท่า ด้วยการให้ซื้อแพคเกจเหมือนเดิมและจะจ่ายเงินปันผลทุก 7 วัน ตลอด 1 ปี โดยอ้างว่าเป็นการจ่ายเงินปันผลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีผู้เสียหายรวม 40,000 คนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหาย 2,000 ล้านบาท จนเดือนกรกฎาคม 2559 บริษัทประกาศหยุดจ่ายเงินปันผลให้แก่สมาชิก

นางกัญญา (สงวนนามสกุล) อายุ 56 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัว เปิดเผยว่า ในช่วงปี 2558 ตนรู้จักบริษัทดังกล่าวจากการชักชวนของเพื่อน โดยเพื่อนที่ชักชวนได้รับเงินปันผลจริง จึงเกิดความเชื่อถือและร่วมลงทุนในระยะแรก 2 แสนบาท ผ่านไป 1 สัปดาห์ ได้รับเงินปันผลคืน 7,500 บาท จึงลงทุนเพิ่มเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท และลงทุนต่อเนื่องจนยอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 5 ล้านบาท อีกทั้งยังให้ลูก 2 คนและหลานมาร่วมลงทุนด้วย จนเดือนพฤษภาคม 2559 ทางบริษัทได้แจ้งขอลดอัตราดอกเบี้ยปันผลลดลงเป็นระยะ และต้นเดือนกรกฎาคม 2559 บริษัทแจ้งหยุดจ่ายเงินปันผล เมื่อสอบถามไปก็เงียบหาย ทั้งนี้กรณีของตนได้รับเงินปันผลคืนแล้วประมาณ 2 ล้านบาท ดังนั้น ถือว่ายังได้รับความเสียหายจากการร่วมลงทุนกว่า 3 ล้านบาท

ด้าน ร.ต.อ.วิษณุ กล่าวว่า ดีเอสไอรับเรื่องไว้ เบื้องต้นคดีมีมูลความผิดเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ แต่อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวนพฤติการณ์การกระทำความผิด มูลค่าความเสียหาย และความซับซ้อนของคดีว่าเข้าข่ายรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ โดยพฤติการณ์ของผู้ต้องหาคดีแชร์ลูกโซ่จะใช้วิธีการเดิมขายสินค้าบังหน้า แต่ไม่มีสินค้าจริง ซึ่งต่างจากธุรกิจขายตรง ทั้งนี้ หากดีเอสไอรับไว้เป็นคดีพิเศษในการสอบสวนก็จะพิจารณาตั้งแต่การเข้าร่วมลงทุนเพื่อแยกผู้เสียหายและแม่ข่าย เนื่องจากแม่ข่ายมักจะอ้างว่าตนเป็นผู้เสียหายทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าการชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุนโดยไม่มีสินค้าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะถือเป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับบริษัทด้วย