บอร์ดทีเส็บไฟเขียว“จิรุตถ์”นั่งผู้อำนวยการ

บอร์ดทีเส็บไฟเขียว“จิรุตถ์”นั่งผู้อำนวยการ

บอร์ดทีเส็บเห็นชอบ “จิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา” ผอ.ใหม่ ผลักดันวิสัยทัศน์ความร่วมมือรัฐ-เอกชนหุ้นส่วนธุรกิจแท้จริง ชี้จุดแข็งมีแผนเชิงปฏิบัติจับต้องได้จริง ด้านประธานบอร์ดย้ำภารกิจดันองค์กรท้าทาย เหตุปรับเกณฑ์ตัวชี้วัดองค์การมหาชนปี 60 เข้มข้นขึ้น

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ครั้งที่ผ่านมา เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการสรรหาผู้อำนวยการทีเส็บที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อจากนายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ซึ่งจะครบวาระวันที่ 15 พ.ค. โดยคัดเลือกจากผู้สมัคร 3 ราย ตามขั้นตอน ได้แก่ การทดสอบภาษาอังกฤษ และการสัมภาษณ์พร้อมกับแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งคณะอนุกรรมการสรรหาฯ มีมติเอกฉันท์เสนอชื่อนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ได้คะแนนที่สูงสุด และจัดทำแผนที่สามารถปฏิบัติเป็นรูปธรรมได้ชัดเจนที่สุด

ปัจจุบันนายจิรุตถ์ ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการทีเส็บ สายงานบริหารและสนับสนุนกลยุทธ์ โดยแสดงวิสัยทัศน์ใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.สร้างแพลตฟอร์มใหม่ให้รัฐและเอกชนเป็นหุ้นส่วนในอุตสาหกรรมไมซ์อย่างแท้จริง 2. เพิ่มบทบาทอุตสาหกรรมไมซ์ในการร่วมผลักดันอุตสาหกรรมในยุทธศาสตร์หลัก เช่น 4.0 โครงข่ายคมนาคม เขตเศรษฐกิจพิเศษ 3. กระจายโอกาสไปในภูมิภาคต่างๆ เมืองหลักที่มีความพร้อม เพื่อเพิ่มสินค้าและลดความเหลื่อมล้ำในอุตสาหกรรมไมซ์ และ 4. ปรับปรุงองค์กรให้ขับเคลื่อนไมซ์อย่างมีประสิทธิผลมากขึ้น

ส่วนกระบวนการต่อไปคือการนำเสนอเรื่องต่อให้พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลทีเส็บเห็นชอบ เจรจาค่าตอบแทน ตกลงเกณฑ์การชี้วัด ก่อนนำเรื่องมาให้บอร์ดอนุมัติอีกครั้งเมื่อตกลงสัญญาจ้างได้ และผ่านการเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนลงนามในสัญญาจ้างระยะเวลา 4 ปี

สำหรับสิ่งที่บอร์ดคาดหวังให้สานต่อ คือ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรให้สอดรับกับเกณฑ์การชี้วัดการทำงานขององค์การมหาชนปี 2560 ที่ปรับระดับสูงขึ้นกว่าปี 2559 จากเดิมทำผลงานได้ตามแผนถือว่าดี แต่เกณฑ์ใหม่ถือว่าผ่านเท่านั้น

“อยากให้มองการขับเคลื่อนในมุมมองใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนเงินเท่านั้น ต้องลงลึกเข้าถึงความต้องการด้านอื่นๆ ที่เงินหาซื้อไม่ได้ เช่น อำนวยความสะดวกในการนำคนหรือสินค้าเข้า-ออก เพื่อร่วมในการจัดสัมมนาหรือแสดงสินค้านานาชาติ”

นอกจากนี้ ต้องการให้ขับเคลื่อนด้วยการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะการเป็นแหล่งรวมเมกะดาต้าของผู้ที่เดินทางเข้ามา เช่นเดียวกับญี่ปุ่นมีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้งานจากการให้สัญญาณไวไฟฟรี และนำมาใช้ประโยชน์เชิงฐานพฤติกรรมมาวิเคราะห์วิจัยตลาดได้