Daily Market Outlook (5 พ.ค.60)

Daily Market Outlook (5 พ.ค.60)

ราคาโภคภัณฑ์ร่วง Trump เจอด่านวุฒิสภาหนักแน่

คาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวออกข้าง ตามหุ้นสหรัฐถูกกดดันจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งน้ำมันที่ร่วงแรง แม้ผลประกอบล่าสุดจะออกมาดี / ดีมากจากทั้งสหรัฐและยุโรป ยังต้องระวังต่อแม้สภาล่างสหรัฐจะผ่านร่างกฎหมายสาธารณสุขของ Trump แต่ต้องไปเผชิญแรงต้านหนักแน่ในวุฒิสภา เอมมานูเอ็ล มาครง ดูท่าจะชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศสค่อนข้างแน่ ลดความกังวลไปได้ส่วนหนึ่ง ตัวเลขการว่าจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐ น่าจะบอกใบ้ทิศทางการปรับดอกเบี้ยของ Fed ต่อไป ภายในประเทศ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูงสุดในรอบ 25 เดือน

หุ้นเด่นวันนี้:BA(ราคาปิด 21.20บาท; ซื้อ; Bloomberg consensus ที่ 26.18 บาท)

BA คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการยกเลิกธงแดงของ ICAO ที่มีต่อความปลอดภัยในการบินของประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2/60 ซึ่งรายงานข่าวจากสื่อของไทยอ้างว่า CAAI ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการบินซึ่งรัฐบาลไทยได้ว่าจ้างเพื่อช่วยให้หน่วยงานด้านกฎระเบียบและอุตสาหกรรมการบินของไทยเป็นไปตามข้อกำหนดของ International Civil Aviation Organization(ICAO) และ European Aviation Safety Agency (EASA) ได้รับทราบความคืบหน้าในการปรับปรุงความปลอดภัยในการบินของไทยและจะออกใบรับรองการปฏิบัติงานให้กับสายการบิน 6แห่ง ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้นอกจากนี้ คาดว่าได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในวันนี้ 4% ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินคาดว่าอยู่ในช่วงที่กำลังปรับตัวลดลงด้วย ซึ่งจะทำให้อัตรากำไรของธุรกิจสายการบินดีขึ้น จะเป็นผลบวกต่อ BA เนื่องจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 35% ของต้นทุนรวม กำไรไตรมาส 1/60ของ BA น่าจะแข็งแกร่ง จากที่มีจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไปจนเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นในไตรมาส 2/60ซึ่งตามคาดการณ์กำไรของ Bloomberg คาดว่ากำไรสุทธิของ BA จะเพิ่มขึ้น 47% ในปี 2560 และจะเติบโต13% ในปี 2561 โดย PER ปี 2560 อยู่ที่ 24 เท่าเทียบกับค่าเฉลี่ย PER ที่ 43 เท่าสำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทย เนื่องจาก PEG ในปี2560 มีค่าเพียง 0.51 เท่า ราคาเป้าหมายปี 2560 ของ Bloomberg อยู่ที่ 26.18 บาทมี upside23.4% Price Pattern ของ BA กลับมาเกิดความแข็งแกร่งในระยะสั้นจากการเกิด Daily Buy Signal และหากปิดตลาดรายสัปดาห์เหนือ 20.50 บาท ก็จะเกิด Weekly Buy Signal ครั้งใหม่ อย่างไรก็ตามแนวโน้มหลักอยู่ในแนวโน้มขาลง (Downtrend) จากการเกิด Monthly Sell Signal อยู่ ต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะกลับมาเกิด Monthly Buy Signal ครั้งใหม่ BA มีเป้าหมายแรกอยู่ที่ 21.20 บาท หาก Break ด้วยการปิดตลาดเหนือ 21.20 บาทได้ จะมีเป้าหมายเบื้องต้นอยู่ที่ 22.40 บาท ทั้งนี้ BA มีจุด Stop Loss ระยะสั้นอยู่ที่ 19.80 บาท (Resistance: 21.40, 21.60, 22.00; Support: 20.80, 20.40, 20.20)

ปัจจัยสำคัญ

ประเด็นในประเทศ:

• ความเชื่อมั่นผู้บริโภคแตะจุดสูง 25 เดือน ม.หอการค้าไทยวานนี้ได้รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภค เม.ย. เพิ่มขึ้นสู่ 77 จุดจาก 76.8 จุดใน มี.ค. เพิ่มขึ้นห้าเดือนติดต่อกันและสูงสุดในรอบ 25 เดือน หนุนโดยการส่งออกที่ดีขึ้น ราคาพืชผลเกษตรดีขึ้นและภาคท่องเที่ยวที่เป็นบวก (Bangkok Post)

• นายกฯ ต้องการรายงานความคืบหน้าโครงการรถไฟและท่าเรือ รัฐบาลต้องการรายงานความคืบหน้าภายในสิ้นเดือนนี้ของโครงการเชื่อมต่อท่าเรือหลักทั้ง 3 แห่งและการก่อสร้างรถไฟเชื่อมต่อโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากภาคเอกชนได้แสดงความกังวลถึงความล่าช้าของโครงการ (Bangkok Post)

• คูโบต้าคาดสภาพตลาดการเกษตรในปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ผลผลิตออกมาได้ตามเป้าหมาย และเชื่อว่าปัญหาภัยแล้งจะลดน้อยลง เพราะเชื่อว่าฝนจะตกต่อเนื่องไปตลอดฤดูกาลการเพาะปลูก จากปีที่แล้วสภาพตลาดการเกษตรในไทยติดลบกว่า 10% จากภัยแล้ง (ข่าวสด) ความเห็น: น่าจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจการเกษตรและผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรการเกษตรอย่าง SAT (16.20 บาท, ซื้อ, ราคาเป้าหมาย 19.70 บาท)

• TASCO(ราคาปิด 25.25 บาท) รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 เท่ากับ 1,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5%YoY และเพิ่มขึ้น 11.1% QoQ ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 1,500 ล้านบาท โดยมีรายได้ 8,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.4%YoY และ 16.9%QoQ (SET) ความเห็น: ราคายางมะตอยปรับตัวขึ้นราว 27% QoQสอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/60 ที่อยู่ระดับ 53.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 8.7% ราคายางมะตอยมีการปรับตัวขึ้นแรงกว่าราคาน้ำมันดิบ เนื่องจากดีมานด์ยางมะตอยในภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ปริมาณขายในไตรมาสนี้อยู่ที่ราว 537,600 ตัน ต่ำกว่าช่วงไตรมาส 1/59 10.4% และต่ำกว่าไตรมาส 4/59 อยู่ 2.25% ทั้งนี้เพราะปริมาณขายเพิ่งเร่งตัวขึ้นกลางไตรมาส 1/60 ไปแล้ว ขณะที่ต้นปียังมีการชะลอตัว เราแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมายคงไว้ที่ 33 บาท คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560 ที่ 3,812 ล้านบาท หรือ 2.46 บาทต่อหุ้น กำไรไตรมาส 1/60 ที่ออกมาคิดเป็น 32% ของกำไรทั้งปีที่คาดการณ์ไว้ โดยเรายังเชื่อว่ากำไรสุทธิส่วนใหญ่จะตกอยู่ในช่วงครึ่งแรกของปี เรายังคงแนะนำซื้อ TASCO ให้ราคาเป้าหมาย 33 บาท อิงค่า PER ที่ 13.5 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างในระดับภูมิภาค

ต่างประเทศ:

• สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติอนุมัติร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ที่จะบังคับใช้กฎหมายโอบามาแคร์ ด้วยคะแนนเสียง 217-213 ร่างกฎหมายดังกล่าวจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไปซึ่งแนวโน้มที่จะผ่านการพิจารณายังไม่แน่นอน เป็นที่คาดว่ากฎหมายประกันสุขภาพของพรรครีพับลิกันหรือที่เรียกว่า "อเมริกันเฮลธ์แคร์” จะส่งผลให้ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 24 ล้านคนไม่ได้รับความคุ้มครองด้านประกันสุขภาพภายในปีค.ศ. 2026 กฎหมายดังกล่าวจะยังคงกฎหมายโอบามาแคร์บางส่วนที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะส่วนความคุ้มครองสำหรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยก่อนการใช้กฎหมายฉบับใหม่ มาตรการดังกล่าวจะให้เงินอุดหนุนรัฐต่าง ๆ จำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นทุนสำหรับผู้ที่ป่วยหนัก อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายดังกล่าวจะยกเลิกข้อกำหนดของโอบามาแคร์ซึ่งบริษัทประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับประกันคิดค่าใช้จ่ายในอัตราเดียวกับทั้งผู้ป่วยและผู้ที่มีสุขภาพดี และครอบคลุมผลประโยชน์ด้านสุขภาพที่จำเป็น 10 รายการ รวมทั้งการฝากครรภ์และค่าใช้จ่ายตามใบสั่งยา (Reuters)

• อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้นเมื่อวันพฤหัส หลังจากข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานที่แข็งแกร่งหนุนความคาดหวังว่าเฟดน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมิ.ย. ราคาพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลง 13/32 อัตราผลตอบแทนอยู่ที่ระดับ 2.36% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่วันที่ 10 เม.ย. และเพิ่มขึ้นจากที่ระดับ 2.31% เมื่อวันพุธ (Reuters)

• เงินยูโรแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 6 เดือนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันพฤหัสด้วยความเชื่อมั่นมากขึ้นว่านายมาครอง ผู้สมัครที่มีแนวคิดเป็นกลางจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส รวมทั้งการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรต่อในเดือนหน้า เงินยูโรแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์สหรัฐสู่ระดับ 1.0984 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับแต่ต้นเดือนพ.ย. 59 ส่วนดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบกับเงินเยนโดยปรับตัวลงไปที่ระดับ 112.33 เยน ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปิดลบ 0.5% ที่ระดับ 98.752 (Reuters)

สหรัฐ:

• ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐปิดทรงตัวเมื่อวันพฤหัส เนื่องจากหุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงอย่างหนักกลบรายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งของหลายบริษัท ในขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเห็นชอบร่างกฎหมายซึ่งจะมาแทนที่โอบามาแคร์อย่างฉิวเฉียด นอกจากนี้ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงมากในสัปดาห์ก่อน และจำนวนชาวอเมริกันที่ว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ประเด็นที่จับตามองคือข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ซึ่งเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดแรงงาน (Reuters)

• ผลประกอบการของบริษัทต่าง ๆ โดยรวมดีกว่าที่คาด คาดกำไรสุทธิในไตรมาส 1/60 ของบริษัทในดัชนี S&P500 จะเพิ่มขึ้น 14.8% YoYซึ่งเป็นการเติบโตของกำไรอย่างแข็งแกร่งที่สุดนับแต่ปีค.ศ. 2011 โดยเพิ่มขึ้นจาก 14.2% เมื่อวันพุธ 12.4% ในสัปดาห์ก่อน และ 10% เมื่อวันที่ 12 เม.ย. จากข้อมูลของ Thomson Reuters I/B/E/S (Reuters)

ยุโรป:

• หุ้นยุโรปปรับขึ้นวานนี้ เนื่องจากผลการดำเนินงานบริษัท ตัวเลขเศรษฐกิจ และสถานการณ์การเมืองที่ดีขึ้น จากข้อมูลของ Thomson Reuters I/B/E/S ณ ขณะนี้ การประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทได้ผ่านมาเกือบครึ่งทางแล้ว ซึ่งมากกว่า 80% ของบริษัทที่ได้ประกาศไปมีรายได้ที่ดีกว่านักวิเคราะห์คาด บ่งบอกถึงอุปสงค์ที่ดีขึ้น (Reuters)

• การเติบโตของยูโรโซนน่าจะเร่งตัวขึ้นไปอีก และนโยบายของ ECB อาจมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัว ทำให้ตลาดคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่จะประกาศในเดือน มิ.ย. น่าจะออกมาดี เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 1/60 ขยายตัว 0.5% QoQซึ่งเติบโตดีกว่าเศรษฐกิจสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2/60 น่าจะเติบโตในวงกว้างขึ้นและอาจมีเซอร์ไพรส์เชิงบวกอีกด้วย (Reuters)

• ECB อัดฉีดเงินกว่า 90% เพื่อหนุนเศรษฐกิจยูโรโซนแต่กระจุกตัวอยู่ที่ 5 ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด อิงจากข้อมูลของ ECB ที่ได้รายงานไปเมื่อวันอังคาร โดยที่รายงานดังกล่าวให้เหตุผลว่าการที่เงินไปกระจุกตัวที่เยอรมัน ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ และลักเซมเบิร์กเนื่องจากการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk aversion) (Reuters)


เอเชีย:

• ผู้ว่าการ BOJ นาย Haruhiko Kuroda กล่าวในวันพฤหัสบดีว่าเศรษฐกิจในเอเชียอยู่ในสถานะที่ "ดีมาก" เนื่องจากการเร่งขยายตัวทางเศรษฐกิจโลก เขาไม่เห็นความเสี่ยงใด ๆ ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของเอเชีย นอกเหนือจากความเสี่ยงด้านการเมืองและความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรป(Reuters)

• สัญญาสินแร่เหล็กของจีนร่วงลง 8% ในวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นวันที่ร่วงลงมากที่สุดในรอบกว่า 5 เดือนเนื่องจากความกังวลว่าความต้องการวัตถุดิบจะลดลงจากความต้องการใช้เหล็กที่ลดลง เหล็กเส้นในเซี่ยงไฮ้ลดลงมากกว่า 6% ขณะที่การผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดอื่น ๆ ยังลดลง การผลิตเหล็กดิบของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 72 ล้านตันในเดือนมีนาคมและมีข้อบ่งชี้ว่าปริมาณการผลิตยังคงสูงอยู่ เหล็กเส้นที่แข็งค่ามากที่สุดใน Shanghai Futures Exchange ร่วง 6.2% ปิดที่ 2,931 หยวน (425 เหรียญสหรัฐ) ต่อตัน สินแร่เหล็กที่ตลาด Commodity Exchange ของต้าเหลียนลดลง 8% เมื่อสิ้นสุดลงที่ระดับ 485 หยวนต่อตันซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย.(Reuters)

สินค้าโภคภัณฑ์:

• น้ำมันดิบร่วงต่ำสุดในรอบห้าเดือนวันพฤหัส เพราะ OPEC และผู้ผลิตอื่นดูท่าจะไม่ยอมลดกำลังการผลิตมากไปกว่านี้เพื่อลดอุปทานที่ล้นเกินมาอย่างยาวนาน น้ำมันดิบสหรัฐล่วงหน้า มิ.ย. ลบ 4.8% ปิด 45.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังร่วงถึง 5.3% ในระหว่างวันไปแตะ 45.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำสุดตั้งแต่ 19 พ.ย. น้ำมันดิบ Brent ล่วงหน้าลบ 4.8% ปิด 48.38 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หลังร่วงไปถึง 5.2% ระหว่างวัน (Reuters)

• ทองคำร่วงสู่จุดต่ำสุดรอบกว่า 6 สัปดาห์วันพฤหัส เพราะดอลลาร์ปรับตัวขึ้นจากคาดการณ์ว่าสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยอีกปีนี้และความไม่แน่นอนทางการเมืองในยุโรปลดลง ทองคำตลาดจรลบ 0.8% ปิด 1,227.94 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หลังลงไปถึง 1,225.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ต่ำสุดตั้งแต่ 17 มี.ค. (Reuters)

• ทองแดงร่วงสู่จุดต่ำสุดรอบ 5 เดือนวันพฤหัส ร่วงสองวันติดกันมากสุดตั้งแต่ ก.ค. 58 เพราะความกังวลสต็อกเพิ่มขึ้นมาก และความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์จากจีนที่แผ่วลง ทองแดงอ้างอิงตลาด LME ลดลง 1% ปิดที่ 5,543 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ร่วงมากสุดนับแต่ 4 ม.ค. วัราคาไปแตะถึง 5,494 ดอลลาร์ ราคาลดลงรายวันมากสุดนับตั้งแต่ ก.ย. 58 เมื่อวันก่อน หรือร่วง 3.5%(Reuters)